หน้าแรกTrade insight > “บริษัท Tokyu ค้นหาแบรนด์แฟชั่นดังจากต่างประเทศสู่ตลาดญี่ปุ่น”

“บริษัท Tokyu ค้นหาแบรนด์แฟชั่นดังจากต่างประเทศสู่ตลาดญี่ปุ่น”

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Tokyu ได้เริ่มเปิดให้บริการขายส่งสินค้าแฟชั่นผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ E-commerce (EC) โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ซื้อ (บายเออร์) ภายในประเทศ สินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศ โดยบริษัทจะอำนวยความสะดวกด้านการจัดการขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าสินค้าแทนผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้า นอกจากนี้ หากแบรนด์แฟชั่นใดได้รับความนิยม บริษัทอาจพิจารณาและชักชวนแบรนด์ดังกล่าวเปิดร้านในห้างร้านในเครือบริษัท Tokyu Group
เว็บไซต์ “makepre” เป็นเว็บไซต์ EC ที่ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อสินค้าแบรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องเจรจากับแบรนด์โดยตรง เพราะผู้ซื้อสามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้า เงื่อนไขการซื้อ ฯลฯ และสามารถสั่งซื้อได้ตั้งแต่ 1 ชิ้นขึ้นไป บริษัทจะเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรแทนผู้ซื้อเพื่อนำเข้าสินค้าที่ผู้ซื้อสั่งซื้อ สำหรับด้านการขนส่งบริษัทได้มอบหมายให้บริษัท SGH GLOBAL JAPAN CO., LTD. เป็นผู้รับผิดชอบ
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ “makepre” กล่าวว่า “บริษัทตั้งใจที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อและนำเข้าสินค้าแฟชั่นแบรนด์จากต่างประเทศให้กับผู้ซื้อ” สำหรับเว็บไซต์ “makepre” จะเน้นสินค้าแฟชั่นสตรีช่วงอายุ 10 – 39 ปี โดยสินค้าล็อตแรกนั้น บริษัทได้รวบรวมแบรนด์แฟชั่นจากประเทศเกาหลีใต้ 31 แบรนด์ รวมสินค้ากว่า 6,000 รายการมานำเสนอบนเว็บไซต์ EC เช่น แบรนด์เสื้อผ้า “PEOPLE OF THE WORLD” ซึ่งมีคอนเซปต์ Genderless และมีลักษณะเด่นคือ ป้ายโลโก้บนเสื้อ แบรนด์รองเท้า “SEESAFAR” เป็นแบรนด์แฟชั่นธีม “Diversity” ที่มีจุดขาย คือ การออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก pop culture แบรนด์กระเป๋า “Nooni27” ที่เบาและเน้นความน่ารัก เป็นต้น
แฟชั่นแบรนด์ที่อยู่บนเว็บไซต์ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่บริษัท Tokyu ได้เจรจากับแบรนด์โดยตรง มีบางส่วนที่คัดเลือกร่วมกับบริษัทท้องถิ่น เว็บไซต์ “makepre” จะทดสอบการให้บริการถึงเดือนมิถุนายน 2567 และจะให้บริการเต็มรูปแบบหลังฤดูร้อนปีหน้า บริษัทยังมีแผนจัดแสดงสินค้าของแบรนด์ในเว็บไซต์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทได้จัดแสดงสินค้าของแบรนด์ต่างๆในเว็บไซต์และมีบริษัทเสื้อผ้าภายในประเทศให้ความสนใจ 20 – 30 บริษัท และรับการตอบรับที่ดี บริษัทกำลังพิจารณาให้บริการยืมสินค้าตัวอย่างที่จัดแสดงในงานผ่านเว็บไซต์ EC อีกด้วย เพื่อให้ผู้ซื้อที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าได้เห็นสินค้าตัวอย่าง นอกจากนี้ บริษัทยังหาหนทางที่จะดึงดูดแบรนด์แฟชั่นต่างประเทศที่ได้สานสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ EC ให้มาเปิดร้านในห้างร้านในเครือบริษัท Tokyu Group อีกด้วย

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ตลาดสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าเท่ากับ 38,296 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของไทยมากที่เป็นอันดับ 2 โดยปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวมาญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 200.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.95 โดยมูลค่าการส่งออกมาที่สุด คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่บริษัทไทยรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ
สำหรับเว็บไซต์ “makepre” เป็นเว็บไซต์ E – Commerce ที่มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ซื้อหรือบายเออร์บริษัทเสื้อผ้าในประเทศญี่ปุ่นที่จะซื้อเพื่อนำมาจำหน่ายภายในประเทศ ดังนั้น เว็บไซต์ E – Commerce ของบริษัท Tokyu นี้จึงอาจเป็นช่องทางใหม่ที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่จะบุกตลาดแฟชั่นญี่ปุ่น และด้วยปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นเปิดกว้างและยอมรับแบรนด์จากต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งพยายามมองหาความแปลกใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ แบรนด์แฟชั่นไทยจึงอาจเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้บริโภครุ่นใหม่ของญี่ปุ่น

ฉบับที่ 13 ประจำวันที่ 23 – 29 ธันวาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://makepre.jp/

อ่านข่าวฉบับเต็ม : “บริษัท Tokyu ค้นหาแบรนด์แฟชั่นดังจากต่างประเทศสู่ตลาดญี่ปุ่น”

Login