ยอดจำหน่ายเชิงปริมาณของสินค้าประเภทอาหารสดในออสเตรียในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2566 สูงเท่ากับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงก่อนการเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเชิงมูลค่าพบว่าเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 12.4 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี พบว่าปริมาณการบริโภคในช่วงฤดูร้อน (กรกฎาคม – กันยายน) เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 9 ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปริมาณการบริโภคในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ลดลงไปแตะระดับต่ำสุด เนื่องจากเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงการออกไปทำกิจกรรมและรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งนี้ การเติบโตของยอดจำหน่ายสินค้าสดในช่วงฤดูร้อนของปีนี้สามารถสรุปได้ว่ามีสาเหตุมาจากการที่ราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารในร้านอาหารปรับตัวสูงขึ้นมาก ผู้บริโภคจึงหันมาปรุงอาหารเพื่อรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าที่มียอดจำหน่ายเติบโตสูงสุดในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โยเกิร์ต นมพร้อมดื่ม และขนมหวาน (เติบโตร้อยละ 15.7) เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก (เติบโตร้อยละ 12.7) และผักสด (เติบโตร้อยละ 10.4) อีกมุมหนึ่งราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นไปในระดับสูงสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่อยๆ ปรับตัวลดลงแต่ก็ยังสูงกว่าระดับราคาสินค้าในปีที่แล้วอยู่ถึงร้อยละ 8 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถปรับตัวลดลงได้มากนัก
แหล่งที่มา www.retailreport.at
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ
ผู้บริโภคในออสเตรียนิยมรับประทานอาหารไทยอย่างกว้างขวาง การหันมาปรุงอาหารเพื่อรับประทานเองที่่บ้านมากขึ้นจึงเป็นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสินค้าประเภทเครื่องปรุงอาหาร อาทิ น้ำพริกแกง กะทิ และเครื่องปรุงอื่นๆ จากประเทศไทยด้วย ปัจจุบันพบว่าผู้ผลิตท้องถิ่นหันมาผลิตสินค้าดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เติบโต แต่ระดับคุณภาพยังไม่สามารถเทียบได้กับสินค้าจากไทย จึงมีความจำเป็นต้องมีการโปรโมตอาหารไทยมากเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ความแตกต่างของคุณภาพสินค้าและตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากประเทศไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ร้านอาหารขึ้นราคาแรงทำผู้บริโภคในออสเตรียหันมาปรุงอาหารเองมากขึ้น ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารสดเติบโตถึงร้อยละ 9