จากการคำนวณของ Global Footprint Network ปรากฏว่า ประเทศกาตาร์เป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรได้ฟุ่มเฟือยที่สุดในโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่เยอรมนีก็ยังคงเป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองอยู่ดี สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากจนเกินไป ก็เพราะการบริโภค สำหรับ บริษัทที่ปรึกษา Strategy& ได้เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง “การปฏิวัติอาหารอย่างยั่งยืน” ว่า ปัจจุบันการ “การผลิตอาหาร” ทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำจืด ถึง 2 ใน 3 ส่วนของการบริโภคน้ำจืดทั่วโลก และสร้างมลพิษ 3 ใน 4 ส่วนของมลพิษในแหล่งน้ำ และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ใน 4 ส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นับว่า สร้างภาระอย่างหนักให้กับสิ่งแวดล้อมโดยกว่า 89% ของพื้นที่เกษตรกรรมถูกนำไปใช้เพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ แต่เนื้อสัตว์เหล่านี้ครอบคลุมเพียง 11 % ของการบริโภคทั่วโลกเท่านั้น และจากการศึกษาของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐ (Bundesumweltamts) แจ้งให้ทราบว่า เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้วมากกว่า 50% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าบริโภคมาจากสินค้าบริโภคที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม การผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือกจากพืช จะผลิตก๊าซเรือนกระจกได้ 2.8 กิโลกรัม โดยประมาณเท่านั้น ในระหว่างที่เนื้อวัว 1 กิโลกรัมมีค่าการผลิตก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 30 กิโลกรัม
ในเวลานี้ คนจำนวนมากต้องการบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จึงบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ประกอบกับต้องการที่จะทำให้ “รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint)” ของตนดีขึ้นด้วย จากการสอบถามจากสถาบันวิจัยด้านความเห็น Forsa ปรากฏว่า มีประชากรกว่า 12% บริโภคเนื้อสัตว์ ในเวลาเดียวกันกลุ่มคนที่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นบางครั้ง (Flexitarian) ก็เพิ่มขึ้นมาก ในเวลานี้อยู่ที่ 41% สำหรับผู้ค้าปลีกแล้วกลุ่มผู้บริโภค Flexitarian น่าสนใจที่สุด ทำให้ร้านค้าปลีกขยายการจำหน่ายสินค้าโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น โดยโฆษกของ Rewe อธิบายว่า “ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 เป็นต้นมา ร้าน Penny ซึ่งเป็น Discounter รายแรกในเยอรมนีได้เปิดตัวแบรนด์หลักในสินค้าบริโภคจากพืชที่เรียกว่า Food For Future ขึ้น” โดยนอกจาก Private Label แล้ว Rewe ยังจำหน่ายสินค้าบริโภคจากพืชยี่ห้ออื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้มีสินค้า Vegan มากถึง 1,400 รายการ แนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสินค้าบริโภคจากพืชมักจะมีราคาสูงกว่า สินค้าเนื้อสัตว์หรือไส้กรอก กว่า 43% ของผู้บริโภคชาวเยอรมัน มีความประสงค์ที่จะซื้อสินค้าบริโภคจากพืชหากสินค้าดังกล่าวมีราคาถูกลง นาย Christoph Graf ผู้บริหารด้านสินค้าของ Lidl Dienstleistung GmbH & Co. KG. กล่าวว่า “ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราได้สร้างความเท่าเทียมกันขึ้น โดยการปรับราคาสำหรับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Vemondo แบรนด์ Vegan ของ Lidl เกือบทั้งหมดให้มีราคาเทียบเคียงได้ผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดจากสัตว์” ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Vemondo ส่วนใหญ่ถูกจำหน่ายในราคาเดียวกันกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามสินค้าบริโภคจากพืชก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าสินค้าจากสัตว์อยู่ ในปี 2020 สัดส่วนสินค้าบริโภคจากพืชของ Lidl อยู่ที่ 11% โดยบริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วน แหล่งโปรตีนจากพืชในเยอรมนีที่มาจาก พืชตระกูลถั่ว ถั่ว และเมล็ดพืช ตลอดจนอาหารทางเลือก Vegan ทดแทน เนื้อสัตว์ ไข่ และ ผลิตภัณฑ์ปลา ภายในปี 2030 ขึ้นเป็น 20%
นาย Rolf Lange หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรที่สำนักงานใหญ่ Edeka กล่าวว่า “ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เราได้ทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ WWF เพื่อร่วมกันลด Carbon Footprint ในเครือข่าย Edeka อย่างต่อเนื่อง โดยต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ ใส่ใจเอาเรื่องดังกล่าวมาบรรจุสู่ชั้นวางสินค้าและตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ของเรามากขึ้น” โดยเป้าหมายอยู่ที่การร่วมกันกับพันธมิตรผลักดันการบริโภคแบบยั่งยืนขึ้น โดย Edeka พยายามที่จะปฏิบัติตนตามแนวทางของ Planetary Health Diet (PHD) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชากรโลกจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็ต้องผลักดันให้มีการบริโภคพืชมากขึ้น นาย Lange กล่าวว่า “โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่เราเอง เช่น Edeka พยายามนำเสนออาหารที่มีโปรตีนสูงจากพืช อย่างเช่น พาสต้าถั่วเลนทิล (Lentil) หรือ สลัดพืชตระกูลถั่วแบบซื้อกลับบ้าน และส่งเสริมอาหาร Vegan และมังสวิรัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” ในส่วน Aldi Süd ก็กำลังขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืชขึ้นเรื่อย ๆ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีเป็นจำนวนมากแล้ว โดยในปัจจุบัน Aldi Süd มีผลิตภัณฑ์ที่มีป้ายกำกับว่าเป็น Vegan จำนวน 800 รายการ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 รายการภายในสิ้นปี 2030 นอกจากนี้ภายในปี 2030 บริษัทจะปรับเปลี่ยนกลุ่มผลิตภัณฑ์หมวด เนื้อสด นมพร้อมดื่ม เนื้อสัตว์แช่แข็ง และ ผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ต่าง ๆ ให้เป็นสินค้าที่มาจากการเลี้ยงดูสัตว์ในระดับที่ 3 และ 4 เท่านั้น โดยการเลี้ยงดูสัตว์ในระดับที่ 4 หมายถึง สวัสดิภาพสัตว์จะอยู่ในระดับสูงสุด (ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงดูสัตว์แบบออแกนิก)
ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทดแทนจากพืชเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ภายในปี 2030 มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงถึง 26 พันล้านยูโร โดยประมาณทั่วโลก จากงานวิจัยของ Strategy& แสดงให้เห็นว่า เป็นไปได้ที่สินค้าบริโภคที่มีแมลงเป็นส่วนประกอบหลักอาจมีมูลค่าสูงถึงหมื่นล้านยูโรภายในปี 2030 นอกจากนั้น Strategy& ยังแสดงให้เห็นว่า ปัญหาการบริโภคแบบฟุ่มเฟือย (ขยะที่เป็นสินค้าบริโภค) เกินความจำเป็นก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลัก หากไม่ต้องทิ้งอาหาร อาหารดังกล่าวสามารถนำมาให้ผู้คนสองพันล้านคนบริโถคได้ ซึ่งการจัดการข้อมูลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องมือติดตามสินค้าบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการสูญเสียอาหารได้มาก โดยในอนาคตแรงกดดันด้านกฎระเบียบจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นาย Harald Dutzler หุ้นส่วนของ Strategy& ประจำออสเตรียกล่าวว่า “อุตสาหกรรมอาหารต้องเตรียมพร้อมรับความจริงให้ได้ว่า แรงกดดันจากภาครัฐเพื่อผลักดันการผลิตแบบยั่งยืนนั้นสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” เขาคาดว่า ข้อกำหนดด้าน carbon footprint จะเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งข้อกำหนดสำหรับห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน มาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ และ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทยอยสูงขึ้นเช่นกัน นาย Dutzler มีความเห็นว่า ผู้นำที่มีการปรับตัวด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาในปัจจุบัน ก็จะเป็นผู้นำในอนาคต และคอยปรับตัวตามมาตรฐานใหม่ ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จาก Handelsblatt 24 พฤศจิกายน 2566
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผู้บริโภคในเยอรมันหันมารับประทานอาหารเจมากขึ้น