หลายปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนจำนวนมากหันมาแสวงหาอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและรักษารูปร่าง ทำให้สามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร และผลิตภัณฑ์ลดไขมันต่างๆ ผุดขึ้นจำนวนมากบนโซเชียล ด้วยแนวคิดด้านสุขภาพที่กำลังเป็นกระแส ส่งให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารที่พบในตลาดส่วนใหญ่จะมีลักษณะ ไขมันต่ำ แคลอรี่ต่ำ น้ำตาลต่ำ น้ำมันต่ำ โภชนาการที่สมดุล และเติมพลังงานอย่างรวดเร็ว
ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement) หมายถึง อาหารที่แทนที่อาหารหลักบางส่วนหรือทั้งหมด มีลักษณะ เป็นผง เป็นแท่ง มิ้ลเชค และโจ๊ก ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารนอกจากจะให้สารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์แล้ว ยังมีไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ และอิ่มง่าย ยกตัวอย่างเจลลี่ที่ทำจากบุก และผงธัญพืชบดต่างๆ ที่สามารถนำมาชงเป็นเครื่องดื่มคล้ายมิลเชค เพื่อรับประทานทดแทนมื้ออาหาร หรือแทนที่อาหารบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ สามารถบริโภคได้โดยสะดวกรวดเร็ว ไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ความต้องการควบคุมน้ำหนักได้อย่างสมดุลตามหลักโภชนาการ
วิเคราะห์สถานการณ์อุปสงค์และอุปทานของตลาดอุตสาหกรรมทดแทนมื้ออาหาร
แนวโน้มความเป็นเมือง จังหวะชีวิตที่เร่งรีบ การนอนดึก และปัญหานั่งนานของชาวออฟฟิศ ฯลฯ ส่งให้วัยทำงาน/วัยผู้ใหญ่มีปัญหาน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วนทวีความรุนแรงขึ้น จากสถิติที่มีการเปิดเผยพบว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่กว่าครึ่งกำลังประสบปัญหาโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน อย่างไรก็ดี แนวโน้มปัญหานี้ได้ขยายสัดส่วนไปยังประชากรที่มีอายุน้อยลงด้วย จึงคาดการณ์ว่าหากจำนวนกลุ่มคนอ้วนเพิ่มขึ้น ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
จากเดิมการลดน้ำหนักอาจมุ่งเน้นการวิธีการออกกำลังกายอย่างหนัก การรับประทานยา การเสริมความงาม หรือศัลยกรรม ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่ปัจจุบันผู้บริโภคเข้าถึงองค์ความรู้/ทฤษฎีในการลดน้ำหนักและการออกแบบรูปร่างกันมากขึ้น จึงเรียนรู้ว่าวิธีการเลือกรับประทานอาหารในชนิดและปริมาณที่พอเหมาะในระยะยาว เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนัก ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารที่สามารถตอบสนองความต้องการอาหารขั้นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีด้วย โดยในปี 2565 ชาวจีนร้อยละ 60 เลือกใช้วิธีรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะในการลดน้ำหนัก อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารจึงจะได้รับอานิสงค์จากความต้องการดูแลสุขภาพ และลดน้ำหนักที่ขยายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับหน่วยงาน Chinese Nutrition Society (CNS) ได้ประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีน เมื่อปี 2563 จึงคาดว่าความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารจะสูงขึ้น
สืบเนื่องจากประเภทของผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร ที่มีความหลากหลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ขนาดตลาดของอุตสาหกรรมนี้ขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติ ขนาดตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีน ในปี 2560 จากมูลค่า 5,820 ล้านหยวน (29,100 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเป็น 47,260 ล้านหยวน (236,300 ล้านบาท) ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 127.43 โดยมีจำนวนผู้ประกอบค้าปลีกและค้าส่งของสินค้าดังกล่าว 201 ราย สำหรับแบรนด์หลักในตลาด ได้แก่ แบรนด์ Ffit8 แบรนด์ WonderLab แบรนด์เชาจี๋หลิง (超级零) แบรนด์ Smeal แบรนด์ Sharkfit และแบรนด์ KEEP เป็นต้น นอกจากผู้ประกอบการที่เกิดใหม่แล้ว การสร้างแบรนด์ร่วม (Co-Branding) ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมทิศทางของอุตสาหกรรมค่อนข้างมีความหลากหลาย และมีการผูกขาดค่อนข้างต่ำ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทดแทนมื้ออาหารของจีนยังคงอยู่ในช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็ว การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารเพิ่มขึ้นจากการโฆษณาผ่านคลิปวิดีโอสั้นในแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ ทำให้ความต้องการโดยรวมจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีก
ในงาน National Weight Management, Nutrition and Health Forum ผู้เชี่ยวชาญได้เน้นย้ำว่า อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับการลดน้ำหนักควรมีผงมะพร้าว หรือ ผงถั่วแดง เวย์โปรตีนเข้มข้น โปรตีนถั่วเหลือง นมผงขาดมันเนย เมล็ดเจีย ผงข้าวโอ๊ต บุก เป็นวัตถุดิบ และเสริมด้วยสารเพิ่มประสิทธิภาพทางโภชนาการต่าง ๆ และใช้เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารสมัยใหม่ เพื่อให้ได้อาหารทดแทนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารส่วนใหญ่ในจีนที่มีความนิยมสูง (พิจารณาจากอัตราการเจาะตลาด) นอกจากขนมปังโฮลวีตทั่วไป และมิลเชคแล้ว พบว่าอาหารแคลลอรี่ต่ำที่เหมาะกับผู้รักการออกกำลังกาย พบว่า แท่งโปรตีนเนื้ออกไก่ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลที่มีการเปิดเผย ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนร้อยละ 59.3 เลือกขนมปังโฮลวีต ร้อยละ 56.8 เลือกมิลเชค ร้อยละ 40 เลือกอาหารแคลอรี่ต่ำ และร้อยละ 30 เลือกเนื้ออกไก่
สำหรับช่องทางในการซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารในจีน พบว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ฯ แบบผงทางช่องทางออนไลน์ ครองสัดส่วนสูงสุด ที่ร้อยละ 46.9 รองลงมา ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น ผู้บริโภคหลัก คือ เพศหญิง การซื้อผลิตภัณฑ์ได้รับแรงจูงใจมาจากการโฆษณาชวนเชื่อทางอินเทอร์เน็ต จึงทำให้มีสัดส่วนการซื้อออนไลน์ค่อนข้างสูง ขณะที่ร้านค้าและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เปิดร้านค้าออนไลน์มากเช่นกัน
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ความอ้วนกลายเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของจีน โดยมีข้อมูลเปิดเผยว่าชาวจีนร้อยละ 38 มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้านสุขภาพเปิดเผยว่าหนุ่มสาวชาวจีนร้อยละ 82.7 กำลังวางแผนลดน้ำหนัก ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับรูปร่าง หันมาแสวงหาความงาม และมีสุขภาพที่ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร กลายเป็นตัวเลือกที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะเข้ามาขยายตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารดังกล่าว ไทยมีชื่อเสียงในด้านอาหาร เทคโนโลยีการแปรรูป และมีวัตถุดิบที่หลากหลายที่สามารถนำมาสรรค์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารที่มีโภชนาการที่สมดุล มีรสชาติใหม่ มีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย มาเสิร์ฟตลาดจีน ควบคู่ไปกับการพิจารณาประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักบนแพลตฟอร์มโซเชียลยอดฮิตของจีนก็จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของไทยเป็นที่รู้จัก บอกต่อ และเจาะตลาดได้กว้างยิ่งขึ้นด้วย
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
แหล่งที่มา https://www.chinairn.com/hyzx/20231122/180751616.shtml
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร Blue Ocean ของจีนที่น่าจับตามอง