รัฐนิวยอร์ก (New York State) เป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา เมืองหลวงชื่อ Albany มีพื้นที่โดยประมาณ 122,001 ตารางกิโลเมตร อยู่บริเวณตอนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก มีพรมแดนติดกับเขตนิวอิงแลนด์และแคนาดา รัฐนิวยอร์กมีจำนวนประชากรรวมประมาณ 19.8 ล้านคน โดยเมืองที่มีประชากรมากที่สุดนครนิวยอร์ก (New York City) จำนวน 8.9 ล้านคน รองลงมาคือ เมืองบัฟฟาโล (Buffalo) จำนวน 2.8 แสนคน เมืองยองเกอร์ (Yonkers) จำนวน 2.1 แสนคน เมืองโรเชสเตอร์ (Rochester) จำนวน 2.1. แสนคน และเมืองซีราคิ้ว (Syracuse) จำนวน 1.4 แสนคน ตามลำดับ
จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา ปี 2565 ระบุว่ารัฐนิวยอร์กเป็นรัฐที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ รองจากแคลิฟอร์เนีย เท็กซัสและฟลอริดา ทั้งนี้ ประชากรที่อาศัยในรัฐนิวยอร์กมีอายุ 18-65 ปี มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 56.3 รองลงมาคือประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.7 ประชากรอายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.5 และประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 5.5 ซึ่งหากแบ่งตามกลุ่มชาติพันธุ์จากจำนวนประชากรทั้งหมดจะพบว่ามีกลุ่มคนขาวจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือฮิสแปนิก แอฟริกัน-อเมริกันและเอเชีย ตามลำดับ
ข้อมูลเศรษฐกิจ: ปี 2566 ไตรมาสที่ 2 รัฐนิวยอร์กมีมูลค่า GDP ที่ 2.13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว +2.8% ทั้งนี้ GDP ของรัฐนิวยอร์กอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐเท็กซัส จากข้อมูลปี 2565 พบว่าประชากรในรัฐนิวยอร์กมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 75,910 หรียญสหรัฐ/ปี และการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) อยู่ที่ 58,571 เหรียญสหรัฐ/ราย
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของรัฐนิวยอร์กคิดเป็น 4.21% ของผลผลิตทั้งหมดของรัฐ จากข้อมูล 2022 New York Manufacturing Facts ของสมาคม National Associate Manufacturers ระบุว่ารัฐนิวยอร์กมีบริษัทผลิตสินค้าประมาณ 14,114 บริษัท โดยแบ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิตสารเคมี อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อุตสาหกรรมแปรรูปโลหะ อุตสาหกรรมพลาสติกและยาง และการผลิตกระดาษและสิ่งพิมพ์
การนำเข้าและส่งออกของรัฐนิวยอร์ก การนำเข้าและส่งออกทางเรือส่วนใหญ่จะผ่าน Port of New York and New Jersey ซึ่งเป็นท่าเรือที่ตั้งอยู่ที่เมือง Bayonne รัฐนิวจอร์ซี่ และทางอากาศจะผ่านท่าอาศยาน JFK Cargo ซึ่งตั้งอยู่เมือง Jamaica รัฐนิวยอร์ก
การส่งออกของรัฐนิวยอร์กไปยังทั่วโลกในช่วง 10 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่า 84,738 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ มีดังนี้
1) 71 ไข่มุก อัญมณีและเครื่องประดับ 2) 98 สินค้าจำแนกประเภทพิเศษ
3) 97 ศิลปกรรมและโบราณวัตถุ 4) 84 ปฎิกรณ์นิวเคลียร์และอะไหล่
5) 85 เครื่องจักรไฟฟ้าและอะไหล่ 6) 90 อุปกรณ์ทัศนศาสตร์และอุปกรณ์การแพทย์เกี่ยวกับตา 7) 87 ยานยนต์และส่วนประกอบ 8) 39 พลาสติก
9) 27 แร่ธาตุและน้ำมัน 10) 30 ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชสัชกรรม
การนำเข้าของรัฐนิวยอร์กจากทั่วโลกในช่วง 10 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่า 133,126 เหรียญสหรัฐ ลดลง 14.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ มีดังนี้
1) 71 ไข่มุก อัญมณีและเครื่องประดับ 2) 85 เครื่องจักรไฟฟ้าและอะไหล่
3) 98 สินค้าจำแนกประเภทพิเศษ 4) 84 ปฎิกรณ์นิวเคลียร์และอะไหล่
5) 61 เสื้อผ้าแบบนิตหรือโครเช 6) 97 ศิลปกรรมและโบราณวัตถุ
7) 62 เครื่องแต่งกายและของใช้ที่ไม่ได้ถักนิตหรือแบบโครเชต์ 8) 27 แร่และเชื้อเพลิง
9) 33 เครื่องหอมและเครื่องประทินผิว 10) 39 พลาสติก
ภาคธุรกิจของรัฐนิวยอร์ก จากข้อมูลของบริษัท Statista ปี 2565 พบว่ารัฐนิวยอร์กมีจำนวนธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางประมาณ 72,828 บริษัท ทั้งนี้หากแยกตามจำนวนประเภทธุรกิจพบว่าธุรกิจค้าปลีกมีจำนวนมากที่สุด รองลงมา คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และการบริการ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพและสังคม ธุรกิจบริการด้านการสันทนาการ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจการจัดการทรัยากร ธุรกิจด้านการเงินและประกันภัย ธุรกิจการผลิต ธุรกิจการขนส่งและโกดัง ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสารสนเทศ ธุรกิจบริการด้านการศึกษา ธุรกิจการบริการด้านการจัดการ ธุรกิจด้านสาธารณูปโภค ธุรกิจด้านเกษตกรรมและธุรกิจเชื้อเพลิง เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลจากสมาคมธุรกิจขนาดย่อย หรือ Small Business Administration แสดงให้เห็นว่ารัฐนิวยอร์กมีผู้ประกอบการรายย่อยมากถึง 2.3 ล้านราย เป็นอันดับที่ 4 รองจากรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐเท็กซัสและรัฐฟอริดา
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่านครนิวยอร์ก (New York City) นั้นเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐนิวยอร์ก โดยนครนิวยอร์กสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐนิวยอร์กถึง 40%
นครนิวยอร์กเป็นเมืองที่มีจำนวนธุรกิจรายย่อยมากเป็นอันดับต้นของรัฐนิวยอร์ก โดยมีประมาณ 220,000 ราย ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของ Zenbusiness.com พบว่านครนิวยอร์กเป็นแหล่งรวมของธุรกิจชั้นนำทางด้านการเงิน การแพทย์ สื่อบันเทิง อาหารและแฟชั่น นอกจากนี้ ความเอื้ออำนวยทางด้านระบบโลจิสติกส์และภูมิศาสตร์ของนครนิวยอร์กทำให้นครนิวยอร์กเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญของบริษัทต่างชาติและบริษัทนำเข้า/ส่งออกมากมาย เช่น เครื่องประดับ อาหาร แฟชั่น ไลฟ์สไตล์และอื่นๆ
ผู้ประกอบการไทยนิยมมาลงทุนในนครนิวยอร์ก โดยเปิดร้านอาหาร ร้านอาหารเคลื่อนที่ (food truck) ร้านนวด/สปา บริษัทตัวแทนในต่างประเทศและโรงงานผลิตสินค้าอาหาร จากการรวบรวมข้อมูลร้านอาหารไทยในนครนิวยอร์ก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ของ Rentechdigital.com พบว่านครนิวยอร์กมีร้านอาหารไทยประมาณ 658 ร้าน และจากข้อมูลของ Google พบว่ามีร้านนวด/สปาไทยในนครนิวยอร์ก ประมาณ 20 ร้าน
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่จะมาลงทุนในนครนิวยอร์กในอนาคต ทั้งนี้ ข้อมูลโดยละเอียดสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ https://www.nyc.gov/site/internationalbusiness/how-to-open/open-an-office-in-nyc.page
ในการนี้ สำนักงานฯ ขอสรุปรายละเอียดกฎข้อระเบียบท้องถิ่นและข้อควรรู้ต่างๆ ดังนี้
1. การขอวีซ่าเพื่อประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ โดยทั่วไปวีซ่าสำหรับเจ้าของธุรกิจและนักลงทุนจะต้องยื่นขอวีซ่าในประเภท E ซึ่งวีซ่าที่เป็นที่นิยมในกลุ่มนักลงทุน คือ E2 Treaty Investor โดยคุณสมบัติของการขอวีซ่าประเภท E2 นั้นผู้ลงทุนตามสนธิสัญญาจะต้องมีสัญชาติของประเทศที่อยู่ในสนธิสัญญากับสหรัฐฯ มีคุณสมบัติตรงตามคำจำกัดความของ “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีแหล่งสนับสนุนเงินลงทุนที่ถูกต้อง ทั้งนี้บุคคลที่ยื่นขอวีซ่า E2 จะต้องมีหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ https://www.uscis.gov/working-in-the-united-states/temporary-workers/e-2-treaty-investors
2. การขอจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอจดทะเบียนบริษัทได้เองทางออนไลน์กับ Department of State ของนครนิวยอร์ก ที่ https://dos.ny.gov/form-corporation-or-business ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนประมาณ 125 เหรียญสหรัฐ/บริษัท
3. การขอยื่นขอหมายเลขประจำตัวนายจ้าง (Employer Identification Number: EIN) หรือที่เรียกว่าหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของรัฐบาล เป็นหมายเลข 9 หลักกำหนดโดย IRS ซึ่งธุรกิจต่างๆ ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการยื่นภาษีและการรายงานในบางกรณี หากเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวอาจใช้หมายเลขประกันสังคม (Social Security Number: SSN) เพื่อยื่นภาษีและรายงานแทนได้บัตรชำระภาษี EIN การจดทะเบียนขอหมายเลขประจำตัวนายจ้างสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ https://www.tax.ny.gov/bus/multi/register_license.htm
4. การขอรับใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือการรับรองการใช้อาคาร ข้อบังคับในเรื่องโซนต่างๆ ใบอนุญาติในการนวด ใบอนุญาติในด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ สามารถติดต่อกับสำนักงานรัฐนิวยอร์ก ตามนี้
4.1.ใบอนุญาติในการประกอบวิชาชีพต่างๆ https://dol.ny.gov/licensing-and-certification
4.2.ใบอนุญาติเกี่ยวกับอาคารและอื่นๆ ในนครนิวยอร์ก https://www.nyc.gov/site/buildings/dob/building-applications-permits.page
5. อัตราค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำของรัฐนิวยอร์ก 15 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ตามเวปไซต์ https://www.governor.ny.gov/news/governor-hochul-announces-historic-agreement-increase-new-yorks-minimum-wage-and-index ระบุว่าในปี 2567 นครนิวยอร์ก เมืองลองไอล์แลนด์และเมืองเวสเชสเตอร์จะมีการขึ้นค่าแรงเป็น 16 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจหรือลงทุนในสหรัฐฯ ธุรกิจควรมีทนายหรือนักบัญชีเพื่อให้คำแนะนำในเรื่องเอกสาร การยื่นภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องและการขอรับสิทธิประโยชน์จากรัฐนิวยอร์กด้วย
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก และ U.S. Census Bureau/ Bureau of Economic Analysis/ Bureau of Labor Statistics/ Statista/ IBIS World/ https://www.industryselect.com/oberlo.com/SBA.org/ https://www.zenbusiness.com/ https://rentechdigital.com/ www.nyc.gov
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รู้จักนิวยอร์ก ก่อนตัดสินใจมาลงทุน