แนวโน้มและโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไม้ในอินเดีย
อินเดียไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตไม้เขตร้อนของโลก แต่ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคไม้และผลิตภัณฑ์ไม้รายใหญ่ที่สุดอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ไม้เป็นที่ต้องการสูงมาโดยตลอดและยังส่งผลให้ราคาไม้เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีวัตถุดิบอื่นมาทดแทน เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และอลูมิเนียม เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไม้ในอินเดียเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างมากและสามารถหาได้ง่ายแม้ในพื้นที่ชนบท
ตลาดไม้ในอินเดียมีความสำคัญเนื่องจากมีการนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การก่อสร้าง กระดาษ ไม้แผ่น ไม้อัด เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือทางการเกษตร งานหัตถกรรม และของเล่น ทำให้การผลิตไม้ในประเทศอินเดียไม่เพียงพอและต้องการนำเข้าในปริมาณมาก
สาเหตุหลักที่อินเดียต้องนำเข้าไม้ ได้แก่
- เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ: อินเดียมีประชากรจำนวนมากและมีความต้องการไม้และผลิตภัณฑ์ไม่สูง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าในประเทศมีจำกัด และเพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้คงอยู่อย่างยั่งยืนจึงไม่สามารถใช้ไม้ได้เต็มศักยภาพ
- การใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ถูกนำไปใช้ในหลายประเภทอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ และบรรจุภัณฑ์ การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทำให้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีความต้องการมากขึ้น ซึ่งการผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรม
- ราคาคุ้มค่า การนำเข้าไม้จากประเทศที่ผลิตจำนวนมากและมีราคาต่ำกว่าจะคุ้มค่ากว่าการผลิตในประเทศ
- ความต้องการเฉพาะ บางอุตสาหกรรมในอินเดียมีความต้องการเฉพาะ สำหรับประเภท คุณภาพ ขนาดของไม้ ซึ่งไม่สามารถพึ่งพาการผลิตในประเทศอย่างเดียวได้ ดังนั้นการนำเข้าไม้จากต่างประเทศจึงมีความจำเป็นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะดังกล่าว
เมื่ออุปสงค์จากที่พักอาศัย เฟอร์นิเจอร์ การบริการ และหัตถกรรมที่ยังคงมีความต้องการสูง ขณะที่อุปทานในประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงช่วยขับเคลื่อนความต้องการนำเข้าไม้สายพันธุ์ใหม่ และทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีศักยภาพ
โดยจากรายงานของ IMARC Group บริษัทวิจัยทางการตลาดของอินเดีย กล่าวว่าในปีงบประมาณ 2023-24ตลาดไม้อัดของอินเดียมีมูลค่า 2,666,201,733 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 222.3 พันล้านรูปีอินเดีย และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 4,467,656,975 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 372.5 พันล้านรูปีอินเดีย ในปีงบประมาณ 2032-33 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และความชอบของผู้บริโภคส่งผลให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ไม้เพิ่มสูงขึ้น อาทิ การขยายตัวของชนชั้นกลางที่สนใจในสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์นำเข้า รวมไปถึงการเจาะตลาดของ E-Commerce ในพื้นที่ชนบทที่ทำให้สั่งซื้อและเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้นด้วย
สำหรับท่าเรือหลักที่อินเดียนำเข้าไม้ ได้แก่ Kandla, Mundra, Nhava Sheva, Chennai, Kolkata, Tuticorin และ Mangalore ทั้งในรูปแบบสินค้าเทกอง (Bulk) หรือตู้คอนเทนเนอร์ (Container Vessels) สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่จะถูกส่งไปที่ท่าเรือ Kandla รัฐคุชราต เพราะเป็นประตูสู่อินเดียตะวันตก สามารถลำเลียงต่อไปยังรัฐอุตตรประเทศ ปัญจาบ หรยาณา พิหาร มัธยประเทศ และอานธรประเทศได้ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อด้วยรางรถไฟ และถนนที่ดีกว่า และเนื่องจากมีปริมาณการขนส่งไม้จำนวนมาก รัฐบาลแห่งรัฐคุชราตประกาศให้เขต Kutch เป็นเขตพื้นที่พิเศษในการนำเข้าและแปรรูปไม้ หรือที่เรียกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษทางด้านไม้ใน Kandla
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไม้ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในอินเดียมากที่สุด คือ เฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยไม้อัดซึ่งมีความทนทานจึงถูกใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของอินเดีย รองมาคือ แผ่นไม้ที่ผลิตจากวัสดุไม้ไผ่และแผ่นไม้วีเนียร์กำลังเป็นที่นิยมในตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ในอินเดีย สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพของอินเดีย ได้แก่ งานหัตถกรรมไม้ และการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อย่างไรก็ดี ด้วยอุปทานที่มีไม่เพียงพอทำให้อินเดียหาไม้เนื้อแข็งอื่นๆ เป็นทางเลือก เพื่อใช้ในผลิตเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายใน รวมถึงนำเข้ามาเพิ่มมูลค่าด้วยงานหัตถกรรมก่อนส่งออกไปยังประเทศอื่นต่อไป ทั้งหมดนี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้อินเดียเป็นตลาดสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีและเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองเจนไน
ตลาดอินเดียยังมีความต้องการไม้เนื้อแข็ง และไม้เนื้ออ่อนอย่างมาก สำหรับไทยที่มีการปลูกสวนป่า เช่น ไม้ยางพารา อาจพิจารณาให้เป็นอินเดียเป็นตลาดทางเลือกในการส่งออกไม้ยางพาราไทยได้ โดยผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกไม้ยางพารา หรือไม้ชนิดอื่นๆ มายังอินเดียควรให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอยจากไม้ คุณสมบัติ ความคงทน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงคุณภาพไม้ของไทย
อย่างไรก็ดี ในการส่งออกสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ยกเว้นไม้ยางพารา และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้) ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาระเบียบการนำเข้า-ส่งออก สินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก สินค้าไม้และผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ฉบับ และประกาศระเบียบกรมป่าไม้ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน ซึ่งระบุว่าสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรองสินค้าเพื่อการส่งออก ประกอบด้วย ไม้ท่อน ไม้แปรรูป ไม้ล้อม สิ่งประดิษฐ์ของไม้ อาทิ ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ บานประตูหน้าต่าง ไม้วงกบ ไม้คิ้ว ไม้บัว ไม้ปาร์เกต์ ไม้โมเสก แผ่นชิ้นไม้อัด เป็นต้น โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือกรมป่าไม้ 02 561 4292-3
แหล่งที่มา
- Open PR Report – India Plywood Market 2024-2032, Size, Demand, Industry Trends and Business Opportunities – dated December 5, 2023.
- Ground Report – Why India needs to import timber from other countries? – March 25, 2023.
- Mordor Intelligence – Wood Industry in India Size & Share Analysis – Growth Trends & Forecasts (2023 – 2028)
- Maritime Gateway Report – Wood Imports: Variety is the spice – March 3, 2020.
- ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. พาณิชย์ ออกประกาศนำเข้า-ส่งออกฉบับใหม่ สินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ บังคับใช้เร็ว ๆ นี้ (14 มิ.ย. 2566). https://www.prachachat.net/economy/news-1321142.
- สมาคมชิปปิ้ง. กรมการค้าต่างประเทศ เร่งแก้ไขปัญหาการส่งออกไม้ (2 ต.ค. 2566). https://ctat.or.th/admin/fileuploads/contents/2023-10-02T11-31-19_กรมการค้าต่างประเทศ.pdf.
- สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์. คกก.ป่าไม้แห่งชาติ เคาะ! ส่งออกสิ่งประดิษฐ์จากไม้ ไม่ต้องขออนุญาต แก้ปัญหาผู้ประกอบการส่งขายต่างประเทศ (10 พ.ย. 2566). https://nbt2hd.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2153/iid/231398.
อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มและโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไม้ในอินเดีย