หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > การสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐอเมริกา

การสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐอเมริกา

ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนได้คัดเลือกให้บริษัท BAE Systems คู่ค้าของกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนรายแรกของโครงการใหม่ตามกฎหมายสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act หรือ CHIPS and Science Act) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญ

 

บริษัท BAE Systems จะได้รับเงินสนับสนุน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิปในสหรัฐฯ ที่ใช้สำหรับเครื่องบินขับไล่ F-15 และ F-35 และใช้สำหรับดาวเทียมและระบบป้องกันประเทศอื่น ๆ โดยเงินสนับสนุนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถจัดหาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่จำเป็นต่อสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรได้อย่างเพียงพอ

 

เงินสนับสนุนนี้เป็นเงินจำนวนแรกที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจัดสรรภายใต้กฎหมายสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สภาคองเกรสอนุมัติ โดยเงินสนับสนุนทั้งโครงการมีจำนวน 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้มีเป้าหมายเพื่อจูงใจโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ ให้มีการผลิตภายในประเทศ และดึงดูดการผลิตชิปที่สำคัญที่ได้ย้ายฐานการผลิตไปนอกสหรัฐฯ (Offshore) ให้กลับเข้ามาผลิตภายในประเทศ

 

 

การตัดสินใจเลือกสนับสนุนบริษัท BAE Systems ซึ่งเป็นคู่ค้าของกระทรวงกลาโหมเป็นบริษัทแรกแทนที่จะเลือกสนับสนุนบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์เชิงพาณิชย์ ทำให้เห็นว่าฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงของประเทศมาก

 

Ms. Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวระหว่างการดูงานที่บริษัท BAE ในรัฐนิวแฮมเชียร์ว่า สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาชิปจากประเทศเอเชียอย่างมาก ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีทางทหารด้วย ดังนั้น เพื่อที่จะป้องกันประเทศ สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องผลิตชิปสำหรับใช้ในยุทโธปกรณ์ทางทหารของสหรัฐฯ ด้วยตัวเอง และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนจะประกาศให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่บริหารโดยบริษัท อินเทล ซัมซุงและ ทีเอสเอ็มซี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company: TSMC) และภายในปีหน้ากระทรวงพาณิชย์จะประกาศให้เงินสนับสนุนอีกจำนวน 10-12 ทุนให้แก่บริษัทต่าง ๆ โดยแต่ละทุนมีมูลค่า 10-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเดือนมกราคม 2567 จะมีการประกาศให้เงินสนับสนุนสำหรับชิปขั้นสูง (Advanced Chips) ทั้งนี้ คาดว่าจะได้เห็นการขยายตัวครั้งใหญ่ของห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ อย่างชัดเจน

 

 

แม้ว่าเซมิคอนดักเตอร์จะมีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันสหรัฐฯ ผลิตได้เพียง 1 ใน 10 ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในโลก อย่างไรก็ดี บริษัทผลิตชิปของสหรัฐฯ ยังคงออกแบบชิปได้ทันสมัยมากที่สุด แต่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลกได้ย้ายฐานการผลิตไปในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า

 

ชิปไม่เพียงใช้เพื่อผลิตคอมพิวเตอร์หรือรถยนต์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงขีปนาวุธ ดาวเทียม และเครื่องบินขับไล่ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ในวอชิงตันได้ให้ความเห็นว่า การไม่มีความสามารถในการผลิตชิปในประเทศเป็นช่องโหว่ของความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างร้ายแรง

 

ความขาดแคลนชิปทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ต้องปิดตัวลงและเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดความเสียหาย ยิ่งทำให้เห็นความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสหรัฐฯ การที่อุตสาหกรรมชิปในสหรัฐฯ พึ่งพาไต้หวันสูงมาก ส่งผลให้เป็นจุดขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Flashpoint) เนื่องจากประเทศจีนมองว่าเกาะแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของจีน และได้มีการพูดถึงเรื่องการเรียกคืนเกาะนี้ ดังนั้น จึงถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ อาจไม่สามารถป้องกันได้

 

Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า เมื่อมีการพูดถึงเรื่องความยืดหยุ่น (Resilience) ของห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์นี้จะเสริมสร้างความยืดหยุ่นมากขึ้น และมั่นใจได้ว่าชิปจะถูกส่งมอบเมื่อกองทัพสหรัฐฯ ต้องการได้

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐกล่าวว่า โครงการที่ได้รับการสนับสนุนของ BAE จะทำให้มีการผลิตชิปในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเงินทุนดังกล่าวบริษัทจะนำไปเพื่อปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักรเก่า ซึ่งจะทำให้โรงงานมีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น และท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ต้นทุนในการผลิตชิปต่ำลงกว่าครึ่งหนึ่ง

 

นอกจากนี้ บริษัท BAE ยังได้ซื้อระบบปฏิบัติการจาก Lockheed Martin ซึ่งเป็นบริษัทด้านอากาศยาน อวกาศ และการป้องกันประเทศ บริษัท BAE ยังมีความเชี่ยวชาญในชิปที่มีชื่อว่า MMIC (Monolithic Microwave Integrated Circuits) ที่ใช้สำหรับกระจายสัญญาณวิทยุความถี่สูงเพื่อใช้ในสงครามอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารระหว่างเครื่องบินกับเครื่องบินด้วย

 

บริษัท BAE เป็นบริษัทด้านอาวุธและการบินในสหราชอาณาจักร ซึ่งเงินสนับสนุนดังกล่าวจะมอบให้กับบริษัทในเครือของ BAE ในสหรัฐฯ โดย BAE มีโรงงานที่ Nashua รัฐนิวแฮมเชียร์ และมีอัตราการจ้างงานประมาณ 3,700 คน นอกจากนี้ BAE ได้อยู่ในโครงการ “Trusted Foundry” ของเพนตากอน ซึ่งเป็นโครงการผลิตชิปเพื่อใช้สำหรับการป้องกันประเทศที่อยู่ภายใต้มาตรฐานด้านความมั่นคงที่เข้มงวดของสหรัฐฯ

 

เงินทุนจะถูกจัดสรรให้กับบริษัทหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตรวจสอบสถานะโครงการ (Due Diligence) และเมื่อบริษัทบรรลุเป้าหมายตามงวดงานที่กำหนด นอกจากนี้ เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดของเงินสนับสนุนนี้ บริษัทจะต้องดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรในโครงการหรือในวิทยาลัยท้องถิ่นด้วย

 

ฝ่ายบริหารของไบเดนตั้งใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมชิปในสหรัฐฯ ให้มีการเติบโตมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการวิจัยและการผลิตชิปขั้นสูง การสนับสนุนโรงงานงานผลิตชิป และการส่งเสริมให้มีผู้ผลิตสารเคมีและวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตชิป

 

ส่วนหนึ่งความสำคัญของโครงการ คือ การสร้างทรัพยากรชิปให้เพียงพอสำหรับการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารที่จำเป็นของกองทัพสหรัฐ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานสำหรับระบบอาวุธ เครื่องบินรบ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ค่อนข้างมีความซับซ้อน ผู้บริหารในอุตสาหกรรมชิปกล่าวว่า คู่ค้าของกองทัพบางรายมีความเชี่ยวชาญเพียงเล็กน้อยถึงที่มาของเซมิคอนดักเตอร์บางตัว เพราะบางส่วนของห่วงโซ่อุปทานได้ผลิตโดยในประเทศจีน เช่น ขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนการทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น

 

ตั้งแต่กฎหมายสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประกาศใช้ในปี 2563 บริษัทชิปได้ประกาศลงทุนการผลิตในสหรัฐฯ มูลค่ามากกว่า 220 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยหวังว่าจะได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาล รวมทั้งกฎหมายได้เสนอมาตรการเครดิตภาษีร้อยละ 25 สำหรับการลงทุนในโรงงานชิปแห่งใหม่ในสหรัฐฯ

 

การสนับสนุนเงินดังกล่าวจะเป็นการพิสูจน์ประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายด้านอุตสาหกรรมและความสามารถในการเลือกโครงการที่มีศักยภาพของฝ่ายบริหาร เพื่อให้มั่นใจว่าภาษีของประชาชนจะไม่สูญเปล่า โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งทีมพิเศษที่มีสมาชิกประมาณ 200 คนในการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทผู้สมัครรับเงินสนับสนุน

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของสหรัฐคาดว่า กฎหมายนี้จะช่วยให้สัดส่วนการผลิตชิปของสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวขึ้น หลังจากสถานการณ์การผลิตชิปของสหรัฐฯ ถดถอยมาตลอด 30 ปี อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่าโครงการนี้จะสามารถพลิกกลับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาได้มากน้อยเพียงใด

 

แม้ว่าเงินสนับสนุนที่อยู่ภายใต้กฎหมายใหม่จะมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนในอดีต แต่เงินจำนวนดังกล่าวก็อาจจะถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากโรงงานผลิตชิปต้องใช้เครื่องจักรผลิตชิปที่มีเทคโนโลยีทันสมัยระดับโลก จึงทำให้การจัดตั้งโรงงานชิปมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยโรงงานชิปที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีมูลค่าสูงถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ผู้บริหารในอุตสาหกรรมกล่าวว่า ต้นทุนในการผลิตชิปและค่าจ้างสำหรับพนักงานในสหรัฐฯ นั้นมีมูลค่าสูงกว่าในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก นอกจากนี้ประเทศเอเชียตะวันออกยังได้มีการเสนอเงินอุดหนุนที่น่าจูงใจสำหรับการตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในเอเชีย รวมทั้ง การจัดหาบุคลากรที่มีทักษะจำนวนมาก เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค เป็นต้น

 

Chris Miller อาจารย์ที่ Tufts University และผู้เขียน “Chip War” พบว่า ตลาดมีการเพิ่มการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ อย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่ แต่ยังคงเป็นที่สงสัยว่าการลงทุนดังกล่าวจะเติบโตได้ยาวนานแค่ไหน จะเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวหรือบริษัทจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วย

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ ซึ่งเงินสนับสนุนมูลค่ากว่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ได้จูงใจให้บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์กลับมาผลิตในสหรัฐฯ มากขึ้นหลังจากไปผลิตนอกประเทศ แม้ว่ามาตรการนี้จะมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้สำหรับยุทโธปกรณ์ทางทหาร แต่ผู้ประกอบการที่ส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิต ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในไทยอาจจะต้องรักษาคุณภาพในการผลิตเพื่อแสดงศักยภาพในการผลิตชิปที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ไว้

 

ข้อมูลอ้างอิง: NY Times, สคต. นิวยอร์ก

อ่านข่าวฉบับเต็ม : การสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐอเมริกา

Login