หน้าแรกTrade insightปาล์มน้ำมัน > สินค้าบริโภคตบเท้าปรับขนาดเล็กลง คุณภาพด้อยลง แต่ราคากลับแพงขึ้น

สินค้าบริโภคตบเท้าปรับขนาดเล็กลง คุณภาพด้อยลง แต่ราคากลับแพงขึ้น

ฉลากหรือข้อความเล็ก ๆ ที่พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ของน้ำมะม่วงยี่ห้อ Granini Selection Mango ได้ระบุว่า “มีส่วนผสมของเนื้อผลไม้ 24%” หากมองผ่าน ๆ อาจดูจะไม่มีความสำคัญอะไรมากนัก แต่ทว่าในอดีตกลับระบุข้อความว่า  “มีส่วนผสมของเนื้อผลไม้มากกว่า 30%” โดยบริษัท Eckes-Granini ได้ใช้กลิ่นสังเคราะห์และกรดมะนาวแทนเนื้อมะม่วงเข้มข้นกับน้ำมะนาวที่มีราคาสูงกว่า ถึงแม้จะมีการปรับสูตรการทำน้ำมะม่วงดังกล่าว แต่กลับไม่ได้ปรับราคาขายให้ถูกลง ทั้งนี้ บริษัท Eckes-Granini ได้ออกมาเปิดเผยว่า “การปรับปรุงสูตร โดยลดปริมาณเนื้อผลไม้และเพิ่มกลิ่นสังเคราะห์นั้น ก็เพื่อให้ได้รสชาติที่สมดุลของผลไม้มากที่สุด และบริษัทฯ ต้องการลดปริมาณน้ำตาลลงผ่านการลดปริมาณเนื้อผลไม้” นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังแจ้งว่า ข้อบังคับของสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการบังคับให้ปรับสูตรให้เหมือนกันในทั่ว EU โดยนาย Armin Valet ผู้แทนสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคประจำเมือง Hamburg กล่าวว่า “เมื่อผู้ผลิตลดคุณภาพผลิตภัณฑ์ลง จริง ๆ แล้วผู้ผลิตพยายามจะหลีกเลี่ยงการชี้แจงเหตุผลที่แท้จริง ว่า ต้องการประหยัดและปัดความรับผิดชอบไปอยู่ที่ผู้บริโภคแทน นาย Valet ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราได้รับการร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับสูตรของสัดส่วนหรือส่วนผสมที่แย่ลงในสินค้าบริโภค” เพราะผู้ผลิตไม่เพียงเพิ่มราคาและลดปริมาณสินค้าหรือวัตถุดิบลง แต่กลับขายสินค้าในราคาเท่าเดิม (Shrinkflation) ซึ่งจริง ๆ แล้วส่วนผสมที่มีราคาแพงได้ถูกทดแทนด้วยส่วนผสมที่ราคาถูกกว่าแล้ว จึงทำให้คุณภาพของสินค้าต่ำลง เรียกว่า “Skimpflation” สำหรับคำนี้มาจากภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Skimp – to Skimp แม้ว่าผลกระทบดังกล่าวไม่สามารถระบุเป็นตัวเงินได้ชัดเจน แต่แน่นอนด้วยการเปลี่ยนแปลงสูตรนั้น ผู้ผลิตจะประหยัดเงินได้มาก นาย Valet ได้กล่าวต่ออีกว่า แน่นอนการกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งต้องห้าม เพราะผู้ผลิตต้องระบุส่วนผสมด้านหลังของบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าว “ยังคงเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคอยู่ดี เพราะพวกเขาเป็นผู้เสียผลประโยชน์” สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคประจำเมือง Hamburg ได้ได้รวบรวมตัวอย่างเกี่ยวกับการกระทำเหล่านี้ให้กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt

 

อย่างในกรณีของบริษัท Nestlé ผู้ผลิตสินค้าบริโภครายใหญ่ได้ปรับสูตร โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้น้ำมันดอกทานตะวันปรับเป็นใช้น้ำมันปาล์มราคาถูกในซีเรียลอาหารเช้ายี่ห้อ Cini Minis ซึ่งบริษัทฯ ได้ออกมาอธิบายว่า “เนื่องจากปัญหาคอขวด (Supply Bottlenecks) ในระบบอุปทานของน้ำมันดอกทานตะวันที่มีปัญหาจากสงครามยูเครน บริษัทฯ จึงต้องปรับปรุงสูตรชั่วคราวแต่ผู้ที่เสียผลประโยชน์ในกรณีนี้ คือผู้บริโภค ซึ่งนาย Valet ชี้แจงว่า “น้ำมันปาล์มประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” โดยสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวว่า ในเวลานี้บริษัท Nestlé ยังคงใช้น้ำมันปาล์มอยู่ แม้ว่าจะมีน้ำมันดอกทานตะวันจำหน่ายในตลาดโลกในปริมาณที่เพียงพอและมีราคาใกล้เคียงกับราคาก่อนสงครามยูเครนแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี Nestlé ตั้งเป้าหมายที่จะปรับสูตรกลับไปเป็นน้ำมันดอกทานตะวันภายในสิ้นปีนี้”

 

และแน่นอนที่สุดที่ผู้ผลิตอย่าง Nestlé ต้องดิ้นรนต่อสู้กับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ต้นทุนวัตถุดิบและลอจิสติกส์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และต่อมาเมื่อเกิดสงครามในยูเครน สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปอีก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณวัตถุดิบ/สินค้าเกษตรที่อาจไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ผลิตจำนวนมากต้องปรับตัวรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการปรับเพิ่มราคาวัตถุดิบ ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของเดือนตุลาคม 2023 สูงกว่าอัตรารายปีของปี 2020 ถึง 31% ซึ่งราคาที่สูงขึ้นนี้ ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าบริโภคส่วนใหญ่สามารถขายสินค้าได้น้อยลง และสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด แม้แต่สินค้า Private Label ของผู้ค้าปลีกเองก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากในปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นผู้บริโภคจำนวนมากจึงต้องประหยัดเงินในการจับจ่ายใช้สอยกว่าเดิม

 

“ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณส่วนผสมหรือใช้ส่วนผสมที่มีคุณภาพด้อยลง” ทั้ง 2 วิธีก็เป็นวิธีที่ดีสำหรับผู้ผลิตมากกว่าการเพิ่มราคาสินค้า นาง Chehab Wahby ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าบริโภคของบริษัท EY-Parthenon ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ได้กล้าวไว้ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “วิธีเหล่านี้ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ และไม่ต้องกังวลว่าเสียยอดขายมากนัก โดยผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลักไม่ค่อยคำนึงถึงขนาดบรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมมากนัก พวกเขาก็จะยังคงซื้อผลิตภัณฑ์ต่อไป” อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตสินค้ามียี่ห้อก็เสี่ยงที่จะสูญเสียความไว้วางใจของลูกค้า และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของตน การกระทำดังกล่าว สำหรับสินค้า Private Label เป็นสินค้าที่ขายเอากำไรน้อย ดังนั้นความท้าทายในการลดต้นทุนการผลิตจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ไอศกรีมวานิลลายี่ห้อ “Gut & Günstig” ของบริษัท Edeka เดิมมีส่วนผสมของวิปครีมสูงถึง 31% ต่อมา Edeka ได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันมะพร้าวราคาถูกแทนวิปครีม โดย Edeka ออกมาประกาศว่า ไอศกรีมวานิลลานี้ได้ถูกดัดแปลงไปในทิศทางเดียวกันโดยผู้ผลิตสินค้ามียี่ห้อ และคู่แข่งชั้นนำรายอื่น ๆ โดยในช่วงปลายปี 2022 ราคาน้ำนมวัวเพิ่มขึ้นมาก และยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง Edeka แจ้งต่อว่า “การปรับเปลี่ยนสูตรในครั้งนี้จะทำให้สามารถยังคงรักษาราคาจำหน่ายเท่าเดิมได้ และยังคงคุณภาพเท่าเดิมไว้อีกด้วย” นอกจากนี้ Edeka  ยังแจ้งต่ออีกว่า “ไขมันพืชนั้นมีค่า CO2 Footprint ต่ำกว่าไขมันนมอีกด้วย”

 

สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคประจำเมือง Hamburg วิพากษ์วิจารณ์ต่อว่า Rewe คู่แข่งของ Edeka เองก็ยังต้องประหยัดด้านส่วนผสมด้วยเช่นกัน โดยปริมาณมันฝรั่งในแพนเค้กมันฝรั่งแบบแช่แข็งยี่ห้อ “JA” ซึ่งเป็นยี่ห้อ Private Label ของ Rewe ลดลงจาก 91% เหลือ 79% เท่านั้น แต่ในผลิตภัณฑ์กลับมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาค้าส่งมันฝรั่งยังคงสูงกว่าช่วงก่อนสงครามยูเครน 1 ใน 3 ส่วนอยู่ โดย Rewe ตอบกลับมาว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนสูตรแต่อย่างใด สินค้าดังกล่าวถูกผลิตโดยผู้ผลิต 2 ราย โดย Rewe ใช้งาน 2 สูตรควบคู่กันไปและแจ้งต่อว่า “ผู้ผลิตแต่ละรายเป็นผู้เสนอสูตรอาหารที่พวกเขาพัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะกับกระบวนการของพวกเขาเอง” อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 รูปแบบการผลิตก็ถูกจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อ และราคาเดียวกัน

 

นั่นหมายความว่า ในระยะยาวผู้บริโภคต้องปรับตัวมากขึ้น โดยจะมีผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก และส่วนผสมที่แย่ลงอีกเป็นจำนวนมากในตลาด แม้ว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ถูกปรับขึ้นราคาเมื่อไม่นานมานี้จะมีการปรับราคาให้ถูกลงอีกครั้งก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านขนาดหรือคุณภาพบรรจุภัณฑ์ไปแล้ว นาง Wahby กล่าวว่า “สำหรับผู้ผลิตจำนวนหนึ่ง เรียกได้ว่า เป็นการตัดสินใจแบบถาวรเรียบร้อยแล้ว” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้พวกเขาจะต้องเปลี่ยนเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์หรือสูตรการผลิต ผู้ผลิตบางรายถึงกับใช้กลอุบายหลายประการพร้อม ๆ กัน อย่างเช่น ใช้ส่วนผสมที่ถูกลง และลดปริมาณลงไปพร้อม ๆ กันอีกดวย นาย Valet อธิบายว่า “วิธีนี้ทำให้ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น  2 เท่า” อย่างชาถุงรส “Heiße Liebe” ยี่ห้อ Teekanne ในปัจจุบันใน 1 ชอง จะบรรจุเพียง 2.25 กรัม แทนที่จะเป็น 3 กรัมเหมือนในอดีต นาย Valet กล่าวว่า “เพื่อรักษาสีแดงเข้มในชาเอาไว้สัดส่วนของดอกชบาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนแอปเปิ้ลในชา ในแง่ของรสชาตินั้นส่วนผสมทั้ง 2 แทบจะไม่มีบทบาทสำคัญอะไร แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นตัวเพิ่มปริมาณชาให้มีราคาถูกลง” โดยรสชาติหลักส่วนใหญ่มากลิ่นสังเคราะห์เกือบทั้งหมด โดยผู้ผลิตสินค้ายี่ห้อ Teekanne พูดถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เป็น “การเพิ่มประสิทธิภาพของสูตร” โดยบริษัทปรับปรุงตามความคาดหวังด้านรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทก็ได้ใส่ข้อความแสดงถึง “สูตรใหม่” นี้ไว้หน้าบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจนเรียบร้อยแล้ว

 

แม้ว่าจะมีสัญญานที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในท้องตลาดเกิดขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก็มักจะตรวจพบได้ยาก โดยข้อมูลทั่วไปในรายการส่วนผสมนั้นมักจะเป็นการระบุไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย เช่น “ไขมันสัตว์” “แป้งมัน” หรือ “เครื่องเทศ” แต่ไม่จำเป็นต้องระบุปริมาณส่วนผสมของ ผัก ครีม หรือ โกโก้ ที่แน่นอน สำคัญก็เพียงแค่ต้องเรียงตามสัดส่วนน้ำหนักส่วนผสมในสินค้าเท่านั้น เฉพาะผู้ที่โฆษณาเป็นภาพหรือบรรยายถึงส่วนผสมบางอย่างบนบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ที่ต้องระบุสัดส่วนอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ นาย Valet ออกมาร้องขอว่า “เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนอย่างน้ำหนักควรทำเครื่องหมายไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ แทนที่จะพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก”

 

 

จาก Handelsblatt 15 ธันวาคม 2566

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สินค้าบริโภคตบเท้าปรับขนาดเล็กลง คุณภาพด้อยลง แต่ราคากลับแพงขึ้น

Login