หน้าแรกTrade insight > แนวโน้มที่น่าสนใจของการบริโภคในไต้หวัน ปี 2567

แนวโน้มที่น่าสนใจของการบริโภคในไต้หวัน ปี 2567

iSURVEY บริษัทด้านการสำรวจตลาดชื่อดังของไต้หวัน ได้ประกาศผลการสำรวจแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวันในปี 2567 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 พบว่า ผู้บริโภคชาวไต้หวันใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรับประทานอาหารนอกบ้าน และรู้สึกชินชากับภาวะเงินเฟ้อ จนทำให้เกิดการบริโภคในแบบไม่คิดอะไรมากและยอมจับจ่ายเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเอง นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไต้หวันยังมีการใช้จ่ายเพื่อการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ออกกำลังกายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

iSURVEY ชี้ว่า แม้ในปี 2566 จะผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดแล้ว แต่ราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี แม้ผู้บริโภคในไต้หวันจะยังรู้สึกไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต แต่ความรู้สึกชินชาต่อภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้า/บริการเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ชาวไต้หวันส่วนใหญ่มิได้มีการเก็บออมเพื่ออนาคตมากเหมือนในอดีต เชื่อว่าแนวโน้มนี้จะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยวในประเทศ การรับประทานอาหารนอกบ้าน และการจับจ่ายซื้อของ ต่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีการหันมาใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองในทันทีแทน สำหรับการบริโภคภาคประชาชน ในปี 2566 มูลค่าค้าปลีกและยอดขายของร้านอาหารก็มีแนวโน้มที่คึกคักมากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้การปรุงอาหารรับประทานเองในบ้านที่เคยเป็นกระแสนิยมในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยที่มูลค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายต่อมื้อในการรับประทานอาหารนอกบ้านของชาวไต้หวันในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากปีก่อน นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพื่อความงามของตัวเองมากขึ้น โดย iSURVEY เห็นว่า หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดเป็นเวลาประมาณ 3 ปี ในปีนี้ผู้บริโภคได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติในการพบปะสังสรรค์มากขึ้น จนแทบไม่มีการรักษาระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อความงดงามส่วนบุคคลกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยในปี 2566 ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในการซื้อเครื่องสำอางโดยเฉลี่ย คิดเป็นมูลค่า 1,145 บาทต่อเดือน เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2565 ที่มีมูลค่า 1,096 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ การออกกำลังกายและกิจกรรมสันทนาการกลางแจ้งก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการแคมป์ปิง

นอกจากนี้ iSURVEY ยังพบอีกว่า ในปี 2566 ผู้บริโภคมีการค้นหาสินค้าใกล้หมดอายุ และสินค้ามีตำหนิเพิ่มมากขึ้น โดยร้อยละ 73 ของผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าใกล้หมดอายุที่มีการลดราคาในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงก่อนการเลือกซื้อสินค้าปกติ และมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ยินดีเปลี่ยนแบรนด์ที่เคยซื้อประจำหากสามารถค้นพบสินค้าที่ทดแทนได้ในราคาที่ถูกกว่า แสดงให้เห็นว่า Brand Loyalty ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคชาวไต้หวัน เพราะหากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและหันไปซื้อสินค้าอื่นที่คิดว่าทดแทนกันได้

ที่มา: Yahoo! News / United Daily News / iSURVEY (December 13, 2566)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคไต้หวัน ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับสินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพในตลาดไต้หวัน ทั้งในส่วนของสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โดยสินค้า
แบรนด์ไทยในไต้หวันกำลังเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไต้หวันมากขึ้น โดยมีแบรนด์ไทยเข้ามาวางจำหน่ายทาง Modern Trade ในไต้หวันประเภทร้าน Chain Store ยาและเครื่องสำอาง เช่น POYA, Cosmed, Watsons’ เป็นต้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ รวมถึงร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไต้หวัน โดยมีแบรนด์/เชน ร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน ทั้งในส่วนที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของไต้หวัน เช่น Thai Town, Siam More หรือ A Do รวมไปจนถึง Chain ร้านอาหารจากไทย เช่น Nara ส้มตำเด้อ หรือบ้านผัดไทย เป็นต้น

อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มที่น่าสนใจของการบริโภคในไต้หวัน ปี 2567

Login