เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) ของประเทศโคลอมเบียและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของประเทศจีน ได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างโคลอมเบีย-จีน สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยผู้นำของทั้งสองประเทศได้ลงนามในปฏิญญาความตกลงเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสาธารณรัฐโคลอมเบียและสาธารณรัฐจีน (Strategic Partnership) ในระหว่างการประชุมที่กรุงปักกิ่ง[1]
โดยผู้นำของประเทศโคลอมเบียกล่าวว่าการลงนามในปฏิญญาความตกลงฯ นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นพันธมิตรระดับทวิภาคีในอีกหลาย ๆ ด้านต่อไป โดยเฉพาะในโครงการต่าง ๆ ทั้งในด้านพลังงาน ด้านเกษตรกรรม ด้านการผลิต ด้านสุขภาพ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านธุรกิจการบิน รวมถึงสนับสนุนการลงทุนและกิจกรรมทางการเงินของสถาบันทางการเงินระหว่างสองประเทศ
ประธานาธิบดีกุสตาโวฯ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของความตกลงฯ ว่ารัฐบาลจีนรับข้อเสนอที่จะช่วยผลักดันการส่งออกเนื้อสัตว์ของโคลอมเบียไปยังประเทศจีน และยินดีที่จะสนับสนุนการค้าของโคลอมเบียให้มีการขยายตัวไปยังจีนมากขึ้น
นอกจากการลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าวแล้ว ประธานาธิบดีกุสตาโวฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์ว่าตนได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารของบริษัท China Haarbor Engineering Company Limited และ Civil Engineering Construction Corporation เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟใต้ดินในกรุงโบโกตาและความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและแคริบเบียนของโคลอมเบีย อีกด้วย
บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
แม้ว่าโคลอมเบียจะเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงและไม่เป็นที่คุ้นเคยของชาวไทยมากนัก แต่นับว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากบราซิล เม็กซิโก และอาร์เจนตินา โดยเศรษฐกิจในปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 และคาดว่าจะขยายตัวในปี 2566 นี้ที่ประมาณร้อยละ 1.2[1]
โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีการลงนามในความตกลงทางการค้าทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมจำนวนทั้งสิ้น 17 ฉบับ[1] ดังนี้
ระดับทวิภาคี มีการลงนามฯ กับประเทศเม็กซิโก, ชิลี, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, เวเนซูเอลา, คิวบา, คอสตาริกา, เกาหลีใต้, นิคารากัว, อิสราเอล
ระดับพหุภาค มีการลงนามกับประเทศเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลาและฮอนดูรัส สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA), Andean Community, Caribbean Community, MERCOSUR, European Union, Pacific Alliance
จีนมีการนำเข้าจากโคลอมเบียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของหลายประเทศในภูมมิภาคลาตินอเมริกา ในปี 2565 มูลค่าการค้ารวมกว่า 22 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า[2] ดังนั้น เมื่อโคลอมเบียมีการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศจีนสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ จึงทำให้เป็นที่น่าจับตามองของหลายฝ่ายเนื่องจากเป็นการลงนามกับประเทศมหาอำนาจและเป็นคู่แข่งทางการค้าที่น่าเกรงขาม
สำหรับการค้าของโคลอมเบียกับประเทศไทย นั้น จากการสืบค้นข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมทางการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก โคลอมเบียเป็นคู่ค้าของไทยในอันดับที่ 51 พบว่าในปี 2565 โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังโคลอมเบียที่ 286.46 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดอยู่ในลำดับที่ 5 ประจำภูมิภาคลาตินอเมริกา ที่ไทยมีการส่งออกมากที่สุด รองจากเม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา และชิลี โดยสินค้าที่สำคัญของไทยที่มีการส่งออกไปยังโคลอมเบียมากที่สุด ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์ยาง (2) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ (3) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (5) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (6) ด้ายและเส้นด้ายใยประดิษฐ์ (7) เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (8) เม็ดพลาสติก (9) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (10) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าจากการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ของทั้งจีนและโคลอมเบีย อาจส่งผลให้โคลอมเบียมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังโคลอมเบีย เนื่องจากปัจจุบัน มูลค่าการค้าและการลงทุนของจีนในโคลอมเบียมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในสาขาต่าง ๆ เช่น เหมืองแร่ การเกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง การไฟฟ้า ยานยนต์และโรงงานประกอบ การค้าปลีก และเทคโนโลยี การลงทุนของจีนในโคลอมเบียในสาขาดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มอำนาจการแข่งขันของจีนในตลาดโคลอมเบีย ซึ่งอีกนัยหนึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคชาวโคลอมเบีย เนื่องจากรายได้ของชาวโคลอมเบีย (GDP Per Capita) อยู่ที่ 6,644 เหรียญสหรัฐต่อปี ทำให้โคลอมเบียจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประชากรมีกำลังซื้อในระดับชนชั้นกลาง
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดสินค้าไปยังโคลอมเบีย จำเป็นต้องพิจารณาและให้ความสำคัญต่อการแข่งขันในตลาด ซึ่งอาจพิจารณากลยุทธ์ที่มุ่งเน้นนำเสนอสินค้าและบริการที่ส่งมอบคุณค่าให้ผู้บริโภคเหนือกว่าคู่แข่งในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) หรือกลยุทธ์ที่ผสมผสานระหว่างการแข่งขันด้วยต้นทุนและการสร้างความแตกต่างร่วมกับการใช้นวัตกรรมเชิงคุณค่า จะช่วยให้สินค้าของผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโคลอมเบีย รวมถึงตลาดใหม่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา
โอกาสของสินค้าไทยในโคลอมเบีย ได้แก่
สินค้าอุปโภคและบริโภค: โคลอมเบียนำเข้าสินค้าอาหารสำเร็จรูป (processed food) มากเป็อันดับที่ 2 ของลาตินอเมริกา รองจากชิลี และจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมและเครื่องดื่มหลายชนิด เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อสินค้า โดยคำนึงถึงราคาเป็นหลัก รองลงไปคือคุณภาพ และการออกแบบ
สินค้าอาหาร: ชาวโคลอมเบียส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทานอาหารรสเผ็ด (รวมถึงรสเผ็ดจากพริกไทย) ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคชาวโคลอมเบียให้ความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและสินค้าอาหาร organic food เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ชาวเวเนซูเอลา (จำนวนกว่า 2 ล้านคน) ที่อาศัยในโคลอมเบียมีส่วนสำคัญในการขยายการบริโภคอาหารหลักประเภท ถั่ว ข้าว แป้งข้าวโพด ในโคลอมเบีย
สินค้าเสื้อผ้าและเครื่องประดับ: อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีความสำคัญลำดับต้นต่อเศรษฐกิจของโคลอมเบีย ปัจจุบันโคลอมเบียมีการนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้าราคาถูกจากเอเชีย (จีนเป็นแหล่งนำเข้าหลัก) โดยผู้บริโภคนิยมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ทันสมัยมีรสนิยม โดยเน้นเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เช่น ลินิน ฝ้าย ไหม
——————————————————-
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤศจิกายน 2566
[1] https://www.trade.gov/country-commercial-guides/colombia-trade-agreements
[2] http://en.people.cn/n3/2023/1027/c90000-20089753.html#:~:text=Chinese%20imports%20from%20Colombia%20have,percent%20year%2Don%2Dyear.
[1] https://statistics.cepal.org/portal/cepalstat/national-profile.html?theme=2&country=col&lang=en
[1] https://colombiareports.com/colombia-and-china-sign-strategic-partnership-deal/ และ https://www.reuters.com/world/china-upgrades-diplomatic-ties-with-close-us-ally-colombia-2023-10-25/
[2] https://statistics.cepal.org/portal/cepalstat/national-profile.html?theme=2&country=col&lang=en
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)