หน้าแรกTrade insightอาหารแปรรูป > ทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศเปรู

ทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศเปรู

สำนักข่าวท้องถิ่นของประเทศเปรูตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวมของเปรูอยู่ในช่วงชะลอตัว และมีการหดตัว -9.6% ในเดือนสิงหาคม 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ตัวเลขในช่วงแปดเดือนแรกประจำปีนี้ (มกราคม – สิงหาคม 2566) อยู่ที่ -9.0%[1]  ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการหดตัวดังกล่าวมาจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ลดลง

บทความดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสำนักข่าว BN Americas ที่ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมาเปรูต้องประสบปัญหาหลายประการที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การหยุดชะงักในหลายโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ส่งผลให้โรงงานปูนซีเมนต์ในเปรูต้องขาดรายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐ  รวมถึงผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนขาดรายได้ และโครงการก่อสร้างหลายแห่งได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้ที่นักลงทุนพิจารณาการลงทุนในประเทศอื่นแทน[2]

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างของเปรูคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป เนื่องจากรัฐบาลเปรูมีการเร่งจัดสรรเงินงบประมาณ เพื่อฟื้นฟูระบบคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคหลังจากอุทกภัยธรรมชาติ และเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2567 รวมทั้งการก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคลาตินอเมริกา[3] โดยโครงการก่อสร้างที่สำคัญได้แก่  โครงการก่อสร้างสนามบิน  โครงการก่อสร้างท่าเรือที่รัฐบาลเปรูตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียกับลาตินอเมริกา[4]

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 ไทยมีมูลค่าการค้ากับเปรูรวม 325.91 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 11.75 โดยเป็นการส่งออก 181.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 144.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยได้ดุลการค้า 37.31 ล้านเหรียญสหรัฐ

  • สินค้าส่งออกสำคัญไปเปรูได้แก่ ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก ปลาโบนิโต (กระป๋อง) (HS 160414) เครื่องซักผ้าเกิน 10 กิโลกรัม (HS 845020) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถ รวมกับน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน (HS 870421) รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่มีความจุ ของกระบอกสูบ 1,000 – 1,500 ลบ.ซม. (HS 870322) และด้ายผสมกับฝ้าย (HS 550992) เป็นต้น
  • สินค้านำเข้าสำคัญจากเปรูได้แก่ ปลาหมึกกระดองแช่เย็นจนแข็ง (HS 030743) สังกะสีที่มีน้ำหนักร้อยละ 99 ขี้นไป (HS 790111) องุ่นสด (HS 080610) สินแร่อื่น ๆ (HS 261390) และแครนเบอร์รี่ บิลเบอร์รี่ และผลไม้อื่น ๆ (HS 081040) เป็นต้น

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากจากความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู (Thailand-Peru Closer Economic Partnership: TPCEP) ในการส่งออกสินค้าไปยังเปรู ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี (ภาษีเป็นศูนย์) ตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2554 โดยสินค้าไทยที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกไปยังเปรูสูงที่สุด ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 ได้แก่

  • ด้ายผสมกับฝ้าย (HS 550953)
  • ถุงยางคุมกำเนิด (HS 401410)
  • ถุงมือที่ใช้ทางศัลยกรรม (HS 401519)
  • โพลิเอทิลีนที่มีความถ่วงจำเพาะตั้งแต่ 94 ขึ้นไป (HS 390120)
  • เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงอื่นๆ (HS 852729)
  • รถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบมีลูกสูบที่มีความจุของกระบอกสูบ 250-500 ลูกบาศก์เซนติเมตร (HS 871130)
  • เครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบทำด้วยยางธรรมชาติ (HS 401511)
  • อุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายชนิดพองลม (HS 950662)
  • ส่วนประกอบอื่น ๆ ของยานยนต์ (HS 870829)
  • ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (กระป๋อง) (HS 160414)

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ TPCEP มีแนวโน้มขยายตัวตั้งแต่ปี 2565 ซึ่ง สคต. ซันติอาโกเห็นว่าอัตราการขยายตัวดังกล่าวอาจเป็นผลจากความต้องการสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเปรูประสบกับภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ภาคการผลิตและการเกษตรกรรมภายในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก[1] พบว่าเปรูมีการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างจากไทย ได้แก่

  1. รถตักดินและรถบดถนน (พิกัด 8429)

มูลค่าการนำเข้าสินค้าพิกัดนี้จากไทยประจำปี 2565 อยู่ที่ 51.56 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวขึ้น76.29%) โดยไทยเป็นประเทศอันดับในที่ 5 ที่เปรูมีการนำเข้าสินค้าพิกัดนี้มากที่สุด รองจากจีน บราซิล สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น  ทั้งนี้ สำหรับมูลค่าการนำเข้าระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 7.75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -61.08%) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

  1. ไม้อัด หรือพาร์ติเคิลบอร์ด (พิกัด 4410)

มูลค่าการนำเข้าสินค้าพิกัดนี้จากไทยประจำปี 2565 อยู่ที่ 8.12 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -54.07%) โดยไทยเป็นประเทศอันดับในที่ 5 ที่เปรูมีการนำเข้าสินค้าพิกัดนี้มากที่สุด รองจากเอกวาดอร์ บราซิล สเปน และชิลี   ทั้งนี้ สำหรับมูลค่าการนำเข้าระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 3.56 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -37.53%) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

  1. ไฟเบอร์บอร์ด (พิกัด 4411)

มูลค่าการนำเข้าสินค้าพิกัดนี้จากไทยประจำปี 2565 อยู่ที่ 1.77 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -72.96%) โดยไทยเป็นประเทศอันดับในที่ 7 ที่เปรูมีการนำเข้าสินค้าพิกัดนี้มากที่สุด บราซิล จีน ชิลี เยอรมนี ตุรกี และโบลิเวีย  ทั้งนี้ สำหรับมูลค่าการนำเข้าระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 0.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -42.96%) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สาเหตุที่เปรูมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างจากไทยลดลงในปีนี้ เนื่องจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศ อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างในเปรูจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีนี้เป็นต้นไป เนื่องจากการเร่งดำเนินนโยบายฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและการเตรียมเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคในปี 2567 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยที่ สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าไทยในกลุ่มอื่น ๆ ที่มีโอกาสและมีแนวโน้มส่งออกไปเปรูเพิ่มขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์แต่งบ้าน ถุงมือยาง อะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์ อาหารกระป๋อง ข้าว และขนมขบเคี้ยว

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยท่านใดสนใจที่จะขยายตลาดมายังประเทศเปรู รวมถึงต้องการทราบข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมายังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก ได้ที่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน thaitrade@ttcsantiago.cl และ thaitradesantiago@gmail.com หรือช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย Facebook: Thaitradesantiago

———————————————————

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤศจิกายน 2566

[1] ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

[1] https://andina.pe/ingles/noticia-peru-construction-sector-expected-to-recover-from-second-quarter-of-2024-960230.aspx

[2] https://www.bnamericas.com/en/news/perus-construction-industry-not-expected-to-recover-until-2024

[3] https://andina.pe/ingles/noticia-peru-new-jorge-chavez-airport-will-start-operations-in-jan-2025-959675.aspx และ https://andina.pe/ingles/noticia-peru-general-government-investment-up-59-in-sep-2023-959930.aspx

[4] https://andina.pe/ingles/noticia-from-chancay-to-shanghai-a-new-silk-road-linking-asia-and-south-america-960455.aspx

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login