สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส
ข่าวเด่นรายปักษ์จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส
วันที่ 6-19 พฤศจิกายน 2566
จากรายงานของศุลกากรฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ฝรั่งเศสส่งออกสินค้ารวม เป็นมูลค่า 1.52 แสนล้านยูโร และนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่ารวม 1.77 แสนล้านยูโร และทำให้ฝรั่งเศสขาดดุลการค้าระหว่างประเทศรวม -2.53 หมื่นล้านยูโร ซึ่งยอดขาดดุลลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 3 ร้อยล้านยูโร
ทั้งนี้ยอดนำเข้าและส่งออกต่างลดลงประมาณร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อนหน้า ยอดนำเข้าที่ลดลงมีปัจจัยมาจากยอดนำเข้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม หนังสัตว์ รองเท้า เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ ที่ลดลง สำหรับยอดส่งออกที่ลดลงมีปัจจัยมากจากยอดการส่งออกอุปกรณ์พาหนะคมนาคมที่ลดลง เนื่องจากมีการส่งออกไปแล้วเป็นจำนวนมากในไตรมาสก่อนหน้า
อย่างไรก็ดียอดดุลการค้าดังกล่าวยังคงติดลบน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจการส่งออกของฝรั่งเศสยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควรจะเป็น และยอดดุลติดลบในปัจจุบันยังคงติดลบมากกว่าช่วงก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 ที่ติดลบเพียง – 1.44 หมื่นล้านยูโร ในปี 2562
สำหรับยอดดุลการค้าไทย-ฝรั่งเศสตามสถิติล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาในระดับ 2-3 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ยกเว้นในไตรมาสที่มีการส่งมอบอากาศยาน เช่นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ที่ไทยจะได้เปรียบดุลการค้าฝรั่งเศสเพียง 51 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยสินค้าที่ฝรั่งเศสนำเข้าจากไทยมากขึ้นในช่วงปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.20) อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.09) และรองเท้าเปิดส้น (เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.84) และสินค้าที่นำเข้าลดลงได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 41.81) พาหนะและชิ้นส่วน (ได้แก่จักรยายนต์และอะไหล่ รถจักรยานและอะไหล่ ลดลงร้อยละ 34.59)
ความเห็น สคต.
ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ยังคงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นปริมาณมาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตเลือกที่จะหันไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ หรือไม่ก็สั่งผลิตสินค้าจากบริษัทต่างชาติเพื่อนำเข้ามาจำหน่าย อย่างไรก็ดีฝรั่งเศสมีความพยายามเป็นอย่างมากนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ที่จะย้ายฐานการผลิตสินค้าหลาย ๆ ชนิดที่ต้องนำเข้าและกลับเข้ามาสู่ประเทศฝรั่งเศส และมีกระแสกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าในประเทศมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าการค้าระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสในอนาคตจะเปลี่ยนไปสู่การซื้อขายสินค้าที่ต่างฝ่ายต่างมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการผลิต วัตถุดิบตั้งต้น หรือสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง
ข่าวออนไลน์จากหนังสือพิมพ์ Les Echos
สถิติการนำเข้าส่งออกจาก Eurostat
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)