หน้าแรกTrade insightข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ > ไทยครองอันดับ 4 คู่ค้ากัมพูชา

ไทยครองอันดับ 4 คู่ค้ากัมพูชา

จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา ระบุว่า การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ามากกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ลดลงเกือบ 18% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบันประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสี่ของประเทศกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

ทั้งนี้ การส่งออกของกัมพูชามายังไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 652.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 0.50% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การนำเข้าจากประเทศไทย มีมูลค่า 2.17 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 22% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 นาย Hong Vanak นักเศรษฐศาสตร์จากราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา
ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา ส่วนสินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากไทย ประกอบด้วยสินค้าหลากหลายประเภท เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เบียร์ ยา ยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรกลการเกษตร ปุ๋ยเคมี และเครื่องสำอาง การที่ปริมาณการค้าลดลงระหว่างทั้งสองประเทศ
เกิดจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้าระหว่างประเทศของทุกประเทศทั่วโลกลดลง เช่นกัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกัมพูชาเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ มีการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ต่างจากอดีตที่กัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมด

นาย Kim Hout พาณิชย์จังหวัดพระตะบอง รายงานว่า การค้าสินค้าเกษตรระหว่างทั้งสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร ได้แก่ สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นักธุรกิจชาวไทยเข้ามาช่วยซื้อสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรชาวกัมพูชาจำนวนมาก ในการนำเข้าไปยังประเทศไทยเพื่อแปรรูป โดยประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับเกษตรกรในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ การส่งออกและการนำเข้าระหว่างทั้งสองประเทศมีความต่อเนื่อง มีการซื้อขายสินค้าระหว่างกันทุกวัน

นาย Sar Sarin รองประธานสภาธุรกิจกัมพูชา (CBC) กล่าวว่า กัมพูชาและไทยมีความสัมพันธ์
ทวิภาคีที่เข้มแข็งและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตที่ใกล้ชิด ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน หลังจากสถานการณ์ของโรค Covid-19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปยังกัมพูชาและไทย ซึ่งนำไปสู่ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางธุรกิจของทั้งสองประเทศ สำหรับการอ้างอิง ปริมาณการค้ากัมพูชา-ไทย มีมูลค่ารวม 4.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 14.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 การส่งออกของกัมพูชามายังประเทศไทย
ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 34.10% เป็น 831.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 10.70% เป็น 3.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชามีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและ
ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม และไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการกัมพูชาในจังหวัดที่อยู่ติดกับประเทศไทยที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น จังหวัดพระตะบอง บันเตียเมียนเจย ไพลิน และพระวิหาร ยังมีความประสงค์ขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากสามารถขายสินค้าได้ทันที ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและค่าขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเข้ามาลงทุนในกัมพูชา บริเวณจังหวัดชายแดนกัมพูชาที่ติดกับประเทศไทย เช่น ไพลิน อุดรเมียนเจย และพระตะบอง เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ต้นทุนการผลิต และใช้กัมพูชาเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เนื่องจาก ค่าแรงงานไม่แพง รวมทั้งรัฐบาลกัมพูชายังให้สิทธิพิเศษมากมากแก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยตอนนี้กัมพูชายังมีสินค้าเกษตรมากมายที่ยังไม่ได้แปรรูป เพื่อการส่งออกเป็นไปได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งตลาดต่างประเทศยังต้องการสินค้าเกษตรแปรรูปจากกัมพูชาอีกมาก

 —————————

 Phnom Penh Post

พฤศจิกายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login