หน้าแรกTrade insightข้าว > ปี 2566 ตลาดอิตาลียังสดใส ไทยส่งออก 9 เดือน โต 4.82% เฉพาะเดือนกันยายน ขยายตัวพุ่ง 38.39%

ปี 2566 ตลาดอิตาลียังสดใส ไทยส่งออก 9 เดือน โต 4.82% เฉพาะเดือนกันยายน ขยายตัวพุ่ง 38.39%

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน) การค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่า 3,942.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.03% แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 1,656.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.82% และการนำเข้ามูลค่า 2,286.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.19% ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 629.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น -6.16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน) การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,656.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.82% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีมูลค่า 1,580.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยอิตาลีถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับ 25 ของตลาดส่งออกทั่วโลกของไทย และอันดับ 5 ของตลาดส่งออกในยุโรปของไทย (อันดับ 1-4 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์) โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี 10 อันดับแรก มีดังนี้

โดยพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.81% โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (+39.53%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+11.46%) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+77.69%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+36.83%) เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หดตัวลง 35.99% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง (-37.23%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-29.74%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (-32.89%) เป็นต้น และกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม หดตัวลง 21.54% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง (-19.26%) ยางพารา (-38.34%) สินค้ากสิกรรมอื่น ๆ (-16.47%) เป็นต้น
หากพิจารณาการส่งออกของไทยมายังอิตาลี เดือนกันยายน 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 209.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากถึง 38.39% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 และขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.12% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 56.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+29.93%) อันดับ 2 หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มีมูลค่า 20.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+120.30%)อันดับ 3 อาหารสัตว์เลี้ยง มีมูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+64.04%) อันดับ 4 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 12..3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+27.71%) และอันดับ 5 เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 10.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+22,793.51%) โดยอิตาลีถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับ 25 ของตลาดส่งออกทั่วโลกของไทย และอันดับ 5 ของตลาดส่งออกในยุโรปของไทย (อันดับ 1-4 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร)
แนวโน้มและโอกาสของสินค้าไทยในตลาดอิตาลี
ปี 2566 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังคงมีโอกาสในการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังอิตาลีในอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีสัดส่วนสูงถึง 16.44% ของสินค้าส่งออกของไทยมายังอิตาลีทั้งหมด สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมของไทยที่ยังคงมีแนวโน้มสดใส ได้แก่ ข้าว ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ไทยยังมีโอกาสในการขยายมูลค่าและปริมาณการส่งออกมายังอิตาลีได้ โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวนึ่งที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสามารถแข่งขันได้ในตลาดอิตาลีและอานิสงส์จากการที่อินเดียงดส่งออกข้าวขาว ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยและข้าวกล้องยังคงหดตัวลดลง เนื่องจากราคาที่สูงกว่าข้าวขาว และปัจจุบันผู้บริโภคชาวอิตาเลียนประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในส่วนของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยที่มีโอกาสขยายการส่งออกมายังอิตาลีเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น

ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยมายังอิตาลีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ยังคงมีแนวโน้มที่สดใส เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกยุโรปอื่น ๆ ที่การค้าระหว่างไทยอยู่ในภาวะหดตัว ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี (-7.39%) ฝรั่งเศส (-11.83%) เนเธอร์แลนด์ (1.42%) สหราชอาณาจักร (-8.4%) สเปน (-4.71%) และสวิตเซอร์แลนด์ (-3.17%) โดยมีสินค้าไทยหลายรายการที่มีโอกาสในการขยายตัวมายังตลาดอิตาลีในช่วงตลอดปี 2566 ตัวอย่างเช่นสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยมายังตลาดอิตาลี การที่ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวจากทั่วโลกได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ได้ส่งผลให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดอิตาลีมีมูลค่าการสั่งซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นบวกมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2564 นอกจากนี้ การที่กรมดำเนินการจัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair ปีละ 2 ครั้ง และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยภายใต้โครงการ SMEs Pro-active ในการเข้าร่วมแสดงสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีในงาน Vicenzaoro ในอิตาลี ก็จะยิ่งเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอิตาลีอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ สคต. มิลาน มีความเห็นว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งถือเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของอิตาลี การจับจ่ายซื้อสินค้าของชาวอิตาเลียนไม่ว่าจะเป็นสินค้าอาหาร ของขวัญ เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องประดับ อาจจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วงอื่น ๆ ของปี ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมายังอิตาลียังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในด้านมูลค่าและด้านปริมาณ
นอกจากนี้ การขยายการส่งออกมายังอิตาลี ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป/อิตาลีอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง การปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด จะช่วยสร้างความน่าเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าอีกด้วย รวมถึงการมาทดสอบ/ศึกษาตลาดด้วยตนเอง จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวโน้มตลาดได้ดียิ่งขึ้น

——————————————————————-
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login