หน้าแรกTrade insight > รัฐบริติชโคลัมเบียเสนอพ.ร.บ.แรงงานใหม่ ให้แรงงานทักษะต่างชาติทำงานง่ายขึ้น

รัฐบริติชโคลัมเบียเสนอพ.ร.บ.แรงงานใหม่ ให้แรงงานทักษะต่างชาติทำงานง่ายขึ้น

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานถือเป็นปัญหาสำคัญของแคนาดาและอีกหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการขาดแคลนกลุ่มแรงงานที่มีทักษะที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป ดังนั้น จึงกลายเป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับมือและหาทางแก้ปัญหาด้านแรงงานขาดแคลน เพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่นั้น

ในการนี้เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566 นายเดวิด เอบี มุขมนตรีรัฐบริติชโคลัมเบีย และนายแอนดรู เมอร์ซิเออร์ รัฐมนตรีว่าการพัฒนาแรงงาน ประจำรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานใหม่ที่จะช่วยสนับสนุนให้แรงงานทักษะต่างชาติเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสามารถทำงานในรัฐบริติชโคลัมเบียได้รวดเร็วขึ้น โดยเล็งลดความซ้ำซ้อนในเรื่องของการทดสอบด้านภาษา รวมไปถึงการถอนพ.ร.บ.มาตรา 22 เดิม (catch-22) ที่เคยกำหนดให้แรงงานทักษะต้องมีประสบการณ์การทำงานในแคนาดาก่อนที่จะสามารถขอขึ้นใบอนุญาตทำงานประกอบวิชาชีพนั้นได้

 

ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัติแรงงานใหม่นี้ผ่าน จะส่งผลให้แรงงานทักษะอาชีพมากกว่า 29 สาขา อาทิ สัตวแพทย์ นักกฎหมาย อาจารย์ วิศวกร ครูประจำศูนย์เด็กเล็ก ช่างเทคนิค นักสังคมสงเคราะห์ นักบัญชีอาชีพ (ข้อมูลสำหรับรายชื่ออาชีพเพิ่มเติม ค้นหาได้ที่ https://news.gov.bc.ca/releases/2023PSFS0060-001634) สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในรัฐบริติชโคลัมเบียได้ง่ายและเร็วขึ้น เนื่องจากผู้สมัครนั้นสามารถนำประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศมาประกอบการขอใบรับรองคุณวุฒิอาชีพได้ ซึ่งต่างจากระเบียนขณะนี้ที่กำหนดถึงประสบการณ์การทำงานในแคนาดา เพราะแรงงานทักษะวิชาชีพชั้นสูงจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานมาแคนาดา แล้วต้องมาเริ่มต้นการทำงานและฝึกทักษะใหม่ ซึ่งหลายรายต้องเลิกทำงานวิชาชีพชั้นสูงที่เคยทำ จึงกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับแรงงานกลุ่มนั้นมาก

ผู้นำรัฐบริติชโคลัมเบียกล่าวเพิ่มว่า คณะทำงานชุดนี้พยายามที่จะสนับสนุนนโยบายด้านการจ้างแรงงานและฝึกอบรมแรงงานทักษะต่างชาติให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้ามารองรับกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานทักษะที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในรัฐบีซีขณะนี้ ซึ่งแรงงานทักษะต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาก็หวังที่จะใช้ประสบการณ์การทำงานที่มีเข้ามาใช้ในการดำรงชีพเช่นเดียวกัน และบ่อยครั้งมักมีอุปสรรคกับขั้นตอนการขอใบประกอบอาชีพที่กำหนดคุณสมบัติประสบการณ์ทำงานในประเทศแคนาดา จึงไม่สามารถทำงานตามที่ต้องการได้

 

เช่นเดียวกับที่นายแอนดรูฯ รัฐมนตรีว่าการพัฒนาแรงงาน ได้รับข้อมูลมาว่า วิศวกรรายหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในประเทศอิหร่านมานานกว่า 20 ปี และต้องการสมัครขอใบรับรองคุณวุฒิอาชีพวิศวกรในแคนาดา แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากคุณสมบัติผู้สมัครที่ระบุไว้ว่าต้องมีการทำงานในแคนาดาอย่างน้อย 2 ปี จึงมองว่าเป็นการสูญเสียโอกาสของแรงงานทักษะ ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามาพิจารณาถึงการเลิกพ.ร.บ.มาตรา 22 (catch-22) เดิมอย่างจริงจัง

 

นอกจากการพิจารณายกเลิกการนับประสบการณ์ทำงานในแคนาดาแล้วนั้น พ.ร.บ.แรงงานฉบับใหม่ ยังรวมไปถึงการลดขั้นตอนทดสอบด้านภาษาที่อาจซ้ำซ้อนเกินไป การกำหนดระยะเวลาการขอใบอนุญาตที่อาจนานสุด (maximum processing times) และการจัดทำข้อมูลรองรับ เพื่อให้ผู้สมัครสามารถเข้าประเมินและเทียบวุฒิการศึกษาในระบบออนไลน์ได้

 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกล่าวว่า หากร่างพ.ร.บ. ฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาลง ก็จะสามารถแต่งตั้งผู้ดูแลและรับผิดชอบการทำงานได้อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ  นับได้ว่ารัฐบริติชโคลัมเบียอยู่ในสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยทางรัฐบาลได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรับมือกับการขาดแคลนแรงงานฝีมือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.แรงงานตามข่าวที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น ถือว่าอยู่ในส่วนเฉพาะการปกครองท้องถิ่นเฉพาะรัฐ (ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศแคนาดา) ซึ่งทว่า หากร่างพ.ร.บ. ฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาลง นอกเหนือจะเป็นแรงดึงดูดของแรงงานชาวต่างชาติเข้ามายังรัฐบริติชโคลัมเบียแล้วนั้น อาจจะเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างรัฐภายในประเทศได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายตัวของสังคม และเป็นแหล่งรวมผู้บริโภคที่สร้างโอกาสทางการค้าและบริการ ในการนี้ หากธุรกิจไทยสามารถเข้าใจ ตอบสนองและเข้าถึงความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ ก็จะช่วยเปิดตลาดที่มีฐานผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

 


ที่มาของบทความ https://www.cbc.ca/news/canada/british-columbia/foreign-trained-professionals-employment-british-columbia-1.7005134

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login