หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประจำเดือนตุลาคม 2566

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประจำเดือนตุลาคม 2566

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจ/ สถานการณ์สำคัญ

รัฐบาลเมียนมาออกประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ลดระยะเวลาเคอร์ฟิวที่ประชาชนต้องอยู่ในภายในสถานที่พัก จากเดิมภายในเวลา 24.00 น. – 04.00 น. ของทุกวัน เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 01.00 น. – 03.00 น. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ในช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม 2566 ของปีงบประมาณ 2023-24 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของเมียนมามีมูลค่า 17,569.884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในด้านของการส่งออกมีมูลค่า 8,277.711 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.98 การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของเมียนมามีมูลค่า 9,292.173 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2566 เมียนมาเสียดุลการค้าเป็นมูลค่า 1,014.462 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเมียนมา (GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.49 อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 ของเมียนมา มีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 6.81เพิ่มขึ้นจากปี 2565 นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ที่ระดับ 1,228.54เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ดังตาราง

ตารางที่ 1 – เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจเมียนมา

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

ที่สำคัญ

ปี 2017 ปี 2018

 

ปี 2019

 

ปี 2020

 

ปี 2021

 

ปี 2022 ปี 2023

(คาดการณ์)

GDP Growth (%) 5.8 6.4 6.8 3.2 -17.9 -0.06 2.49
GDP (billions of US$) 61.27 66.7 68.8 81.26 66.74 63.05 66.59
GDP per Capita (US$) 1,180 1,270 1,300 1,530 1,250 1,170.09 1,228.54
Inflation (%) 4.62 5.94 8.63 5.73 3.64 6.47 6.81

ที่มา: IMF  https://www.imf.org/en/Countries/MMR#countrydata

 1.2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตต่อสกุลเงินสำคัญ ต.ค. 65 และ ต.ค. 66

ประเทศ/สหภาพ สกุลเงิน อัตรา

สิ้นเดือน ต.ค. 65

อัตรา

สิ้นเดือน ต.ค. 66

USA 1 USD 2,100 MMK 2,100.00 MMK
Euro 1 EUR 2,085.10 MMK 2,217.40 MMK
Singapore 1 SGD 1,484.80 MMK 1,533.40 MMK
Thailand 1 THB 55.212 MMK 57.936 MMK

ข้อมูลจากธนาคารกลางเมียนมา : https://forex.cbm.gov.mm/index.php/fxrate

จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับเงินสกุลท้องถิ่นเมียนมาจ๊าตในช่วงเดือนตุลาคมของปี 2566 มีความคงที่สำหรับเงินเหรียญสหรัฐฯ ยู่ที่อัตรา 2,100 MMK ต่อ 1 USD เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับเงินสกุลอื่นๆ มีการอ่อนค่าลงเล็กน้อย เนื่องจากการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางเมียนมา ทั้งนี้ ตลาดแลกเงินนอกระบบมีอัตราที่แตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลาง โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ประมาณ 3,200 จ๊าตต่อ 1 USD

กราฟแสดงค่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินเมียนมาจ๊าต (MMK) ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ช่วงเดือนตุลาคม 2566

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ธนาคารกลางเมียนมาได้ประกาศอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่อยู่ที่ 2,100 MMK ต่อ 1 USD เพื่อให้ใกล้เคียงกับอัตราที่แท้จริงในตลาดแลกเงินท้องถิ่น และเป็นอัตราคงที่ สําหรับเงินสกุลต่างประเทศอื่นๆ จะมีอัตราแลกเปลี่ยนโดยคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,100 จ๊าต ต่อ 1 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ธนาคารกลางเมียนมาจะออกประกาศเพิ่มเติม หากอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลง

 

1.3 ภาวะการลงทุน

1.3.1 มูลค่าการลงทุนตามรายประเทศนักลงทุนสำคัญ

ภาพรวมด้านการลงทุนทางตรงของต่างประเทศในเมียนมา (FDI) ในเดือนสิงหาคม 2566 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Commission : MIC) อนุมัติโครงการไปแล้ว คิดเป็นมูลค่า 484.155 เหรียญสหรัฐ ดังตาราง

ตารางที่ 3 – ประเทศที่มีการลงทุนทางตรง FDI ในเมียนมา เดือนเมษายน – สิงหาคม 2566

อันดับ ประเทศ มูลค่าการลงทุน (ล้านเหรียญสหรัฐ)

เม.ย.-ส.ค. 66

สัดส่วน (%)
1 สิงคโปร์ 337.087 69.62%
2 จีน 135.491 27.99%
3 ฮ่องกง 4.232 0.87%
4 ไต้หวัน 2.200 0.45%
5 เกาหลีใต้ 1.741 0.36%
6 สหรัฐอเมริกา 1.087 0.22%
7 ซามัว 1.00 0.21%
8 อังกฤษ 0.717 0.15%
9 อินเดีย 0.600 0.12%
รวม 484.155 100%

สำหรับมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่เคยได้รับอนุญาตสะสม จนถึงปีงบประมาณ 2023-2024 (ณ เดือนสิงหาคม 2566) มีมูลค่าทั้งสิ้น 95,277.977 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) สิงคโปร์ 2) จีน 3) ไทย 4) ฮ่องกง และ 5) สหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 3 มูลค่า 11,609.573 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 12.47 โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว จำนวน 154 โครงการ

 ตารางที่ 4 – มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่เคยได้รับอนุญาตสะสม จนถึงปีงบประมาณ 2023-2024

https://www.dica.gov.mm

สำหรับมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศของโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ จนถึงปีงบประมาณ 2023-2024 (ณ เดือนสิงหาคม 2566) มีมูลค่าทั้งสิ้น 76,335.124 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่ยังคงลงทุนในเมียนมาสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) สิงคโปร์ 2) จีน 3) ฮ่องกง 4) สหราชอาณาจักร และ 5) ไทย ตามลำดับ โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 5 มูลค่า 4,429.539 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 5.97 โดยมีโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ จำนวน 104 โครงการ

 ตารางที่ 5 – มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่ยังดำเนินการอยู่ จนถึงปีงบประมาณ 2023-2024

1.3.2 มูลค่าการลงทุนตามประเภทสาขาการลงทุนที่สำคัญ

ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ต่างชาติลงทุนในเมียนมาของปีงบประมาณ 2023 – 2024 ในเดือนมิถุนายน 2566 ได้แก่ ธุรกิจการผลิต สัดส่วนร้อยละ 92.65 และธุรกิจเกษตรกรรม สัดส่วนร้อยละ 7.35 รายละเอียดดังตาราง

ตารางที่ 6 – อุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมียนมา

ปีงบประมาณ 2022-2023 (เม.ย. – ส.ค. 66)

อันดับ ประเภทธุรกิจ มูลค่า

(ล้านเหรียญสหรัฐ)

เม.ย. – ส.ค. 66

สัดส่วน (%)
1 Power 317.718 65.62%
2 Transport&Communication 77.820 16.07%
3 Services
4 Manufacturing 63.529 13.12%
5 Real Estate
6 Mining
7 Agriculture 1.00 0.21%
8 Livestock& Fisheries 23.050 4.76%
9 Hotel&Tourism
  รวม 484.155 100%

สำหรับสาขาการลงทุนจากต่างประเทศที่ยังดำเนินการอยู่ จนถึงปีงบประมาณ 2023-2024 สามอันดับแรกได้แก่ พลังงาน ร้อยละ 27.39 น้ำมันและแก๊ส ร้อยละ 21.18 และอุตสาหกรรมการผลิต ร้อยละ 15.29

ตารางที่ 7 สาขาการลงทุนจากต่างประเทศที่ยังดำเนินการอยู่ จนถึงปีงบประมาณ 2023-2024

ตารางที่ 8 – สาขาการลงทุนจากต่างประเทศที่ยังดำเนินการอยู่ จนถึงปีงบประมาณ 2023-2024

  1. สถานการณ์การค้า (การนำเข้า-ส่งออก) ของเมียนมา

      2.1 สถิติการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา

ตารางที่ 9 – มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา (เมษายน – กันยายน 2566)

เปรียบเทียบระหว่าง ปีงบประมาณ 2022-23 และ ปีงบประมาณ 2023-24

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Export Import Trade Volume
2023-2024 2022-2023 % 2023-2024 2022-2023 % 2023-2024 2022-2023 %
(20-10-2023) (20-10-2022) change (20-10-2023) (20-10-2022) change (20-10-2023) (20-10-2022) change
8,277.711 9,404.074 -11.98% 9,292.173 9,347.385 -0.59% 17,569.884 18,751.459 -6.30%

ในช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม 2566 ของปีงบประมาณ 2023-24 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของเมียนมามีมูลค่า 17,569.884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในด้านของการส่งออกมีมูลค่า 8,277.711 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.98 การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของเมียนมามีมูลค่า 9,292.173 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2566 เมียนมาเสียดุลการค้าเป็นมูลค่า 1,014.462 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.2 สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา

      ตารางที่ 10 – มูลค่าการส่งออกสินค้าที่สำคัญของเมียนมา (ตุลาคม 2566) ที่มา : กระทรวงพาณิชย์เมียนมา

ลำดับ สินค้า มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สัดส่วน (%)
1 MANUFACTURING GOODS 5,304.610 64.08%
2 AGRICULTURAL PRODUCTS 1,716.955 20.74%
3 MARINE PRODUCTS 347.912 4.20%
4 MINERALS 165.147 2.00%
5 FOREST PRODUCTS 37.954 0.46%
6 ANIMAL PRODUCTS 4.569 0.06%
7 OTHER PRODUCTS 700.565 8.46%
รวม 8,277.711 100.0%

2.3 สินค้านำเข้าสำคัญของเมียนมา

ตารางที่ 11 – มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่สำคัญของเมียนมา (ตุลาคม 2566)

ลำดับ สินค้า มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สัดส่วน (%)
1 สินค้า Commercial Raw material 4,513.162 48.57%
2 สินค้า Investment Goods 1,894.351 20.39%
3 สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) 1,533.372 16.50%
4 อื่นๆ (CMP: Cutting, Making, Packing) 1,351.288 14.54%
รวม 9,292.173 100%

2.4 สถานการณ์การค้าระหว่างไทย – เมียนมา

ตารางที่ 12 สรุปมูลค่าการค้าระหว่างไทย – เมียนมา

รายการ มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัว (%) สัดส่วน (%)
2565 2565

(ม.ค.-ก.ย.)

2566

(ม.ค.-ก.ย.)

2565 2565

(ม.ค.-ก.ย.)

2566

(ม.ค.-ก.ย.)

2565 2565

(ม.ค.-ก.ย.)

2566

(ม.ค.-ก.ย.)

มูลค่าการค้า 8,227.45 6,321.44 5,832.21 15.18 19.90 -7.74 1.39 1.39 1.35
การส่งออก 4,696.58 3,664.79 3,412.53 8.72 16.00 -6.88 1.64 1.66 1.60
การนำเข้า 3,530.87 2,656.65 2,419.68 25.06 25.71 -8.92 1.16 1.14 1.11
ดุลการค้า 1,165.71 1,008.15 992.85 -21.85 -3.61 -1.52

ที่มา : OPS กระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย ณ วันที่ 31 ต.ค. 66

ปี 2566 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและเมียนมาตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2566         มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,832.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.74 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไทยมีการส่งออกไปยังเมียนมาเป็นมูลค่า 3,412.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.88 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก สำหรับการนำเข้าสินค้าจากเมียนมามายังประเทศไทยมีมูลค่า 2,419.68ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.92 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 992.85 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าที่ไทยส่งออกไปเมียนมา ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องเทศและสมุนไพร เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปูนซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเมียนมา ที่สำคัญ  ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ กาแฟ ชา เครื่องเทศ และเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น

3. สถานการณ์สำคัญ

3.1 เมียนมาบังคับจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566

กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่า ธุรกิจขายของออนไลน์ได้รับการยอมรับว่าเป็นธุรกิจบริการที่สำคัญและเจ้าของธุรกิจออนไลน์จะต้องจดทะเบียนธุรกิจเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 โดยกรมการค้าได้แนะนำระบบการจดทะเบียนผ่านออนไลน์ ในงานแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ที่จัดขึ้นที่หอการค้าและอุตสาหกรรมภาคมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ระบุว่า ธุรกิจออนไลน์เป็นบริการที่จำเป็น ภายใต้หมวดย่อย (c) ของมาตรา 4 ของกฎหมายว่าด้วยการจัดหาและบริการที่จำเป็น

เจ้าหน้าที่กรมการค้ากล่าวว่า “เจ้าของธุรกิจออนไลน์สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ผู้ที่ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ถึง สิ้นเดือนธันวาคม 2566 จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน หากพบว่าผู้ใดดำเนินธุรกิจออนไลน์โดยไม่ได้ลงทะเบียน บุคคลเหล่านั้นจะถูกดำเนินคดีโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567”

ผู้สมัครจะต้องส่งชื่อธุรกิจ โลโก้ หนังสือรับรองของเขตหรือย่านและสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง พร้อมชำระ 4,000 จ๊าตสำหรับแบบฟอร์มใบสมัครออนไลน์

ร้านขายออนไลน์ทั้งหมดจะต้องลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตเองหรือซื้อมาขายไป

ที่มา: Global New Light Of Myanmar (www.gnlm.com.mm)

3.2 กระทรวงพาณิชย์เมียนมาประกาศว่า รายได้จากการส่งออกจะต้องนำฝากภายในระยะเวลาที่กำหนด

กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ประกาศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ให้ผู้ส่งออกต้องวางเงินรายได้จากการส่งออกภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกระงับการจดทะเบียน และจะถูกดำเนินการภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ถ้าผู้ส่งออกรายใดไม่นำฝากเงินรายได้จากการส่งออกจะถูกระงับการจดทะเบียนการส่งออก และจะถูกดำเนินการภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

รายได้จากการส่งออกจะต้องฝากภายใน 45 วันสำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังประเทศในเอเชีย และภายใน 90 วันสำหรับประเทศอื่น ๆ นอกเอเชีย ผู้ส่งออกจะต้องฝากรายได้จากการส่งออกเป็นสกุลเงินต่างประเทศเข้าบัญชีธนาคารของผู้ส่งออก บทลงโทษจะดำเนินการกับผู้ส่งออกที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ภายใต้กฎหมายการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามประกาศของธนาคารกลางแห่งเมียนมา เลขที่ 27/2022

เมื่อบริษัทไม่สามารถนำฝากเงินรายได้จากการส่งออกภายในระยะเวลาที่กำหนดหลังจากส่งออกตามข้อกำหนดธนาคารกลางเมียนมา จะถูกส่งรายชื่อไปยังกระทรวงพาณิชย์เมียนมา และแจ้งให้ตัวแทนที่ได้รับอนุญาต (ธนาคาร) ทราบเกี่ยวกับรายชื่อนั้น นอกจากนี้ กรมการค้าจะแจ้งรายชื่อบริษัทเหล่านั้นไปยังสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา (UMFCCI) โดยกรมการค้าจะระงับทะเบียนผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าของบริษัทเป็นเวลาสองสัปดาห์หลังจากแจ้งให้บริษัทเหล่านั้นทราบ หากบริษัทมีการชำระรายได้จากการส่งออกแล้ว จะสามารถเรียกคืนการจดทะเบียนการส่งออก/นำเข้าได้

บริษัทที่ไม่นำฝากเงินรายได้จากการส่งออกจะถูกระงับการจดทะเบียน และจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายภายใต้มาตรา 42-a ของกฎหมายว่าด้วยการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กรมการค้าได้แจ้งให้ผู้ส่งออกทราบเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ถึงหลักเกณฑ์บังคับการฝากรายได้จากการส่งออกภายในระยะเวลาที่กำหนด

ที่มา: Global New Light Of Myanmar (www.gnlm.com.mm)

3.3 คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมาได้มอบหมายหน้าที่เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัทผู้ผลิต

ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคมของปีงบประมาณ 2566-67 เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa SEZ) จะมีการวางแผนปริมาณการส่งออกมูลค่า 54.945 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปริมาณการนำเข้ามูลค่า 162.653 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นมูลค่าเงิน 217.598 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้กว่า 22 พันล้านจ๊าต

คณะกรรมการจัดการจำเป็นต้องจัดการการใช้เงินลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่องของบริษัทใหม่และบริษัทเก่า รวมถึงสกุลเงินต่างประเทศอื่น ๆ ของการลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) และธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar)

เมียนมาและจีนได้ลงนามในข้อตกลงเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าพยู (Kyaukpyu SEZ) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 โดยเป็นข้อตกลงกันระหว่างผู้ถือหุ้นในเดือนมกราคม 2563 และข้อตกลงสัมปทานในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งนำโดยประธานคณะกรรมการกลางของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

ปัจจุบัน ประเทศเมียนมามีการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ 3 แห่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และอยู่ระหว่างดำเนินการคือ เขตเศรษฐกิจเจ้าพยูและเขตเศรษฐกิจทวาย

โครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าพยู เป็นโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างเมียนมา-จีน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อดำเนินโครงการรถไฟเจ้าพยู-มัณฑะเลย์-มูเซ เพื่อสนับสนุนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าพยู และเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ ระหว่างเมียนมาและจีน

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เริ่มต้นดำเนินการในปี 2551 แต่บริษัทอิตาเลียน-ไทยได้ระงับการดำเนินการเนื่องจากเหตุผลหลายประการ ส่งผลให้กระบวนการเทคโอเวอร์จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและนักลงทุนรายใหม่จะต้องได้รับเชิญภายใต้กระบวนการระหว่างประเทศ และคณะกรรมการกลางของเขตเศรษฐกิจของเมียนมา ต้องพยายามดึงดูดนักลงทุนรายใหม่จากต่างประเทศ

เขตเศรษฐกิจติลาวาตั้งอยู่บนพื้นที่ 667.275 เฮคเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยเขตปลอดอากรและเขตส่งเสริมปัจจุบันประกอบไปด้วยบริษัท 114 แห่งจาก 21 ประเทศดำเนินธุรกิจด้วยเงินลงทุนจากต่างประเทศ 2,190.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.6 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2565-66, ร้อยละ 1 ของปริมาณการส่งออกทั่วประเทศในปี 2565 และร้อยละ 3 ของปริมาณการส่งออกภาคเอกชน

ที่มา: Global New Light Of Myanmar (www.gnlm.com.mm)

3.4 ระบบชำระเงินผ่านมือถือ Myanmar Pay จะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

ธนาคารกลางเมียนมาระบุว่า การชำระเงินผ่านมือถือ MYANMAR Pay จะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ โดย Daw Than Than Swe ผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมากล่าวในการประชุมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ว่า การพัฒนาระบบการชำระเงินผ่านมือถือจะช่วยลดการใช้เงินสด และกระตุ้นให้ประชาชนเมียนมาหันมาใช้การชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการชำระเงินแห่งชาติปี 2563-2568 โดยธนาคารกลางเมียนมาได้มีการนำ Digital Payment Switch (Myanmar Pay) มาใช้เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินผ่านมือถือทั้งหมดให้สามารถเชื่อมต่อถึงกัน

ที่มา: Global New Light Of Myanmar (www.gnlm.com.mm)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง

 ตุลาคม 2566

Login