หน้าแรกTrade insightข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ > รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนตุลาคม 2566

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนตุลาคม 2566

1. สรุปภาพรวมทั่วไป
เศรษฐกิจ
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่านช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ( 21 มีนาคม – 20 มิถุนายน 2566)เติบโตที่อัตราร้อยละ 3.3 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ GDP ณ ราคาพื้นฐานคงที่ของปี 2554 ในไตรมาสแรก มีมูลค่า 2,144 พันล้านเรียล (รวมน้ำมันดิบ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.9 ในขณะที่ตัวเลขดังกล่าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,986 พันล้านเรียล (รวมน้ำมันดิบ) ซึ่งแสดงถึงการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอิหร่าน (GDP) เพิ่มสูงขึ้น โดยภาคเกษตรกรรมเติบโตติดลบร้อยละ 4.6 ภาคอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ ขยายตัวร้อยละ 7.3 และภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 9.3
แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะแสดงตัวเลขการเพิ่มขี้นของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเติบโตนี้ยังไม่สะท้อนสภาพแห่งความเป็นจริง กล่าวคือ คุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอิหร่านสูงไม่ได้มากนักซึ่งตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของอิหร่านยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรังและความไม่มั่นคงด้านราคาและการอ่อนค่าของเงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการคว่ำบาตร ทำให้ประชาชนไม่สามารถวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคต เป็นเหตุให้ความประพฤติทางการบริโภคและการออมทรัพย์ของประชาชนชาวอิหร่านในปัจจุบันเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเรื้อรังประชาชนชาวอิหร่านจะไม่ออมเงินหรือสะสมเงินไว้กับธนาคารในระยะยาวเนื่องจากค่าเงินสกุลท้องถิ่นมีค่าอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะเก็บออมเงินในรูปของการซื้อเงินตราในสกุลเงินต่างประเทศหรือซื้อเหรียญทองเก็บเก็บไว้เป็นทุนทรัพย์
ทั้งนี้ สถาบันเฟรเซอร์(Fraser Institute) ได้จัดลำดับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ของโลกในปี 2023 จำนวน 165 ประเทศ พบว่า ประเทศอิหร่านจัดอยู่ในลำดับที่ 160 โดยสถาบันเฟรเซอร์(Fraser Institute) ได้ประกาศค่าดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.53 จาก 10 ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 4.58
อัตราเงินเฟ้อ
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในครัวเรือนของเดือนที่ 6 ปีอิหร่าน 1402 (23 ส.ค. – 22 ก.ย 2566) อยู่ที่ 201.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนที่ 5 ของปีอิหร่าน (23 ก.ค.- 22 ส.ค. 2566) เทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 และในช่วง 12 เดือน (เริ่ม 23 ส.ค. 2565- 22 ส.ค. 2566) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.1 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของครัวเรือนแบบจุดต่อจุด หมายถึงร้อยละของการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมากับเดือนที่ 6 ปีอิหร่าน 1402 อัตราเงินเฟ้อของครัวเรือนแบบจุดต่อจุด อยู่ที่ร้อยละ 5.39 กล่าวคือในเดือนที่ 6 ของปีอิหร่าน 1402 ประชาชนอิหร่านใช้เงินในจำนวนที่มากกว่าเดือนที่ 6 ของปีอิหร่านที่ผ่านมา เพื่อจับจ่ายใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการชนิดเดียวกันเพิ่มขี้นร้อยละ 39.5
อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราเงินเฟ้อแบบจุดต่อจุดของเดือนที่ 6 ของปีอิหร่าน 1402 ลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนที่ 5 ปีอิหร่าน 1402 ตรงกับ 23 ก.ค.- 22 ส.ค. 2566) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประจำปีหมายถึง ร้อยละของการเปลี่ยนแปลงของจำนวนดัชนีราคาเฉลี่ยในช่วงหนึ่งปีที่สิ้นสุด ณ เดือนปัจจุบัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งในเดือนที่ 6 ปีอิหร่าน 1402 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครัวเรือนของประเทศสูงถึงร้อยละ 46.1 ซึ่งลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงหนึ่งปีเดียวกันที่สิ้นสุด ณ เดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประจำเดือน หมายถึง ร้อยละของการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งจากรายงานวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของดัชนีราคาผู้บริโภคชี้ให้เห็นว่าในเดือนที่ 6 ปีอิหร่าน 1402 (23 ส.ค. – 22 ก.ย 2566) อัตราเงินเฟ้อในครัวเรือนของประเทศเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ อยู่ที่ร้อยละ 5.1 และกลุ่มสินค้าและบริการที่นอกเหนือจากอาหารอยู่ที่ร้อยละ 3.2
การว่างงาน
ตามรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI) อัตราการว่างงานในฤดูร้อนปีอิหร่านปัจจุบัน 1402 (22 มิ.ย. – 22 ก.ย. 2566) ลดลงเหลือร้อยละ 7.9 นับเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดที่บันทึกไว้นับตั้งแต่ปี 2005 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมามีประชากรทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวน906,799 คน ซึ่งเป็นจำนวนการจ้างงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2553 ทั้งนี้อัตราการว่างงานของประชากรอายุระหว่าง 15-29 ปีของฤดูร้อนปี 2021 ที่ร้อยละ 25.7 ลดลงเป็นร้อยละ 23 ในฤดูร้อนปี 2022 และลดลงเหลือร้อยละ 20.1 ในฤดูร้อนปีปัจจุบัน ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานต่ำที่สุดสำหรับกลุ่มอายุนี้นับตั้งแต่ปี 2021 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของประชากรอายุ 18 – 35 ปีของปีปัจจุบัน สูงถึงร้อยละ 15 ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของฤดูร้อนปีที่ผ่านมาน้อยกว่าร้อยละ 1.2 และน้อยกว่าฤดูร้อนปีก่อนหน้าร้อยละ 2.6
การลงทุนจากต่างประเทศ
ทุกปีที่มีการจัดวาระการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ( UNCTAD ) จะมีการเผยแพร่สถิติที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งตามรายงาน พบว่า ในปี 2022 จำนวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอิหร่านมีมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จำนวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอิหร่านในปี 2021 มีมูลค่า 1.425 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หมายความว่าจำนวนการลงทุนจากต่างประเทศในอิหร่านในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (หรือคิดเป็นมูลค่า 75 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งในบรรดาประเทศเอเซียตะวันตก 10 ประเทศ อิหร่านจัดอยู่ในประเทศที่ 4 ด้านการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรองจากประเทศซาอุดิอาระเบีย โอมานและบาห์เรน
2 . การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
กรมศุลกากรอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran Customs Administration : IRICA) ได้รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม – 22 กันยายน 2566) พบว่าอิหร่านส่งออกสินค้าไปต่างประเทศแล้วมูลค่า 24,144 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯมูลค่าลดลงร้อยละ 2.62 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ จีน อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกีและอินเดีย อิหร่านส่งออกสินค้าไปยังจีนมากที่สุด ด้วยมูลค่า 6,921 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28.67 ของมูลค่าการส่งออก ในส่วนของการค้ากับไทย อิหร่านส่งสินค้าออกไปไทยแล้วมูลค่า 159,387,164 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกหลักได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ยูเรีย สัตว์น้ำทะเลแช่แข็งและแช่เย็น สินค้าเกษตร เป็นต้น
การนำเข้า
ในช่วง 6 เดือนแรกของปีปัจจุบัน อิหร่านนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 30,443 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.62 โดยมีนำเข้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ตุรกี เยอรมัน และอินเดีย โดยอิหร่านนำเข้าสินค้าจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 9,048 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29.72 ของการนำเข้า ในส่วนของการนำเข้าจากไทย อิหร่านนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่า 53,344,539 เหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าสำคัญ ได้แก่ เอ็มดีเอฟ ข้าวโพดหวาน สับประรดกระป๋อง อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ ยางพารา เป็นต้น

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศอิหร่านพบว่า ปริมาณรายได้ที่รัฐบาลอิหร่านได้รับจากการส่งออกสินค้านอกเหนือจากน้ำมันดิบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ว่าอิหร่านได้รับผลกระทบของจากการคว่ำบาตร แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศอิหร่านก็ตาม แต่ในทางกลับกันการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการแลกเปลี่ยน การขนส่ง และอื่นๆ รวมถึงการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุน ทำให้กำลังการผลิต และการแข่งขันลดลง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าของอิหร่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาเงินตราต่างประเทศให้กับผู้นำเข้าภาคเอกชน ตลอดจนข้อจำกัดทางศุลกากร ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนภาคการผลิตซึ่งทำให้การผลิตภายในประเทศลดลงไปด้วย ปัจจุบันหากมีการนำเข้าสินค้าทางผู้นำเข้าจำเป็นต้องใช้เงินสกุลต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกสินค้า ซึ่งเรียกว่า Import against Export ในการนำเข้าสินค้า

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login