หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > สหรัฐฯ เตรียมห้ามนำเข้านาฬิกา Apple บางรุ่น

สหรัฐฯ เตรียมห้ามนำเข้านาฬิกา Apple บางรุ่น

เนื้อหาสาระข่าว: คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ (USITC­­–US International Trade Commission) แนะนำให้ห้ามนำเข้านาฬิกาบางรุ่นของ Apple ที่ผลิตในเวียดนาม ด้วยข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิ์ในเทคโนโลยีการตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดของบริษัท Masimo Corp โดยได้ออก “คำสั่งห้ามนำเข้า” ซึ่งจะมีผลบังคับภายใน 60 วันนับจากวันที่ออกคำสั่งหากประธานาธิบดีไบเดนมิได้ใช้อำนาจยับยั้งคำสั่งดังกล่าว โดยบริษัท Masimo Corp เห็นว่าตนได้รับชัยชนะที่สามารถทำให้ Apple ต้องยอมรับผิดต่อพฤติกรรมการละเมิดสิทธิบัตรในเทคโนโลยีของตน ในขณะที่ Apple เองก็มีแผนที่จะร้องอุทธรณ์ต่อศาลแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กรณีขัดแย้งกันครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นมาจากข้อร้องเรียนซึ่งมีขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2021 ว่า Apple นำเอาเทคโนโลยีซึ่งบริษัท Masimo Corp เป็นเจ้าของสิทธิบัตร และทำให้ Apple มีอำนาจเหนือ ตลาดนาฬิกาอัจฉริยะ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ใช้ตรวจสุขภาพมาใช้งานกับนาฬิกา ในขณะที่ Apple เองก็กล่าวหาคู้กรณีกลับไปว่าลอกแบบของตน

บทวิเคราะห์: คำสั่งห้ามนำเข้าดังกล่าว ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนเทศกาลคริสต์มาสนี้ หากมีผลบังคับใช้ย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อยอดจำหน่ายในหมวดสินค้านาฬิกาอัจฉริยะของบริษัทฯ แน่นอน ในขณะที่โอกาสที่ประธานาธิบดีไบเดนจะออกมาใช้อำนาจยับยั้งคำสั่งดังกล่าวนั้นก็เป็นไปได้ยาก สำหรับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple แล้ว หากถูกลงโทษด้วยการปรับยังจะดีเสียกว่า

การนำเครื่องมือตรวจวัดสุขภาพที่นำมาเพิ่มความสามารถให้กับเทคโนโลยีที่สวมใส่ติดตัวได้ (wearable technology) นั้นกำลังเป็นที่นิยมสูงมากๆ โดยสถิติที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูลวิเคราะห์สิทธิบัตรของ GlobalData ชี้ว่ามีการตีพิมพ์เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นใหม่มากกว่า 3,000 รายการและยอดในเดือนมกราคมปี 2022 นั้นมีจำนวนมากที่สุดถึง 3,724 รายการ และได้ประมาณการณ์ไว้ว่ามูลค่าตลาดของสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สวมใส่ติดตัวได้ทั่วโลกจะสูงถึง 290 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 ด้วยอัตราการขยายตัวแบบทบต้นที่ ร้อยละ 14.3 ในขณะที่ แว่นอัจฉริยะและอุปกรณ์ VR สำหรับสวมศีรษะยังคงไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดย นาฬิกาอัจฉริยะนี้เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับที่สองในหมวดสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สวมใส่ติดตัวได้นี้ รองจากอุปกรณ์รับเสียงไร้สาย (Hearables – Wireless headphones, earpieces, etc.)

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ต้นฉบับของบทความนี้ ขึ้นต้นหัวข้อข่าวว่า “ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย” ในทำนองว่าแม้แต่บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ ก็ไม่สามารถทำอะไรตามใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประเทศที่เป็นแหล่งต้นคิดแนวคิดหารายได้ใหม่ๆ อยู่อย่างต่อเนื่องอย่างสหรัฐฯ ก็ต้องใส่ใจในเรื่องนี้มากเป็นธรรมดา ซึ่งกรณีนี้ ในเบื้องต้นอยากนำเสนอไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า การลอกเลียนทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นนั้น ย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงในเวทีระดับโลก ผู้ที่คิดจะซื้อขายสินค้าในระดับระหว่างประเทศจะต้องพึงระวังเอาไว้เสมอ และในทางกลับกัน เมื่อเรามีความคิดล้ำหน้าแปลกใหม่ ก็ไม่ควรจะคิดแค่จะผลิตออกมาเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อขายแล้วก็จบกัน ควรจะมีกรอบความคิดแบบตะวันตกในแง่มุมของการห่วงหวงและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอาไว้ด้วยการนำไปจดสิทธิบัตรไว้ด้วย หากแนวคิดใหม่ๆ ของเราเองนั้น ยิ่งน่าประทับใจมากเพียงใด ก็ยิ่งจะมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกลอกแบบไปแล้วเอาไปจดสิทธิบัตรกลายเป็นของคนอื่นไปได้เช่นกัน แล้ววันหนึ่งผู้ที่คิดค้นอาจถูกข้อหาว่าไปลอกความคิดของตนเองจากสิทธิบัตรผู้อื่นก็เป็นได้ อย่างเช่นในกรณีระหว่าง Apple กับ Masimo Corp นี้ ก็เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายต่างก็ชี้นิ้วกล่าวหาว่าอีกฝ่ายลอกเลียนเทคโนโลยีที่ตนพัฒนา ซึ่งหาก Apple นำเรื่องขึ้นสู่ศาลฯ จริง ก็คงจะได้เห็นผลในไม่ช้าว่าใครลอกใครกันแน่

นอกจากจะเตือนเรื่องนี้แล้ว ก็อยากให้กำลังใจ บรรดา Startup สัญชาติไทย ตลอดไปจนถึงบรรดานักเรียนนักศึกษาที่มีไอเดียดีๆ แปลกๆ ใหม่ๆ ยังไม่เคยมีใครนำมาสร้างสรรค์ให้มาอยู่ในรูปแบบสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพื่อแลกสินค้าหรือบริการนั้นๆ ในอดีต คนไทยรุ่นเก่าๆ แม้จะมีไอเดียแก้ไขปัญหาชีวิตและการงานที่แสนจะชาญฉลาดเพียงใด แต่ก็มักจะใช้แก้ปัญหาในกรอบการดำเนินชีวิตของตนแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น แต่ก็น่าดีใจที่ในยุคนี้ เราได้เห็นคนรุ่นใหม่ๆ นำเอาการแก้ปัญหาเล็กๆ เหล่านั้นมาคิดต่อแล้วก็ขยายกรอบการแก้ปัญหาให้ไปตอบโจทย์ในใจคนรอบข้าง แล้วก็กลายเป็นธุรกิจ Startup กันไปมากแล้ว สำหรับนวัตกรชาวไทยที่ตั้งใจจะนำแนวคิดสร้างสรรค์ของตนมาสร้างเป็นธุรกิจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา ระดับกิจการตั้งใหม่ และระดับกิจการที่กำลังจะขยายกิจการ ทุกคนล้วนทราบดีว่า อัตราความสำเร็จของกิจการ Startup นั้นยังต่ำอยู่มาก นักลงทุนในไทยที่มาสายนี้ ก็ยังมีกรอบจำกัดอยู่มาก การระดมทุนจากภายในประเทศอาจจะมีข้อจำกัดมากมาย แต่สำหรับแนวคิดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีโอกาสสยายปีก ออกไปตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคนานาชาติได้ด้วยนั้น ในสหรัฐฯ ก็ยังมีโอกาสอยู่มากที่นวัตกรจากทั่วทุกมุมโลก จะสามารถเข้ามานำเสนองานเพื่อระดมทุนจากบรรดานักลงทุนแบบร่วมกิจการ (Venture Capitalist) หรือนักลงทุนเทพยดา (Angel Investor) ซึ่งแม้จะมีชื่อเรียกที่ดูเหมือนใจดี แต่การที่เขาเหล่านั้นจะนำเงินทุนมาลงทุนในกิจการใหม่ๆ นั้นก็ต้องผ่านการคัดสรรค์อย่างเข้มข้น แม้หลักคิดคือการลงทุนในกิจการเล็กๆ ที่เสี่ยงจะไปไม่รอดสูงหลายๆ กิจการเพราะหากมีเพียงไม่กี่รายที่รอดผ่านช่วงตั้งไข่มาได้ก็จะมีโอกาสขยายตัวแบบทวีคูณก็จริง แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่านักลงทุนผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ เขาก็จะเน้นๆ เลือกแต่รายที่มีโอกาสรอดได้จริงๆ เท่านั้น การระดมทุนเช่นนี้ จึงไม่อาจอาศัยไอเดียบรรเจิดเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องลงแรงทำการบ้านมาอย่างดีด้วย

ในสหรัฐฯ ยังมีแรงสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นที่พยายามสร้างงานในพื้นที่ตนโดยมีภาครัฐสนับสนุนอยู่ห่างๆ ที่ว่าห่างๆ ก็คือมักจะไม่ได้ลงเงินทุน แต่เป็นการลงแรง ช่วยให้ความรู้ สร้างเครือข่ายเป็นหลัก ในรัฐฟลอริดานี้ ก็มีชุมชนที่เอาจริงเอาจังกับการปั้น Startup ที่กิจการนั้นๆ เหมาะที่จะมาดำเนินกิจการในสหรัฐฯ (ฟลอริดา) ได้ โดยได้มีการสร้างเครือข่ายและหลักสูตรบ่มเพาะ Startup เพื่อตัดจุดอ่อน เพิ่มพลังจุดแข็งให้ Startup ที่มีศักยภาพ ด้วยเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการประสบความสำเร็จให้สูงขึ้นๆ อบรมเสร็จ ก็จะเลือกกิจการที่เป็นไปได้จริงๆ มานำเสนองานกับบรรดานักลงทุนแบบร่วมกิจการและนักลงทุนเทพยดาเพื่อระดมทุนต่อไปเลย สัปดาห์นี้ขอจบแค่นี้ก่อน แล้วสัปดาห์หน้าจะนำรายละเอียดมาขยายให้ทราบต่อ ว่าผู้ประกอบการไทยมีสิทธิสมัครหรือไม่ ต้องทำอย่างไร แพงไหม และหากมีใครสนใจจะมาจริงๆ สคต. ไมอามีก็ยินดีจะช่วยประสานให้

*********************************************************

ที่มา: NDTV World
เรื่อง: “‘Not Above The Law’: Apple Watch Models Face US Import Ban”
โดย: Agence France-Presse
สคต. ไมอามี /วันที่ 27 ตุลาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login