อันดับ 1 ผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนไทย จีนเป็นประเทศที่มีความต้องการบริโภคทุเรียนสูงสุดในตลาดโลก และต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2562 ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดของจีนแซงหน้าการนำเข้าเชอร์รี่ที่เคยเป็นที่นิยม
และทุเรียนกลายเป็นผลไม้นำเข้าปริมาณมากที่สุดของจีน โดยปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนในปี 2563 อยู่ที่ 575,900 ตัน และเพิ่มเป็น 825,000 ตัน ในปี 2565 (โดยทุเรียนของไทยคิดประมาณร้อยละ 95 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน) ทั้งนี้ ทุเรียนผลิตภายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้รับความนิยมจากหมู่ผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง
ทุเรียนไทยที่จะจำหน่ายในตลาดฉงชิ่ง
อันดับ 2 ข้าวไทย ปัจจุบันข้าวหอมมะลิไทยยังเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงมากในตลาดจีน และได้รับยอมรับและชื่นชอบจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสถิติของแพลตฟอร์ม JD.com พบว่า ในปี 2565 ปริมาณจำหน่ายข้าวสะสมบนแพลตฟอร์ม JD.com อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านถุง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านหยวน โดยปริมาณและมูลค่าการจำหน่ายของข้าวหอมจากไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวจีนยังให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นในยุคหลัง Covid-19 และมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ล้วนมีความต้องการบริโภคข้าวชนิดอื่นๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการนอกเหนือจากข้าวหอมมะลิด้วย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสี รวมถึงข้าวออร์แกนนิก ประเภทต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มมากขึ้น
คูหา Thailand Pavilion งานแสดงสินค้า China Food & Drink
อันดับ 3 อาหารประเภทขนมขบเคี้ยว จากสถิติของ China Business Industry Research Institute ระบุว่า มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมอาหารขนมขบเคี้ยวของจีนเพิ่มขึ้นจากเดิม 822.4 พันล้านหยวนในปี 2559 เป็น 1,298.4 พันล้านหยวนในปี 2563 ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ ร้อยละ 12.09 ทั้งนี้ ตลาดของอุตสาหกรรมอาหารขนมขบเคี้ยวของจีนได้ขยายตัวเพิ่มเป็น 1,520.4 พันล้านหยวนในปี 2565 ปัจจุบันมีขนมขบเขี้ยวจากไทยเข้ามาทำตลาดในมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี
ขนมขบเคี้ยวไทยที่จำหน่ายในตลาดเฉิงตู
อันดับ 4 มันสำปะหลังมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ส่วนในประเทศจีน มันสำปะหลังจะมีการปลูกในพื้นที่กึ่งเขตร้อนทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 รองจากข้าว มันเทศ อ้อย และข้าวโพด ทั้งนี้ แป้งมันสำปะหลังนำเข้า แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แป้งมันสำปะหลัง Food-grade และแป้งมันสำปะหลังที่ใช้ในอุตสาหกรรม ด้วยคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกัน มันสำปะหลังของจีนส่วนมากนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบอาหาร เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ และเส้นก๋วยเตี๋ยว อีกประเภทหนึ่งนำมาแปรรูปเป็นแป้งมันฯ Modified เพื่อให้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยา อุตสาหกรรมเบา ฯลฯ นอกจากนี้ แป้งมันฯ ยังสามารถแปรรูปเป็นน้ำตาลแป้งและน้ำตาลแอลกอฮอล์เพื่อผลิตน้ำตาลใช้กับการผลิตอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ เช่น ฟรุกโตส กลูโคส มอลโทส โอลิโกแช็กคาโรด์ และทรีฮาโลส เป็นต้น นอกจากนี้ เศษมันสำปะหลังที่หลังจากการแปรรูปยังสามารถผลิตเป็นสารปรุงแต่งอาหารสัตว์โดยผ่านขั้นตอนอบแห้ง ทั้งนี้ แป้งมันฯ จึงมีความต้องการสูงมากในตลาดจีน ตลอดจนในมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.
ผู้ประกอบการไทยใน 4 กลุ่มสินค้าไทยที่มีศักยภาพในมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง หากมีความสนใจที่จะเข้ามาเจาะตลาดดังกล่าว สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรม Online Business Matching การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ในประเทศจีนโดยเฉพาะในมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค พบปะผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และศึกษากฎระเบียบต่างๆ ให้เข้าใจถูกต้อง ชัดเจน เพื่อวางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
————————————————–
ที่มา :
https://www.sohu.com/a/715625157_121124522
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1760513544597470935&wfr=spider&for=pc
https://www.10100.com/article/22377
https://baike.baidu.com
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)