หน้าแรกTrade insight > ตุรกี ตลาดพันล้านสำหรับสินค้าสัตว์เลี้ยง

ตุรกี ตลาดพันล้านสำหรับสินค้าสัตว์เลี้ยง

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวตุรกีนิยมเลี้ยงแมว โดยจากข้อมูลการสำรวจประชากรแมวในตุรกีเมื่อปี 2022 ปรากฏว่าทั่วทั้งตุรกีมีแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงอยู่มากถึง 4.7 ล้านตัว โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่รวมถึงแมวจรที่ไม่มีเจ้าของอีกเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบก็คือ นอกจากแมวแล้วชาวตุรกีนิยมเลี้ยงสุนัขด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะไม่มากเท่าแมวแต่ก็มีจำนวนสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านอยู่ในตุรกีมากกว่า 1.4 ล้านตัวเลยทีเดียว

 

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นพอจะบอกได้ว่า ตุรกีนับเป็นอีกหนึ่งตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าสัตว์เลี้ยง ดังจะเห็นได้จากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีงานแสดงสินค้าสัตว์เลี้ยงที่สำคัญระดับนานาชาติจัดขึ้นในตุรกีถึง 2 งาน โดยงาน Pet Izmir 2023 ซึ่งเน้นการเจรจาการค้าจัดขึ้นก่อนในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566 นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานมากกว่า 40,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ซื้อจากต่างประเทศมากกว่า 2,000 ราย ส่วนอีกงานที่ถือเป็นงานสินค้าสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดของตุรกีคืองาน PETZOO Eurasia 2013 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอิสตันบูลระหว่างวันที่ 12-15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้เข้าเยี่ยมชมงานมากกว่า 250,000 ราย ทั้งชาวตุรกีเองและอีก 120 ประเทศทั่วโลก

 

หน่วยงาน National Fair Organization ของตุรกี ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมงานต่างๆ ในตุรกีให้ข้อมูลว่า งานดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงผลักดันให้กับภาคธุรกิจด้านสัตว์เลี้ยง โดยการจัดงานในปีนี้ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 9 มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถเข้าถึงตลาดทั้งในตุรกีเองและในต่างประเทศ และมุ่งหมายจะสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจอื่นๆ ในระดับโลก โดยภายในงานนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ สินค้า และอุปกรณ์เสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงสำหรับสัตว์เลี้ยงหลายประเภท ตั้งแต่ แมว สุนัข นก ปลา และอื่นๆ อีกมากมายแล้ว ยังครอบคลุมถึงธุรกิจบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นการอาบน้ำ แต่งขน ฝึกและเลี้ยงดู บริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลด้วย

 

สำหรับสินค้าที่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าเยี่ยมชมงานได้เป็นอย่างดี อาทิ เสื้อผ้าและอุปกรณ์เสริมที่ออกแบบมาสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เตียงนอนสำหรับสัตว์เลี้ยงสุดหรูด้วยราคาที่สูงมากเช่นกัน ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสินค้าสัตว์เลี้ยงในงานนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตของเจ้าของสัตว์เลี้ยงง่ายขึ้น แต่ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งคนและสัตว์เลี้ยงอีกด้วย อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ระบบควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงจากระยะไกล โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถพบเห็นได้อย่างแพร่หลายจากผู้จัดแสดงสินค้าหลายราย นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเทรนด์สัตว์เลี้ยงใหม่ๆ ช่างตัดแต่งขนสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ การจัด “แฟชั่นโชว์สัตว์เลี้ยง” และการแสดงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ซึ่งดึงดูดความสนใจของบรรดาเหล่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งกิจกรรมฝึกอบรมสัมมนาโดยมีวิทยากรเฉพาะทางในหัวข้อต่างๆ

 

นาย Selçuk Çetin ผู้จัดการทั่วไปของหน่วยงาน National Fair Organization ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงมีความเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวถึง 150 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยบวกที่สนับสนุนการเติบโตนี้คือช่วงเวลาที่ทุกคนใช้อยู่ที่บ้านในระหว่างการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น และรวมถึงเทรนด์ใหม่ๆ ในภาคส่วนอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงนี้

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

ภาคธุรกิจสำหรับสัตว์เลี้ยงทั้งในส่วนของสินค้าและบริการถือเป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานับสิบปีแล้ว แต่การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังโดยพาะอย่างยิ่งคือการเติบโตแบบสวนกระแสธุรกิจอื่นในช่วงวิกฤตการณ์โควิดยิ่งทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและต้องจับตามอง โดยในส่วนของตุรกีเองนั้น ในปัจจุบันมีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมดังกล่าวเกือบหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องคิดเป็นมูลค่าประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

สำหรับประเทศไทยเองที่มีจุดแข็งในด้านการผลิตสินค้าอาหารรวมทั้งอาหารสัตว์อยู่แล้วน่าจะถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในจะสามารถขยายตลาดได้ในอุตสาหกรรมดังกล่าว และนอกจากสินค้าอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงแล้ว สินค้าอื่นๆ สำหรับสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นของเล่น แฟชั่น เครื่องใช้ต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับสินค้าในกลุ่มนี้คือ นวัตกรรมและการรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและสามารถขยายตลาดได้ในระยะยาว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login