หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ต้องรู้! เทรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์

ต้องรู้! เทรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์

การติดตามเทรนด์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง จัดการกับความท้าทาย และพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจ และสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างสิงคโปร์

เทรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ ปี 2566 มีดังต่อไปนี้

  1. ความต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพจากธรรมชาติ (Naturally Healthy) เพิ่มขึ้น อาหารสำเร็จรูปบรรจุห่อ โดย เฉพาะในกลุ่มขนมขบเคี้ยวได้มีการผสมวัตถุดิบอย่างธัญพืชเพื่อสุขภาพ (Super seeds) เช่น งาดำ เมล็ดเจีย (Chia Seed) เมล็ดแฟลกซ์ (Flax Seed) และธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี หรือขัดสีน้อย (Wholegrain) เป็นต้น
  2. ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมี่ยมเพื่อรองรับผู้ซื้อที่มีรายได้สูง ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงในสิงคโปร์กำลังมองหาอาหารคุณภาพสูงและวัตถุดิบนำเข้าชั้นดี เพื่อมาประกอบอาหารแบบร้านอาหารที่บ้าน ส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมี่ยมต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ตัวอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมี่ยมในสิงคโปร์ ได้แก่ FairPrice Finest , Ryan’s Grocery, Culina เป็นต้น
  3. ความนิยมในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาที่ย่อมเยา ในช่วงโควิด-19 ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคามากขึ้น จึงส่งผลดีต่อร้านค้าปลีกกลุ่มนี้ โดยเฉพาะร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมตามย่านที่อยู่อาศัย ภายในปี 2568 ยอดขายซูเปอร์มาร์เก็ตคาดว่าจะสูงถึงประมาณ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ยอดขายร้านสะดวกซื้อคาดว่าจะสูงถึง 3,900 ล้านเหรีญสหรัฐฯ ในทางตรงกันข้าม ไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังเผชิญกับการแข็งขันที่รุนแรงและมีแนวโน้มที่จะประสบกับปัญหายอดขายที่ลดลง
  4. ความกังวลถึงความยั่งยืน ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก จึงส่งผลให้เกิดความต้องการซื้ออาหารออร์แกนิก อาหารจากพืช และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของยาฆ่าแมลงต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพจากส่วนผสมดัดแปลงทางพันธุกรรม ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมน ทำให้เกิดความต้องการในอาหารกลุ่มนี้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเพิ่มความสนใจในกลุ่มอาหารที่ทำจากพืช (Plant-Based Foods) เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ร้านค้าปลีกและสถานให้บริการด้านอาหารต่างนำเสนออาหารทางเลือกกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ยังชื่นชอบวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรีไซเคิลได้
  5. ความต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ชาวสิงคโปร์เริ่มกลับมาเรียนหรือทำงานนอกบ้าน ดังนั้นความสะดวกสบายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ อาหารบรรจุกล่อง พกพาสะดวก หรืออาหารปรุงสำเร็จที่สามารถอุ่นในไมโครเวฟ หรือเตาอบจึงเป็นที่ต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น ตลาดอาหารปรุงสำเร็จในสิงคโปร์คาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 7% ภายในปี 2570 อาหารแช่แข็ง พาสต้า บะหมี่ และซุป เป็นกลุ่มอาหารที่มีการเติบโตเป็นอย่างมากในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน โดยตลาดอาหารแช่แข็งมีมูลค่า 244,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 312,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 5% แนวโน้มการเติบโตดังกล่าวมาจากการพัฒนาการค้าปลีก ความต้องการซื้ออาหารพร้อมรับประทานที่เพิ่มขึ้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังมีแนวโน้มที่จะสั่งอาหารกลับบ้าน หรือจัดส่งที่บ้าน และรับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาทำให้ชาวสิงคโปร์ไม่ค่อยประกอบอาหารที่บ้าน
  6. การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซและการซื้อของกินของใช้ในบ้านออนไลน์ ตลาดการซื้อของกินของใช้ในบ้านออนไลน์ในสิงคโปร์คาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้อีคอมเมิร์ซจะสูงถึง 4.33 ล้านคนภายในปี 2570 ปัจจุบันผู้บริโภคประมาณ 3.33 ล้านคนในสิงคโปร์ซื้อสินค้าออนไลน์ และผู้บริโภคชนชั้นกลางสิงคโปร์ใช้เวลาออนไลน์เกือบ 9 ชั่วโมงทุกวัน และตลาด
    อีคอมเมิร์ซธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโต 19.02% ทุกปีจนถึงปี 2570
  7. การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้านอาหารและเครื่องดื่มออนไลน์ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2564 หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2563 ที่มีการปิดร้านในช่วงโควิด-19 ข้อมูลจาก Data Reportal 2565 อาหารที่ซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซพุ่งสูงขึ้น 758% ด้วยมูลค่า 151.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 68.1% ด้วยมูลค่า 42.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  8. การฟื้นตัวของภาคบริการด้านอาหารหลังโควิด -19 ที่มีการปิดหน้าร้านและปิดประเทศ ในปี 2565 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของสิงคโปร์มีอัตราการเติบโต 22 % และคาดว่าจะโตขึ้น 8% ในปี 2566 ร้านอาหารและร้านกาแฟต่าง ๆ ในสิงคโปร์ได้รับการฟื้นฟูจากหลาย ๆ ด้าน เช่น การมี Michelin Guide การมุ่งเน้นความยั่งยืนและความโปร่งใส และวัฒนธรรมกาแฟที่เจริญรุ่งเรือง อย่างไรก็ดี บริการส่งอาหารตามบ้าน เช่น GrabFood และ FoodPanda ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ที่ยังแสวงหาความสะดวกสบายในการบริโภค แม้ว่าประชาชนจะกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านอีกครั้ง
  9.  การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและแนวโน้มผู้บริโภค ข้อมูลจาก Monetary Authority of Singapore (MAS) ระบุว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโต 3.6% ในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตในระดับกลางในปี 2566 สภาพตลาดแรงงานที่ดีขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคกล้าใช้จ่ายมากขึ้น และนำไปสู่ความต้องการอาหาร
    คุณภาพสูง อาหารออร์แกนิก และอาหารสดที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม MAS คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจจะทำให้มีการใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้ GDP จะเติบโตระหว่าง 0.5% – 2.5% ในปี 2566 ภาคการผลิตซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มลดลง 6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลง 2.6% ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจหลายด้าน แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยังคงเป็นส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจสิงคโปร์ และก่อให้เกิดโอกาสหลายด้านสำหรับธุรกิจทุกขนาดอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในนโยบาย Soft Power ที่สำคัญของไทย การสำรวจความนิยม และเทรนด์ตลาดแต่ละประเทศ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย สามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความนิยมในตลาด ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจในการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มมายังสิงคโปร์ ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การแปรรูป เพื่อการผลิตและส่งออกที่ได้มาตรฐานและติดตามแนวโน้มและสถานการณ์ตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login