หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > รายงานสถานการณ์สงครามในอิสราเอล ฉบับที่ 3

รายงานสถานการณ์สงครามในอิสราเอล ฉบับที่ 3

รายงานสถานการณ์สงครามในอิสราเอล ฉบับที่ 3 ดังนี้

1. ลำดับเหตุการณ์
• วันศุกร์ที่ 13 ต.ค.66 ถึง วันอังคารที่ 17 ต.ค.66
– การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศในการทิ้งระเบิดฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาสในกาซาและเลบานอน
– ประชาชนยุติชั่วคราวการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเรื่องการปฏิรูประบบตุลาการ มีการบริจาคโลหิต สิ่งของ อาหาร น้ำ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ลี้ภัย และทหาร
– ด่าน Rafah ชายแดนอิสราเอล-อียิปต์จะเปิดให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ปาเลสไตน์
– สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ อยู่ระหว่างอพยพแรงงานไทยที่ขอกลับประเทศไทย โดยมีเที่ยวบินทุกวัน ๆ ละ 2 เที่ยวบิน
– ในตอนกลางของประเทศรวมทั้งเทลอาวีฟ ยังคงมีไซเรนเตือนดังเป็นระยะ
• นับจากสงครามวันแรก มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน และบาดเจ็บกว่า 3,000 คน
2. เศรษฐกิจของประเทศอิสราเอลในภาวะสงคราม
กระทรวงเศรษฐกิจอิสราเอล รายงานว่า การค้าระหว่างประเทศ การนำเข้า ส่งออกจากอิสราเอลสามารถดำเนินการอย่างปกติ โดยกระทรวงเศรษฐกิจได้คอยดูแลอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอพบว่าปริมาณอาหารพียงพอกับจำนวนประชาชน อีกทั้งได้เฝ้าติดตามสถานะของสินค้าคงคลังในระบบเศรษฐกิจ และจัดการสินค้าคงคลังฉุกเฉินเชิงกลยุทธ์ความมั่นคงของประเทศแล้ว คาดว่าในขณะนี้สต็อกอาหารไม่มีปัญหาไม่มีการขาดแคลนอย่างมีนัยสำคัญ มีการขาดแคลนผักบางชนิดและนมสำหรับการบริโภคเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการหยุดการผลิตในภาคใต้
นับตั้งแต่สงครามเริ่มปะทุขึ้น มีการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและการบริโภคโดยทั่วไปเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านลอจิสติกส์สำหรับผู้ค้าปลีกในการเพิ่มสินค้าคงคลังของผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้ในสาขาเองและในการถ่ายโอนจากศูนย์กระจายโลจิสติกส์ไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งทางกระทรวงกล่าวว่าไม่มีปัญหากับสินค้าคงคลังและปริมาณ นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจดำเนินการศูนย์การจ้างงานฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
การค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าส่งออกอิสราเอลยังดำเนินไปตามปกติ ผู้แทนฝ่ายเศรษฐกิจใน 50 สถานทูตอิสราเอลทั่วโลกทำงานตามปกติ ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศของอิสราเอล ขณะนี้ไม่มีปัญหาพิเศษใดๆ ด่านทั้งหมดเปิดให้นำเข้าและส่งออกได้ โดยกระทรวงเศรษฐกิจเป็นแกนนำโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจในอิสราเอลและร่วมมือกับทุกหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
3. การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล
• ปัจจุบัน อิสราเอล เป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย และอันดับ 6 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
• ในปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล มีมูลค่า 856.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว ร้อยละ 1.15) โดยไทยส่งออกไปอิสราเอล 545.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว ร้อยละ 12.62) และนำเข้าจากอิสราเอล 311.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง ร้อยละ 14.18)
• ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล มีมูลค่า 1,401.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 9.96) โดยไทยส่งออกไปอิสราเอล 850.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 2.92) และนำเข้าจากอิสราเอล 551.66 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ขยายตัว ร้อยละ 22.9)
• สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และข้าว เป็นต้น
• สินค้านำเข้าสำคัญจากอิสราเอล 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้เป็นต้น
4. ผลกระทบต่อไทย
• การขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์กระจายสินค้าภายในประเทศล่าช้าและมีปัญหาอุปสรรคมากขึ้นเมื่อสงครามยืดเยื้อและชยายวงกว้าง
• ในภาวะปกติ จากข้อมูลสถิติการค้าระหว่างไทยกับอิสราเอล จะเห็นได้ว่า มีแนวโน้มที่ดีมาก มูลค่าการส่งออกไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงทุกปี ในปี 2564 อัตราขยายตัว ร้อยละ 41 ในปี 2565 ร้อยละ 14 และ ในปี 2566 (มค.-ส.ค.) ร้อยละ 12.62
• อิสราเอล เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็งยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย ดังนั้น หากสงครามยุติได้เร็ว ก็คาดว่าอิสราเอลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วมาก
• บริษัท Diplomat ผู้นำเข้าสินค้าอาหารไทย มีข้อกังวลในการขนส่งสินค้าและต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นเนื่องจากน้ำมันแพงขึ้นในภาวะสงคราม และมีความเห็นว่าจะนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยในปริมาณเท่ากับในภาวะปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานข่าวของกระทรวงเศรษฐกิจว่าปริมาณอาหารพอเพียงใช้บริโภคในประเทศ
• ร้านค้าปลีกและซุปเปอร์มาเก็ตในเทลอาวีฟและโซนที่ค่อนข้างปลอดภัยเปิดจำหน่ายตามปกติ ผู้คนไม่ตื่นตระหนกและกักตุนอาหาร อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารมีผู้ใช้บริการลดน้อยลงอย่างมาก คาดว่าผู้คนใช้บริการ delivery อาหารจำนวนเพิ่มมากขึ้น
4.1 ผลกระทบเชิงบวก
ในช่วงสงครามและหลังสงคราม โอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากภาวะสงครามและการขาดแคลนสินค้า ประเทศไทยอาจมีโอกาสส่งออกสินค้าจำเป็นไปยังอิสราเอลเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ในระยะหลังสงครามน่าจะมีการนำเข้าปกติหรืออาจเพิ่มมากขึ้น แต่การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะลดลง และต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะฟื้นตัว
4.2 ผลกระทบเชิงลบ
1) ปัญหาการขนส่งสินค้าไทยไปยังประเทศอิสราเอลอาจจะล่าช้าและราคาค่าขนส่งแพงมากชึ้น และอยู่ภาวะสงครามยืดเยื้อและชยายวงกว้าง
2) สินค้านำเข้าจากอิสราเอลมายังไทย เช่น เพชร ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เป็นต้น อาจมีปัญหาในการผลิตและการส่งออกจากอิสราเอล
3) แม้ไทยอาจจะส่งออกสินค้าอาหารได้เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ไปตลาดอิสราเอลอาจชะลอลงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอิสราเอลลดลงเนื่องจากภาวะสงคราม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ
4) นักธุรกิจอิสราเอลอาจชะลอการเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ในปี 2567 หากสงครามยังไม่ยุติ

5. แนวทางการรับมือ
• ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่เกี่ยวข้องทุกวัน และวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึง
แนวทางการแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์
• หารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข
• ศึกษาโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย เพื่อทดแทนตลาดอิสราเอล หากสงครามยืดเยื้อรุนแรง

—————————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
17 ตุลาคม 2566

Login