หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > เงินเฟ้อล่าสุดลดลงเหลือร้อยละ 3.8 ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัวในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

เงินเฟ้อล่าสุดลดลงเหลือร้อยละ 3.8 ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัวในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์   ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม 2566

เงินเฟ้อล่าสุดลดลงเหลือร้อยละ 3.8 ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัวในแคนาดา

อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนกันยายน 2566 ลดลง ที่ร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 4 ในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2566 ยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 ซึ่งจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุด นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางแคนาดาอาจไม่มีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี 2566  อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางแคนาดาเคยประกาศว่าการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับร้อยละ 2 นั้นอาจใช้เวลานานกว่าที่เคยประเมินไว้และอาจมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหากสถานการณ์เงินเฟ้อยังคงพุ่งสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อเคยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.8 ในเดือนมิถุนายน 2566 แต่เงินเฟ้อได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2566 เนื่องจากราคาพลังงานได้เริ่มปรับสูงขึ้น

ภาพรวมในปัจจุบัน ภาวะเงินเฟ้อในแคนาดาเริ่มมีทิศทางปรับลดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูง (ต้นทุนการกู้ยืมสูง) ทำให้คนส่วนใหญ่ลดการบริโภค ลดการจับจ่าย นอกจากนี้ ราคาพลังงานได้เริ่มปรับลดลงอีกครั้งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (ก่อนที่ราคาพลังงานได้ปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากสถานการณ์สงครามในอิสราเอล) ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าหากสถานการณ์ในอิสราเอลไม่ปานปลาย ราคาพลังงานน่าจะปรับลดลงเนื่องจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงแคนาดา ซึ่งทำให้ธนาคารแคนาดาแทบจะไม่มีความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ และถ้าไม่มีปัจจัยภายนอก อาทิ Geoplitics ใหม่ๆ มากระทบ แต่หากสงครามขยายไปในภูมิภาคตะวันออกกลางก็มีความเสี่ยงที่ราคาพลังงานจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีก

อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ร้อยละ 5 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2544 ทำให้ผู้ที่มีภาระการกู้ยืมเงินตั้งแต่ภาคครัวเรือนจนถึงภาคธุรกิจต้องปรับพฤติกรรมในการลดการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีแนวโน้มการล้มละลายของภาคเอกชนและหนี้ครัวเรือนให้เห็นแล้ว ถึงแม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอาจอยู่จุดสูงสุดของวงจร (Cycle) แล้ว แต่นักวิเคราะห์มองว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นดัชนีทางเศรษฐกิจที่แสดงผลได้ช้า (Lagging indicator) ในการสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าเศรษฐกิจได้มีสัญญาณชะลอตัวมาหลายเดือนก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางแคนาดายังคงจับตาดูตัวเลขอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อของราคาสินค้าอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่ามีสัญญาณลดลงแล้วก็ตามจากระดับร้อยละ 6.9 ในเดือนสิงหาคม 2566 มาอยู่ที่ระดับ 5.8 ในเดือนกันยายน 2566 (เคยสูงสุดที่ระดับร้อยละ 11) ซึ่งระดับ Supply เริ่มปรับดีขึ้นในขณะที่ราคาอาหารที่สูงก็ส่งผลกระทบเชิงลบต่อ Demand ทำให้ความต้องการของสินค้าอาหารลดลง ทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปบริโภคสินค้าอื่นแทน อาทิ หันไปบริโภคเนื้อไก่ เนื้อสุกรแทนเนื้อวัวที่ราคาสูง หรือผู้คนหันไปจับจ่ายในห้างราคาประหยัด (Discount Store) มากขึ้น โดยนักวิเคราะห์มองว่าสภาวะในปัจจุบัน ตลาดเริ่มปรับเข้าสภาวะสมดุล และทิศทางราคาอาหารจะเริ่มปรับเพิ่มในอัตราลดลง (หรือราคาสินค้าอาหารบางรายการได้เริ่มปรับลดลงแล้ว) ปัญหาของ Supply Chain ในช่วงปีที่ผ่านมาได้คลี่คลาย แต่ปัญหาใหม่ที่ยังเผชิญในปัจจุบันมาจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงงานที่สูงขึ้น ที่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง

ในเดือนกันยายน 2566 ราคาสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ร้อยละ 0.4) ขณะที่ราคาสินค้าที่เกี่ยวกับบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง รวมไปถึงการใช้จ่ายเดินทางโดยเครื่องบินลดลงร้อยละ 21 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูง ค่าครองชีพที่สูง โดยค่าที่พักสูงขี้นร้อยละ 6 ในเดือนกันยายน 2566 เท่ากับเดือนก่อน ในขณะที่ค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ในเดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.5 ในเดือนสิงหาคม 2566

Core Inflation เป็นดัชนีเศรษฐกิจหลักที่ธนาคารกลางแคนาดาให้น้ำหนักในการพิจารณานโยบายทิศทางอัตราดอกเบี้ยมากกว่าการใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) โดย Core Inflation ล่าสุดในเดือนกันยายน 2566 ลดลงจากร้อยละ 3.6 มาเป็นร้อยละ 3.2 แสดงถึงสัญญาณเงินเฟ้อที่เริ่มอ่อนตัวลง แต่ยังประเมินว่ากว่าที่เงินเฟ้อจะลงไปสู่กรอบร้อยละ 2 อาจต้องใช้เวลานานถึงกลางปี 2568

 

ความเห็นของ สคต.         

เศรษฐกิจแคนาดามีสัญญาณชะลอตัวโดยมีแนวโน้มการหดตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคปรับลดการจับจ่าย ลดการลงทุน ที่เห็นได้จากบริษัทส่วนใหญ่ได้เริ่มประกาศปลดคนงานในภาคเทคโนโลยี (IT) ภาคการเงินการธนาคาร และการก่อสร้าง ถึงแม้ว่าแรงงานในภาคธุรกิจบริการยังคงแข็งแกร่ง แต่แนวโน้มไม่ค่อยสดใสมากนักเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มรัดเข็มขัดมากขึ้น ลดการจับจ่าย การเดินทาง ท่องเที่ยวและลดความถี่ในการรับประทานอาหารนอกบ้าน และถึงแม้ว่าสถานการณ์สงครามในอิสราเอลยังไม่ได้มีผลกระทบต่อการค้าไทย-แคนาดา แต่ปัจจัยราคาน้ำมันอาจส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง โลจิสติกส์ ซึ่งอาจกระทบกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคต

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login