หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > โอกาสใหม่ของพลอยสีในตลาดจีน

โอกาสใหม่ของพลอยสีในตลาดจีน

ในครึ่งแรกของปี 2566 ตามข้อมูลแนวโน้มการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับบนแอปพลิเคชัน Douyin ของจีน แสดงให้เห็นว่าการบริโภคออนไลน์ในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2565 – มิถุนายน ปี 2566 อัตราการเติบโตของเนื้อหาวิดีโอสั้นที่เกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับของจีนเพิ่มขึ้น 20.4% การค้นหาเนื้อหาที่เกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น 80.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี รวมถึงการไลฟ์สดที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น 61.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตามข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของจีน ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ราคาเฉลี่ยของพลอยสีในตลาดจีนทุกประเภท เพิ่มขึ้น 30%-50% และราคาพลอยสีอัญมณีที่มีกะรัตขนาดใหญ่หรือค่อนข้างหายากสูงถึง 100% – 150% ส่วนทับทิม ไพลิน และอัญมณีล้ำค่าอื่นๆ มีราคาเฉลี่ยต่อกะรัตเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ถึง 20,000 – 30,000 หยวน ส่วนประเภททั่วไป เช่น สเปสซาร์ไทต์ อะความารีน มอร์แกนไนต์ ฯลฯ เพิ่มขึ้น 10% -30% นอกจากนี้ ประเภททัวร์มาลีนและสปิเนล ยังได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบจากผู้บริโภคในจีนมากขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ดี ราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัญมณีและเครื่องประดับ ถือได้ว่าเป็นข้อมูลอ้างอิงความนิยมที่สำคัญของตลาด การที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยอมรับในคุณค่าเครื่องประดับประเภทนั้นๆ เป็นอย่างมาก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลราคาของพลอยสีของตลาดจีนในปัจจุบัน  จะเห็นได้ว่าพลอยสีกลายเป็นจุดสนใจใหม่ของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีนมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของจีน กล่าวว่า การที่ราคาของพลอยสีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น นอกจากจะมีผลมาจากอุปสงค์และอุปทานของตลาดจีนแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากทัศนคติของผู้บริโภคจีนที่เปลี่ยนแปลงอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลการบริโภคบนแอปพลิเคชัน พบว่าในปี 2566 กลุ่มผู้บริโภคในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีน มีสัดส่วนผู้บริโภคอายุประมาณ 18 – 35 ปีมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดการบริโภคเครื่องประดับของจีน เนื่องจากกลุ่ม Generation Y มีบทบาทมากในเชิงเศรษฐกิจ และเป็นฐานผู้บริโภคสำคัญในจีน บุคลิกภาพและแฟชั่นที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ติดตามจึงกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการบริโภค องค์ประกอบต่างๆ เช่น ความแวววาว สีที่มีความอิ่มตัวสูง และการเจียระไนแบบสามมิติของเครื่องประดับ ได้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นใหม่ในขณะนี้  อีกทั้งปัจจุบัน โซเชียลมีเดียยังทำให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายด้วยสีสันสดใส โดดเด่น ซึ่งเทรนด์ใหม่ๆ เหล่านี้ ผลักดันให้เกิดโอกาสใหม่ในตลาดพลอยสีของจีน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดจีน ปี 2566 พบว่า พลอยสี/อัญมณีราคาสูง เครื่องประดับเพชร และทองคำ K เป็นกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่มีอันดับความนิยมสูงบนแอปพลิเคชัน Douyin ของจีน แม้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายพลอยสีจะมีความผันผวน แต่ตลาดพลอยสีของจีนยังแสดงแนวโน้มการเติบโตและมีศักยภาพในการพัฒนาสูง

ส่วนทางด้านความต้องการในตลาดจีน เนื่องด้วยภายใต้กระแสการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มาแรงของจีนในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องประดับได้มีแนวโน้มไปทางการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การแสวงหาวัตถุดิบ การแปรรูป และการจำหน่ายเครื่องประดับเน้นสอดคล้องกับแนวคิดการปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมวิธีการรีไซเคิล ทองคำรีไซเคิลและเพชรพลอย รวมถึงการแสดงข้อมูลที่มาของวัตถุดิบอย่างโปร่งใส ขณะเดียวกัน ก็นำเทคโนโลยีมาใช้ในการแสดงการแสดงและการซื้อเครื่องประดับได้อย่างสะดวกสบาย เช่น การแสดงแสดงสินค้าผ่าน VR และการซื้อออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะสามารถขยายกลุ่มผู้บริโภคไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจีนมีการรับรู้และเข้าถึงพลอยสีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ชอบตามเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆและชอบความเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้พลอยสีที่มีสีสันและประเภทที่หลากหลายได้กลายเป็นที่นิยมในผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว รวมถึงเป็นที่นิยมสำหรับนักออกแบบและผู้มีอิทธิพลด้านแฟชั่น  โดยในจำนวนนี้ พลอยสีได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวหลังยุคปี 2000 และหลังยุคปี 1990 ในจีนเพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีการบริโภคเครื่องประดับพลอยสีอยู่ที่ประมาณหนึ่งพันหยวนขึ้นไป เมื่อพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดจีน มีแนวโน้มเป็นผู้บริโภคกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังหลักในการขับเคลื่อนการบริโภคของจีน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดพลอยสี ยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก

อย่างไรก็ดี ในขณะที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัว ความต้องการของผู้บริโภคในด้านคุณภาพเครื่องประดับและความเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการพลอยสีก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไป อย่างไรก็ตาม หากราคาพลอยสีขึ้นเร็วเกินไป อาจส่งผลให้ความเต็มใจซื้อของผู้บริโภคบางรายชะลอตัวลง ซึ่งหากพิจารณาโดยรวมแล้ว ในอนาคตราคาพลอยสีอาจยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป แต่การบริโภคอาจจะชะลอตัวลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องจับตามองต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกพลอยสี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้ความสนใจกับสถานการณ์ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีน รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถปรับกลยุทธ์การผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีน และสามารถรับมือกับสถานกาณ์ในตลาดพลอยสีของจีนและพัฒนาคุณภาพของพลอยสีของไทย ส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้ต่อไป

https://k.sina.com.cn/article_3974550866_ece6d552027015hnm.html

ภาพ: https://item.jd.com/

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login