ผู้บริโภคญี่ปุ่นกำลังนิยมรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศต่างๆในเอเชีย จากรายงานสถิติการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงการคลังพบว่า มีการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2565 มูลค่า 8,600 ล้านเยน (ประมาณ 2,100 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 3.1 เท่า สาเหตุมาจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ จึงมีผู้บริโภคกลุ่มผู้หญิงที่อยากรับประทานรสชาติอาหารประเทศต้นตำรับที่สะดวกในการหาซื้อ
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าจากประเทศเอเชีย จัดวางชั้นจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” จากประเทศไทยบริเวณทางเข้าร้านอย่างสะดุดตา ซึ่งทางร้านกล่าวว่า เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและร้อยละ 80 ของลูกค้าซื้อสินค้านี้
สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้า ร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศเกาหลีใต้ ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายตัวสูง โดยปี 2565 นำเข้าจากประเทศเวียดนามมูลค่า 500 ล้านเยน (ประมาณ 124 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 5.6 เท่า และนำเข้าจากประเทศไทยมูลค่า 510 ล้านเยน (ประมาณ 127 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2560 จากความนิยมดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศหันมานำเข้าสินค้าของบริษัทที่ผลิตในต่างประเทศ เช่น บริษัท ACECOOK Co.,Ltd. ที่ตั้งโรงงานผลิตในประเทศเวียดนามเมื่อปี 2536 จนปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40 และกลายเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ในประเทศเวียดนาม บริษัทได้เริ่มนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “HaoHao” อย่างจริงจังในปี 2561 ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายคือคนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นเองก็มีแนวโน้มซื้อเพิ่มขึ้น และยอดจำหน่ายในปี 2565 เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปีแรกที่เริ่มจำหน่าย ปัจจุบัน มีซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่หลายเจ้าติดต่อบริษัทเพราะสนใจวางจำหน่าย บริษัทเห็นว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นต้องการรสชาติบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นแบบดั้งเดิมที่เหมือนกับที่จำหน่ายในประเทศนั้นๆ ไม่ได้ปรับแต่งรสชาติให้เข้ากับคนญี่ปุ่น จากความนิยมดังกล่าว บริษัทมีแผนนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสสุกี้ไทย “Mi Lau Thai” ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทนิชชินได้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในประเทศไทย และในเดือนเมษายน บริษัทอายิโนโมโตะได้นำเข้าและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ” รสต้มยำกุ้งของบริษัทลูกในประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้เป็นการจำหน่ายแบบจำกัดระยะเวลาแต่บริษัทกำลังพิจารณาที่จะจำหน่ายตลอดทั้งปี
จากการคาดการณ์โดยสมาคม World Instant Noodles Association พบว่า ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโลกในปี 2565 เท่ากับ 121,200 ล้านห่อ/ถ้วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคภายในครัวเรือนมากขึ้น นอกจากนี้ สมาคม ยังได้คาดการณ์ความต้องการในแต่ละภูมิภาคโดยพบว่า ปี 2565 ประเทศจีนและฮ่องกง มีความต้องการสูงสุด และมีประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และญี่ปุ่นที่ครองอันดับต้นๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมในประเทศกลุ่มทวีปเอเชียที่มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารประเภทเส้นในน้ำซุป
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นเป็นคนคิดค้นขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกที่ขาดแคลนอาหาร ผู้ก่อตั้งบริษัทนิชชิน ได้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นครั้งแรกในปี 2501 และในปี 2513 ได้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยเป็นครั้งแรก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้แพร่หลายไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ และปรับรสชาติให้เข้ากับผู้บริโภคประเทศนั้นๆ ปัจจุบัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศต่างๆ ได้ถูกส่งกลับมาเพื่อนำเข้าประเทศญี่ปุ่นและได้รับนิยมจากผู้บริโภคญี่ปุ่น
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศหรือมีการจำกัดในการรับประทานอาหารนอกบ้านได้ตามมาตรการการป้องการการแพร่ระบาด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงกลายเป็นสินค้าที่พอจะทดแทนความต้องการสัมผัสกับความเป็นต่างประเทศได้ง่ายในราคาย่อมเยา ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากประเทศในเอเชียได้รับความนิยมจากผู้บริโภคญี่ปุ่น นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่สามารถรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดได้มากกว่าแต่ก่อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีรสเผ็ดอย่างรสต้มยำกุ้งจึงได้รับความนิยม อาหารไทยหรืออาหารในชาติเอเชียต่างๆได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบัน ร้านอาหารไทยยังคงจำกัดอยู่ในเขตเมืองใหญ่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เข้าถึงง่ายเพราะมีช่องทางจำหน่ายหลากหลายจึงเป็นตัวแทนที่ดีที่ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่และไม่มีร้านอาหารไทยได้รู้จักอาหารไทยและรสชาติอาหารไทย จึงเป็นการช่วยส่งเสริมและผลักดันอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในวงกว้าง
ฉบับที่ 2 ประจำวันที่ 7 – 13 ตุลาคม 2566 -DITP
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2566
ภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์
https://www.nikkei.com/article/DGKKZO74845780Y3A920C2FFJ000/
https://www.ajinomoto.co.jp/yumyum/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)