งานแสดงสินค้าอาหารระดับนานาชาติ Anuga 2023 ได้จัดขึ้นแล้วระหว่างวันที่ 7 – 11 ตุลาคม 2566 ที่เมืองโคโลญ ในครั้งนี้มีหัวข้อหลักในการจัดงาน คือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” (Sustainable Growth) มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ามากกว่า 7,500 รายจากทั่วทุกมุมโลกและคาดว่าจะมีผู้เข้าชมมากกว่า 130,000 ราย โดยครั้งนี้งานแสดงสินค้ามุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์จากพืช และผลิตภัณฑ์ฮาลาล ในฐานะที่ Anuga เป็นงานแสดงสินค้าอาหารชั้นนำของโลก ผู้จัดงานจึงอยากใช้โอกาสนี้ในการอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับขยะอาหาร พร้อมทั้งเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนระหว่างผู้แสดงสินค้าและสถาบันชั้นนำต่างๆ
การลดขยะอาหารจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การแปรรูป ไปจนถึงขั้นตอนการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือและทำงานร่วมกัน
“เราต้องการสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการใช้เทคโนโลยีและกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาขยะอาหารโดยใช้งานแสดงสินค้า Anuga เป็นตัวกลางหลักในการพบปะแลกเปลี่ยนแนวความคิด เราทุกคนต้องร่วมมือกันและหาวิธีการเชิงนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งตรงตามธีมของงานแสดงสินค้าครั้งนี้” นาย Jan Philipp Hartmann ผู้อำนวยการงานแสดงสินค้า Anuga กล่าว
ตามที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรประบุว่า ภายในปี 2573 ประเทศในสหภาพยุโรปควรลดขยะจากอาหาร ทั้งจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน จากการสำรวจล่าสุดโดย Innova Market Insights ระบุว่า การลดขยะอาหารเป็นมาตรการสำคัญในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
จากผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 46 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะลดขยะอาหาร ในขณะที่ร้อยละ 39 มุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิล การอัปไซเคิล และการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเกือบเก้าในสิบ ยังให้ความสำคัญและตระหนักถึงสภาพแวดล้อมเป็นครั้งคราว เมื่อพวกเขาต้องตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร
เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีความคาดหวังกับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นเช่นกัน นั่นก็หมายความว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีวัตกรรมใหม่ๆ และมี แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อช่วยปรับปรุงระบบอาหารอย่างยั่งยืนนั้นมีมากกว่าแต่ก่อน
งานแสดงสินค้า Anuga นอกจากมีการเสนอโปรแกรมต่างๆให้ผู้ประกอบการและผู้เข้าร่วมงานแล้ว การเข้าร่วมงานยังเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่าย และความร่วมมือใหม่ๆ กับองค์กรต่างๆ โดยผ่านการประชุม การเวิร์คช็อป หรือการพบปะพูดคุยกันภายในงาน
ในงานแสดงสินค้า Anuga ครั้งนี้ มีโซน “Taste Innovation Show” ซึ่งจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม โดยมีแนวคิดความยั่งยืน เน้นนวัตกรรมใหม่ และเน้นความสร้างสรรค์ในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมา ผลิตภัณฑ์ที่ถูกคัดเลือกนำแสดงมีทั้งหมด 68 รายการ จาก 689 บริษัทที่ส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วมแข่งขัน และมี 10 ผลิตภัณฑ์ท์ได้รับคัดเลือกให้เป็น 10 สุดยอดนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจที่สุด จากการคัดเลือกของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักข่าวผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ และนักวิเคราะห์ วิจัยตลาด ตัวอย่างสุดยอดนวัตกรรมที่นำมาแสดง เช่น แผ่นข้าวปรุงรสสำเร็จรูปสำหรับทำซูชิ ทูน่ากระป๋องที่ทำมาจากสาหร่ายทะเลและโปรตีนจากพืช โยเกิร์ตที่ทำมาจากเมล็ดแอปริคอท ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สลัดไข่ที่ทำมาจากน้ำมันดอกทานตะวันและโปรตีนถั่วเหลือง เห็ดอบแห้งจากเห็ดป่าและเห็ดจากธรรมชาติ 100 % ปราศจากเกลือ และสารปรุงแต่งต่างๆ เบียร์ที่ผลิตจากแผ่นแป้งตอติญ่า เพื่อลดปัญหาขยะอาหารจากแผ่นแป้งตอติญ่าที่ผลิตออกมาแล้วมีขนาดไม่ได้มาตรฐาน แผ่นแป้งเหล่านี้จึงถูกนำมาผลิตเป็นเบียร์ตอติญ่า
อีกประเด็นสำคัญในงานแสดงสินค้า คือ อาหารที่ทำมาจากพืช สมาคมการค้าอาหาร (BVLH) กล่าวว่า ผู้บริโภคเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสุขภาพมากขึ้น และเรื่องของอาหาร เพราะการบริโภคอาหารนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากแบบสอบถามของสมาคมการค้าอาหาร พบว่า ร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขารับประทานอาหารแบบยืดหยุ่น กล่าวคือ รับประทานผัก ผลไม้ และรับประทานเนื้อสัตว์เป็นครั้งคราวเท่านั้น ในงานครั้งนี้จึงมีการนำเสนอแนวคิดและสินค้าทางเลือกที่ใช้พืชเป็นหลัก ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำสลัดข้าวโอ๊ต โปรตีนทดแทนจากพืช ไปจนถึงปลาทูน่าจากสาหร่ายทะเลและโปรตีนจากพืช
นาย Jan Wirsam นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์แห่งเบอร์ลิน กล่าวว่า สาหร่ายถือเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมแห่งอนาคต อุดมไปด้วยสารอาหาร มีโปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3 จำนวนมาก ทั้งนี้ มีการใช้สาหร่ายหลากหลายรูปแบบในอุตสาหกรรม แต่เมื่อพูดถึงสินค้าอุปโภคบริโภค สาหร่ายยังคงเป็นสิ่งใหม่อยู่ นาย Wirsam เชื่อว่า อุตสาหกรรมอาหารจะให้ความสำคัญกับอาหารจากพืชมากขึ้น บริษัทอาหารขนาดใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารจากพืช ซึ่งจะทำกำไรให้บริษัทอย่างมาก เนื่องจากเราใช้ทรัพยากรและใช้พลังงานน้อยลง
ที่มา :
tagesschau.de, anuga.de, gvpraxis
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)