หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > สัญญาณเศรษฐกิจแคนาดาเริ่มชะลอตัวครึ่งหลังปี 2566

สัญญาณเศรษฐกิจแคนาดาเริ่มชะลอตัวครึ่งหลังปี 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 2-6 ตุลาคม 2566

สัญญาณเศรษฐกิจแคนาดาเริ่มชะลอตัวครึ่งหลังปี 2566

เศรษฐกิจแคนาดาส่งสัญญาณชะลอตัวครึ่งหลังปี 2566 โดยตัวเลข GDP ได้เริ่มหดตัวนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ที่ลดลงร้อยละ 0.2 ขณะที่ GDP เดือนกรกฎาคม 2566 ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 0 (ไม่เปลี่ยนแปลง) โดย GDP ไตรมาส 2 ของปี 2566 ไม่มีการขยายตัว ที่ระดับร้อยละ 0 ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ที่ยังสามารถขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 0.6

ถึงแม้ว่าสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะไม่เป็นผลดีกับภาคธุรกิจและแรงงาน แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธนาคารกลางแคนาดา ที่มีความพยายามควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจแคนาดาเดือนกรกฎาคมที่ไม่มีการขยายตัวนั้น มีผลมาจากปัจจัยระยะสั้น ตั้งแต่การหยุดงานประท้วงที่ท่าเรือแวนคูเวอร์ (ท่าเรือสินค้าใหญ่ที่สุดในแคนาดา) วิกฤตไฟป่าที่รัฐบริติชโคลัมเบีย นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากธนาคาร CIBC มองว่าสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือมีความอ่อนแอนั้น อาจไม่ได้หมายความว่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ปัจจัยที่ทำให้ GDP มีท่าทีลดลงมาจากการหดตัวของภาคการผลิต (Manufacturing) ในประเทศ ซึ่งหดตัว
ร้อยละ 1.5 ในเดือนกรกฎาคม 2566 เนื่องจากระดับสินค้าคงคลัง (Inventory) ของภาคธุรกิจอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นการปรับลดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการหยุดงานประท้วงที่ท่าเรือแวนคูเวอร์ ผลการประท้วงหยุดงานยังทำให้ธุรกิจการขนส่งหดตัวถึงร้อยละ 3.4 อีกด้วย ส่งผลให้สินค้าทั้งส่งออกและนำเข้าต้องหยุดชะงักในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 (สินค้าที่แคนาดาส่งออก/นำเข้ากับประเทศในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมดรวมถึงไทยจะต้องขนส่งผ่านท่าเรือแวนคูเวอร์) การนำเข้าและส่งออกกับประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนก็มีการหดตัว (สหรัฐฯและจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของแคนาดา)

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจ เหมืองแร่ การสำรวจขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ ได้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารยังสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 2.3 นับว่าเป็นการขยายตัวรายเดือนสูงสุดตั้งแต่มกราคม 2566 (เดือนกรกฎาคมของแต่ละปีเป็นช่วง High Season ของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม) ทำให้ภาพรวมของภาคธุรกิจบริการสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 0.1 ในขณะที่ภาคการผลิตสินค้าคงทน (Durable Goods) หดตัวร้อยละ 0.3

สัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจประเมินว่าธนาคารกลางแคนาดาอาจไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง ซึ่งน่าจะมีการปรับขึ้นได้อีกเพียง 1-2 ครั้ง ก่อนที่นโยบายดอกเบี้ยจะปรับเป็นขาลงในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าธนาคารกลางแคนาดามีความน่าจะเป็น
ร้อยละ 27 ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ภายในเดือนตุลาคม 2566 นี้

นักวิเคราะห์อีกฝ่ายให้ข้อสังเกตว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลดีต่อการสกัดภาวะเงินเฟ้อ ที่เป็นผลมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 5) แต่ปัจจัยอื่นๆ อาทิ ทิศทางราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือ
การควบคุมของธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงแคนาดา และปัจจุบันราคาน้ำมันมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ทิศทางอัตราเงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้เป้าหมายกรอบเวลาที่ธนาคารกลางแคนาดาวางแผนให้เงินเฟ้อปรับลดมาสู่ระดับร้อยละ 2 อาจต้องถูกเลื่อนออกไปจนถึงปลายปี 2567

 

 

ความเห็นของ สคต.         

เศรษฐกิจแคนาดามีความแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิดซึ่งเป็นผลมาจากในขณะช่วงโควิด ประชาชนส่วนใหญ่วิตกกังวลต่อสถานการณ์ในขณะนั้นและการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้คนหันมาออมเงินแทนการจับจ่ายส่งผลให้ปริมาณเงินออมของชาวแคนาดาพุ่งสูงสุดในช่วงหลายสิบปี โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ระดับร้อยละ 26.5 ในไตรมาส 2 ปี 2564 นอกจากนั้น รัฐบาลแคนาดายังออกมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชนทั้งในภาคประชาชนและภาคธุรกิจทำให้เศรษฐกิจสามารถประคับประคองอยู่ได้ ซึ่งต่อมาหลังวิกฤตโควิด ปรากฏการณ์ Pent-Up Demand การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงโดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าขนส่งทางเรือที่สูงทั่วโลก ประกอบกับผลกระทบสงครามยูเครน-รัสเซีย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ แต่ด้วยนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งนับตั้งแต่มีนาคม 2565 จนมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5 ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการใช้จ่ายของผู้บริโภค อัตราหนี้ครัวเรือนมีการขยับเพิ่มขึ้น อัตราเงินออมที่ลดลงอย่างรวดเร็ว (Depleted Saving) เป็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ที่แคนาดาอาจเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า และยังคงมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจไม่สามารถลดลงในกรอบที่ธนาคารกลางแคนาดาตั้งไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มปรับสูงขึ้น ที่จะลามไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อื่นๆ ซึ่งแคนาดาอาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation ในปี 2567 ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำหรือหดตัวลง แต่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นปัญหาความท้าทายต่อการผลักดันส่งออกไทยมาแคนาดาด้วย

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 27926900)

——————————————————————-

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login