หน้าแรกTrade insight > เครื่องสำอางขนาดพกพาได้รับความนิยม

เครื่องสำอางขนาดพกพาได้รับความนิยม

ตั้งแต่เริ่มมีการผ่อนปรนการสวมหน้ากากให้ขึ้นกับความสมัครใจของแต่ละบุคคล ทำให้ยอดจำหน่ายหน้ากากและเครื่องสำอางมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการจำหน่ายหน้ากากลดลงในขณะที่เครื่องสำอางขนาดพกพามีการจำหน่ายมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน การสวมหน้ากากเป็นไปตามโอกาสและสถานที่ทำให้ต้องมีการถอดและสวมใส่หน้ากากสลับกันไปมามากขึ้น จึงทำให้มีการเติมเครื่องสำอางบ่อยครั้งขึ้น แม้รัฐบาลจะประกาศลดระดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นระดับ 5 แล้วก็ตาม แต่ผู้คนส่วนมากยังคงสมัครใจที่จะสวมใส่หน้ากากต่อไป และคาดว่าพฤติกรรมการสวมใส่หน้ากากยังคงต่อเนื่องอีกสักระยะ
พนักงานหญิง (32 ปี) ให้ความเห็นว่า “ถ้าถอดหน้ากากออกได้ก็อยากถอดออก แต่บางสถานที่ยังเป็นห่วงสายตาคนรอบข้าง จึงคิดว่า ยังไม่น่าจะถอดหน้ากากออกได้ตลอด โดยปกติ หากเดินอยู่นอกอาคารส่วนใหญ่จะถอดหน้ากากออก แต่เมื่อเดินเข้าภายในอาคารหรือนั่งรถไฟก็มักจะสวมใส่หน้ากาก ด้วยเหตุนี้ จึงต้องพกพาเครื่องสำอางแบบบรรจุภัณฑ์ที่ห่อแยกชิ้นไว้ตลอดเวลา”
นับตั้งแต่ วันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่การสวมใส่หน้ากากขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละบุคคล สถานที่สาธารณะหรืออาคารต่างๆยกเลิกการขอความร่วมมือสวมใส่หน้ากากส่งผลให้การจำหน่ายหน้ากากลดลง จากข้อมูล Nikkei POS ที่รวบรวมข้อมูลจากร้านค้าปลีกทั่วประเทศพบว่า ตั้งแต่สัปดาห์ของวันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ยอดจำหน่ายหน้ากากของลูกค้า 1,000 คน ลดลงร้อยละ 35.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้านค้าปลีกเริ่มมีการลดพื้นที่การจำหน่ายหน้ากาก แต่ก็ใช่ว่าผู้บริโภคจะเลิกสวมหน้ากาก จากการสำรวจผู้บริโภคอายุ 20 ปี – 70 ปี 10,000 คนในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ร้อยละ 71.3 ยังคงสมัครใจที่จะสวมใส่หน้ากากแม้รัฐบาลจะลดระดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นระดับ 5 บางคนตัดสินใจสวมใส่หน้ากากหรือถอดหน้ากากขึ้นกับสถานที่ที่ไปและคนที่พบ เช่น สวมหน้ากากวันธรรมดาที่ต้องไปทำงานก็จะแต่งหน้าไม่มาก ส่วนวันสุดสัปดาห์เวลาพบปะกับเพื่อนก็จะตั้งใจแต่งหน้า และหากคนที่พบไม่รังเกียจก็จะถอดหน้ากาก เป็นต้น ดูเหมือนว่า ผู้คนสวมใสและถอดหน้ากากตามโอกาสและสถานที่
เมื่อต้องสวมใส่และถอดหน้ากากบ่อยครั้ง การเติมเครื่องสำอางจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำบ่อยขึ้น บริษัท isytle, Inc. เจ้าของเว็บไซต์รีวิวเครื่องสำอาง @cosme ได้ทำการวิเคราะห์รีวิวและพบว่า คีย์เวิร์ด “เติมหน้า” เพิ่มขึ้น 1.4 เท่าในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ร้านจำหน่ายปลีกของบริษัทฯ มียอดจำหน่ายเครื่องสำอางขนาดพกพาเพิ่มขึ้น เช่น แป้งขนาด mini ของแบรนด์ “NARS” ซึ่งสะดวกต่อการพกพกเพื่อเติมหน้า มียอดจำหน่ายระหว่างวันที่ 13 มีนาคม – 12 เมษายน 2566 เพิ่มขึ้น 1.3 เท่าเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 12 มีนาคม 2566 นอกจากนี้ แป้งรองพื้นตลับขนาดพกพาของ “TIRTIR” (แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลี) ก็มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1.2 เท่า

เช่นกัน ทีมวิเคราะห์รีวิวของบริษัทฯ ให้ความเห็นว่า มีคนที่กังวลสภาพการแต่งหน้าเมื่อถอดหน้ากากออกเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดความต้องการบริโภคเครื่องสำอางแบบพกพามากขึ้น
หลังจากลดระดับการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นระดับ 5 ต่อไปก็จะเข้าสู่ฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูร้อน อาจทำให้มีโอกาสถอดหน้ากากเพิ่มขึ้น เทรนด์ของเครื่องสำอางก็น่าจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่คลี่คลายลง ผู้คนออกจากบ้านเพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นทำให้ความต้องการบริโภคของผู้บริโภคเริ่มคืนกลับสู่สภาวะปกติ สินค้าหลายอย่างมียอดจำหน่ายสูงขึ้น สินค้าประเภทเครื่องสำอางก็เช่นกัน ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าหมวดเครื่องสำอางสูงขึ้นตามไปด้วย
จากการรายงานของ Cosmetic Importers Association of Japan ได้รายงานมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภท Cosmetic ช่วงเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าเท่ากับ 85,600 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากดูสินค้าแต่ละหมวดพบว่า กลุ่มสินค้าประเภทน้ำหอม โคโลญ (HS Code: 3303.00-000) มีมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 8,080 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.7 และนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศสเป็นอันดับ 1 สำหรับกลุ่มสินค้า Color make up (HS Code: 3304.10-000-3304.30-000) มีมูลค่านำเข้าโดยรวมเท่ากับ 12,400 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 7.8 และร้อยละ 15.3 ตามลำดับ) ประเทศนำเข้ากลุ่มสินค้า Color make up อันดับ 1 ได้แก่ เกาหลีใต้ (มูลค่า 3,410 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7) อันดับ 2 ได้แก่ จีน (มูลค่า 3,110 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.3) ในกลุ่มสินค้านี้ มีสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ลิปสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 หรือมีมูลค่าเท่ากับ 4,100 ล้านบาท สำหรับกลุ่มสินค้า Base Make up (HS Code: 3304.91-000-3304.99-011) มีมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 11,350 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศนำเข้าอันดับ 1 ได้แก่ เกาหลีใต้
ในกลุ่มสินค้า Cosmetic ที่กล่าวมานั้น แม้ประเทศไทยจะไม่ติดอันดับประเทศผู้นำเข้าอันดับต้นๆ แต่เครื่องสำอางไทยก็เริ่มเป็นที่สนใจของกลุ่มผู้บริโภคญี่ปุ่นจากความนิยมของซีรีย์วายของไทย มีการพูดถึงในบทความข่าวเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และมีผู้นำเข้าสินค้าเครื่องสำอางไทยหลายแบรนด์ ซึ่งผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพสินค้าไทย มูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของไทยอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
————————————–

อ้างอิง
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://www.narscosmetics.jp/
https://tirtir.co.jp/
ภาพประกอบแบนเนอร์ https://www.cosme.net/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login