จากสถิติ พบว่า เวียดนามมีการใช้จ่ายกว่า 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อนำเข้าอาหารสัตว์และวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าประเภทดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมของปี 2566 ตามการระบุของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของประเทศเวียดนาม ตัวเลขดังกล่าวลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบเป็นรายปี อาหารสัตว์และวัตถุดิบจากอาร์เจนตินาส่งออกมายังเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 25.8 ของส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมด ตามมาด้วยอินเดีย ร้อยละ 18.3 และสหรัฐอเมริการ้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การนำเข้าจากทั้งสามประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ร้อยละ 130 และร้อยละ 28.3 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของประเทศเวียดนาม แนะนำว่าเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์ เกษตรกรในท้องถิ่นควรใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ ผลิตอาหารสัตว์เองเพื่อลดต้นทุน และหาแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ถูกขอให้ควบคุมการนำเข้าเนื้อสัตว์และผลพลอยได้ให้เข้มงวดขึ้น และสนับสนุนผู้นำเข้าเพื่อลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารสัตว์ รวมทั้งสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารสัตว์
จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในปัจจุบันประเทศเวียดนามมีการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตของประเทศจึงมีความต้องการสินค้าพวกเนื้อสัตว์และผลพลอยได้สำหรับใช้บริโภคภายในประเทศและอุตสาหกรรมต่างๆ ทางกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเองมีนโยบายควบคุมการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และผลพลอยได้โดยตรงเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศและลดการนำเข้า แต่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารสัตว์และวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการจนต้องมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว จึงมีการสนับสนุนผู้นำเข้าสินค้าประเภทนี้โดยการสร้างเงื่อนไขที่ช่วยลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์และการพัฒนาวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ในอนาคต
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
จะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของประเทศเวียดนามมีนโยบายโดยตรง
ในการสนับสนุนผู้นำเข้าสินค้าประเภทอาหารสัตว์และวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าดังกล่าวเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ปศุสัตว์ และเพิ่มกำลังการผลิตเนื้อสัตว์และผลพลอยได้ภายในประเทศให้เติบโตจึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าประเภทอาหารสัตว์และวัตถุดิบมายังประเทศเวียดนาม เพราะตลาดสินค้าชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)