หน้าแรกTrade insightสุกร > ภาวะเงินเฟ้อไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการบริโภคของคนฝรั่งเศส

ภาวะเงินเฟ้อไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการบริโภคของคนฝรั่งเศส

ในช่วงต้นปี 2023 นาย Marc Fesneau รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฝรั่งเศสกล่าวผ่านรายการทางช่องโทรทัศน์ Public Sénat (ช่องโทรทัศน์สำหรับนำเสนอหัวข้อทางการเมือง เช่น การประชุมรัฐสภา รวมถึงรายการทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส) ว่าผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์         อย่างไรก็ตามในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหน่วยงาน Agreste (หน่วยงานด้านสถิติและศึกษาความเปลี่ยนแปลงของตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร) และ FranceAgrimer (หน่วยงานรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและประมง) สังกัดกระทรวงเกษตรฝรั่งเศส    เปิดเผยข้อมูลการบริโภคเนื้อสัตว์ในปี 2022  สามารถสรุปใจความได้ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ในฝรั่งเศสทุกประเภททั้งที่บ้านและร้านอาหารในปี 2022  คิดเป็นปริมาณ  5.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2021  และกลับมาใกล้เคียงกับระดับการบริโภคก่อนหน้าสถานการณ์โควิด (ปี 2019)

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศฝรั่งเศส ได้แก่

  • การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและปริมาณการบริโภคต่อหน่วยประชากรที่สูงขึ้น ในปี 2022 ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนฝรั่งเศสเฉลี่ยอยู่ที่ 2 กก./ประชากร (รวมเนื้อติดมันและเนื้อติดกระดูก) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 84.9 กก.    อย่างไรก็ตามรูปแบบการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยผู้บริโภคเลือกการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ร้านอาหารมากกว่าการซื้อเนื้อสัตว์มาประกอบอาหารที่บ้าน  ปริมาณการซื้อเนื้อสัตว์เพื่อประกอบอาหารจากร้านขายเนื้อสัตว์ลดลงร้อยละ 4.2  โดยเนื้อสัตว์ปีกลดลงร้อยละ 5.8  ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยไม่สามารถนับรวมการบริโภคระหว่างการล๊อกดาวน์จากสถานการณ์โควิดที่ผู้บริโภคซื้อส่วนประกอบสำหรับปรุงอาหารเองที่บ้าน
  • ภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ในไตรมาสที่สองของปี 2022 ราคาเนื้อสัตว์ทุกประเภทขึ้นราคาเฉลี่ยโดยรวมร้อยละ 1 ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี    โดยราคาเนื้อวัวเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับแรกที่ร้อยละ 11.1  ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนอาหารสัตว์และพลังงานแก๊สที่ใช้สำหรับให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว  ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาต้นทุนการเลี้ยงดูสัตว์ปีกกว่าร้อยละ 65 อยู่ที่ต้นทุนราคาอาหาร   นอกจากนี้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกยังได้รับผลกระทบจากไข้หวัดนกเช่นเดียวกัน

จากการศึกษาข้อมูลของบริษัท Nielsen ปี 2023  ผู้บริโภคฝรั่งเศสร้อยละ 43  ซื้อเนื้อสัตว์รวมถึงเนื้อปลาลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ  แต่ในขณะเดียวกันระดับการบริโภคเนื้อสัตว์โดยรวมในประเทศได้รับการชดเชยจากปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์จากการรับประทานอาหารนอกบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมนูอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ในร้านอาหารจานด่วน

ภาพประกอบ/Les Echos
สัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ในฝรั่งเศสปี 2022

สรุปข้อมูลการบริโภคเนื้อสัตว์

  • ยอดขายเนื้อสัตว์ออร์แกนิคและเนื้อสัตว์ที่มีตรารับรอง (Label Rouge) ลดลงร้อยละ 13.4 โดยผู้บริโภคเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกลง เช่น เนื้อหมู หรือเนื้อไก่
  • ระดับการบริโภคเนื้อแดง (เนื้อวัว,เนื้อลูกวัว,เนื้อหมูเนื้อแกะ และเนื้อม้า) ในปี 2022  คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด  มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากปี 2021    ในขณะที่เนื้อสัตว์ปีกโดยรวมมีปริมาณการบริโภคลดลงร้อยละ 0.5  โดยมีเพียงเนื้อไก่ที่มีระดับการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7
  • ผู้บริโภคเพิ่มการบริโภคอาหารแปรรูป เช่น หมูแฮม หรือนักเก็ตไก่ ด้วยเหตุผลด้านราคาและความสะดวกสบาย

ในปี 2022  ฝรั่งเศสเพิ่มปริมาณการนำเข้าเนื้อสัตว์ถึงร้อยละ 11.5 จากปี 2021  จนถึงระดับที่สูงกว่าในระดับก่อนหน้าสถานการณ์โควิด เพื่อตอบสนองความต้องการเนื้อสัตว์เพื่อใช้ในการแปรรูป     โดยเนื้อไก่นำเข้าที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศเบลเยี่ยมและโปแลนด์ซึ่งกว่าร้อยละ 50 นำเข้าเพื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในร้านอาหาร   เนื้อแกะนำเข้าจากสหราชอาณาจักรและเนื้อหมูจากเยอรมนี    โดยความเป็นไปได้ในการนำเข้าเนื้อสัตว์อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต  ภายหลังจากที่ La Cour des Comptes (เทียบเท่ากับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของไทย)  แนะนำให้ลดปริมาณปศุสัตว์ในประเทศโดยเฉพาะลดการเลี้ยงวัวเพื่อให้เป้าหมายการลดระดับก๊าซมีเทนเป็นไปตามที่รัฐบาลได้วางแผนไว้

ความเห็น สคต.

ในปี 2022  ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนฝรั่งเศส (เฉลี่ย 85.2 กก./ประชากร) สูงเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยการบริโภคเนื้อสัตว์ของประชากรทั่วโลก  แต่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับมาตรฐานเดียวกับผู้บริโภคในทวีปยุโรป (81กก.) ตามหลังประเทศสเปน (100กก.) โปรตุเกส (94กก.) โปแลนด์ (89กก.) และเยอรมนี (88กก.)   โดยเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมในฝรั่งเศสเรียงตามลำดับได้แก่ เนื้อหมูซึ่งรวมถึงอาหารที่แปรรูปจากเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว    ถึงแม้ว่าปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศฝรั่งเศสจะไม่ลดลงจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อแต่จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคเพิ่มการบริโภคอาหารแปรรูปมากขึ้น  ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ดีต่อผู้ประกอบการอาหารแปรรูปของไทย  โดยผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดและมาตรฐานเพื่อการส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปมายังประเทศฝรั่งเศสไปพร้อมกันกับการพัฒนาสินค้าทั้งเมนูและรสชาติ  เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานที่ถูกต้องสำหรับการส่งออกและสินค้าที่สามารถตอบความต้องการและเป็นที่ถูกใจกับผู้บริโภคฝรั่งเศส

Ismérie Vergne

ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Les Echos

https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/la-consommation-de-viande-resiste-a-linflation-1968062

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login