หน้าแรกTrade insightสุกร > ชาวฮังการีนิยมกินเนื้อปลามากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกเนื้อปลาที่มีคุณภาพมายังตลาดแห่งนี้

ชาวฮังการีนิยมกินเนื้อปลามากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกเนื้อปลาที่มีคุณภาพมายังตลาดแห่งนี้

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 7-11 สิงหาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Gotta Be Worth It @ Pexels

 

หน่วยงาน Agricultural Marketing Center ผู้รับผิดชอบแคมเปญกระตุ้นการบริโภคเนื้อปลา Kapj rá! (Catch it!) รายงานว่า แคมเปญ Kapj rá! เฟสแรก ช่วงปี 2560-2565 ประสบความสำเร็จด้วยดี เห็นได้จากปริมาณการบริโภคเนื้อปลาและผลิตภัณฑ์จากเนื้อปลาในฮังการีประจำปี 2565 สูงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2558 คิดเป็น 7 กิโลกรัม/ปี/คน จึงเตรียมดำเนินกิจกรรมเฟสสองช่วงปีจนถึงปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องการส่งเสริมปริมาณการบริโภคเนื้อปลาในฮังการีให้ถึง 20 กิโลกรัม/ปี/คน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขค่าเฉลี่ยการบริโภคเนื้อปลาของสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดประจำปี 2565 ของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการประมงและทะเล (Directorate-General for Maritime Affairs and Fisheries: DG-MARE) ที่ระบุว่า ชาวฮังการีรับประทานเนื้อปลาโดยเฉลี่ยคนละ 6.5 กิโลกรัมต่อปี

 

รูปภาพที่ 1: การบริโภคเนื้อปลาโดยเฉลี่ยต่อหัวต่อปี ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ประจำปี 2565
ที่มาของข้อมูล: European Commission

 

ปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมการบริโภคเนื้อปลาในฮังการี คือการมีสินค้าเนื้อปลาวางจำหน่ายในตลาดที่หลากหลาย โดยเฉพาะเนื้อปลาแล่ และปลากระป๋อง สามารถอำนวยความสะดวกในการนำมาประกอบอาหาร

 

ทั้งนี้ แคมเปญ Kapj rá! เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hungarian Fish Farming Operative Program (MAHOP) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนการเดินเรือและประมง (The European Maritime and Fisheries Fund: EMFF) ภายใต้นโยบายการเกษตรร่วมฉบับใหม่ที่เน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ความยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นของสหภาพยุโรป (Common Agricultural Policy) ของสหภาพยุโรป สำหรับช่วงปี 2557-2563 เป็นจำนวนเงิน 950 ล้านโฟรินท์ (ประมาณ 93 ล้านบาท)

 

แคมเปญดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมการประมงในประเทศและการท่องเที่ยวเพื่อการตกปลา (Fishing Tourism) เสริมสร้างทัศนคติที่ดีในการบริโภคเนื้อปลา และกระตุ้นความนิยมการบริโภคเนื้อปลาที่ผลิตในประเทศในหมู่ผู้บริโภคชาวฮังการี ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดหลายรูปแบบ ได้แก่ การเปิดตัวเว็บไซต์ halpentek.hu และเฟซบุ๊คแฟนเพจ Halpéntek เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปรุงอาหารจากเนื้อปลา และกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมารับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีการออกบูธในงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 15 งาน เช่น งานแสดงบริการเกี่ยวกับการประมง กิจกรรมล่าสัตว์ และกิจกรรมนันทนาการ งานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร OMÉK และ Farmer Expo เป็นต้น การจัดกิจกรรมโรดโชว์ประชาสัมพันธ์โครงการทั่วประเทศ เผยแพร่สูตรอาหารที่ทำจากเนื้อปลา แจกอาหารที่ปรุงจากเนื้อปลาให้ผู้บริโภคชิมฟรี ตลอดจนการซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

 

สาระสำคัญของแคมเปญดังกล่าว คือ การบริโภคเนื้อปลาที่ผลิตในประเทศฮังการีนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจการประมงรายย่อยในประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยรัฐบาลระบุว่าปลาน้ำจืดที่เพาะเลี้ยงและจับได้ในประเทศนั้น มาจากการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐานสากล และการอบรมทักษะดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของธุรกิจการผลิตและแปรรูปเนื้อปลาในประเทศแล้ว โครงการดังกล่าวยังผลักดันให้ปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นในฮังการี ได้แก่ ปลาเทราต์เมือง Szilvásvárad ปลาคาร์ปในทะเลสาบบอลอตน (Balaton) ปลาคาร์ปเมือง Akasztó และปลาไนกระจก (Mirror Carp) เมืองแซแกด (Szeged) ได้รับการคุ้มครองให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications-GI) ในหมวดสินค้าเกษตรของสหภาพยุโรป เพื่อรักษาภูมิปัญญาการผลิตสินค้าของท้องถิ่น และส่งเสริมการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่นที่ผลิตสินค้า GI

 

รัฐบาลฮังการีต้องการส่งเสริมให้ประชาชนชาวฮังการีรับประทานเนื้อปลามากขึ้น เนื่องจากเนื้อปลาเต็มไปด้วยสารอาหารสำคัญ และยังเป็นแหล่งโปรตีนที่มีไขมันน้อยและย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ จึงดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของประชาชนชาวฮังการี อีกสาเหตุหนึ่งคือเพื่อช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลา ตกปลา และแปรรูปเนื้อปลาในประเทศยังคงดำเนินกิจการไปได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการสร้างอาชีพในพื้นที่ชนบท จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวฮังการีปัจจุบันจำนวนมากรับประทานปลาไม่บ่อย คือราคาเนื้อปลาที่สูงกว่าเนื้อไก่และเนื้อหมู เป็นรองแค่เนื้อวัว ข้อมูลราคาสินค้าอาหารที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกเฉลี่ยทั้งประเทศจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฮังการี ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 เปิดเผยว่า เนื้อไก่ 1 กิโลกรัม ราคาอยู่ในช่วง 1,210-1,340 โฟรินท์ (ประมาณ 121-134 บาท) เนื้อหมู 1 กิโลกรัม ราคาอยู่ในช่วง 1,590-2,620 โฟรินท์ (ประมาณ 159-262 บาท) เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 4,600 โฟรินท์ (ประมาณ 460 บาท) ส่วนเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4,140 โฟรินท์ (ประมาณ 414 บาท)

 

เมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับประทานเนื้อปลาบ่อย ก็จะไม่คุ้นเคยกับรสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสของเนื้อปลา และไม่ทราบว่าเนื้อปลาสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายกว่าภาพจำเมนูเดิมๆ ในปี 2561 รัฐบาลฮังการีจึงประกาศลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของสินค้าเนื้อปลา จาก 27% ซึ่งเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าทั่วไป ลดลงเหลือ 5% เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้บริโภคในการซื้อเนื้อปลามารับประทาน และให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการส่งเสริมการรับประทานเนื้อปลาอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

 

อุตสาหกรรมประมงฮังการีมีกำลังการผลิตเนื้อปลาปีละ 12,000 ตัน ส่วนมากผลิตเพื่อแปรรูปและส่งออก ปลาที่นิยมเลี้ยง คือปลาคาร์ปธรรมดา ปลาดุกแอฟริกัน ปลาพอลล็อค (Pollack) และปลาเทราต์ การบริโภคเนื้อปลาราว 35-40% เกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากผู้บริโภคนิยมซื้อเนื้อปลาไปทำซุปปลา ซึ่งเป็นอาหารประจำเทศกาลคริสต์มาสในประเทศฮังการี

 

รูปภาพที่ 2: ซุปปลา (Halászlé) ในฮังการี มักจะใช้เนื้อปลาน้ำจืด เช่น ปลาคาร์ปหรือปลาดุก มาทำซุป

 

ภาคการประมงของฮังการีสร้างรายได้เข้าประเทศราว 1 แสนล้านโฟรินท์ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี) ส่งผลให้การส่งออกสินค้าจากภาคการประมงของประเทศฮังการีขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสัตว์น้ำในบ่อ ทั้งนี้ ปลาคาร์ป คือสายพันธุ์ปลาที่ได้รับความนิยมที่สุดในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อ เนื่องจากเป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุด

 

ความท้าทายประการสำคัญสำหรับการส่งเสริมการบริโภคเนื้อปลาในฮังการี คือ เนื้อปลาส่วนมากมีราคาสูงกว่าเนื้อไก่ และผู้บริโภคมองว่าการปรุงอาหารด้วยเนื้อปลามีความยุ่งยาก เพราะต้องมาแล่หนัง แล่ก้างออกเอง อีกทั้ง ร้านค้าที่จำหน่ายเนื้อสัตว์มีข้อจำกัดในการเก็บรักษาเนื้อปลาให้สดในอุณหภูมิที่เหมาะสม รัฐบาลฮังการีจึงดำเนินแคมเปญส่งเสริมการบริโภคเนื้อปลาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผลิตปลาได้มากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้ง สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตเนื้อปลาได้ผ่านการแปรรูปสินค้าอาหารได้

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนที่เพิ่มจำนวนการบริโภคเนื้อปลา คือชุมชนชาวเอเชียและจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภคอาหารที่หลากหลาย ผู้จัดจำหน่ายจึงนำเข้าเนื้อปลาทะเลจากต่างประเทศมากขึ้น สำหรับการค้าปลีกให้กับผู้บริโภคโดยตรง และการค้าแบบ B2B กับผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ HORECA เช่น ปลาแซลม่อน ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ปลาเฮร์ริง ปลาแอนโชวี่ ปลาตระกูล Sea Bream และ Sea Bass เป็นต้น ทั้งในรูปแบบเนื้อปลาสดแช่เย็น เนื้อปลาแช่แข็ง เนื้อปลารมควัน และเนื้อปลาแปรรูปบรรจุกระป๋อง รวมถึง ผลิตเนื้อปลาพร้อมปรุงอาหาร เช่น เนื้อปลาชุบแป้งทอดสำเร็จรูป สำหรับนำไปอบหรือทอดเอง

 

ปลากระป๋องที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่เป็นเนื้อปลาน้ำเค็มในซอสมะเขือเทศ น้ำเกลือ หรือน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก รวมถึงทำเป็นครีมปาเต้ (Pâté) สำหรับทาแซนด์วิชหรือแครกเกอร์ เป็นต้น โดยปลากระป๋องที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อาทิ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล โดยแหล่งนำเข้าสินค้าปลากระป๋องของฮังการี ส่วนมากอยู่ในสหภาพยุโรป เช่น โปแลนด์ เยอรมนี อิตาลี เช็ก และออสเตรีย ส่วนแหล่งนำเข้าปลากระป๋องของฮังการีนอกสหภาพยุโรป อาทิ โมร็อกโก เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ โคลอมเบีย กาน่า และไทย

 

เมื่อพิจารณาสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ปี 2565 ไทยส่งออกปลาน้ำจืดที่มีชีวิต (พิกัดศุลกากร 030111) และปลาและอาหารทะเลแปรรูป ไปยังฮังการี คิดเป็นมูลค่า 1,380,824 บาท และ 6,320,838 บาท ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปลาสำเร็จรูป อาทิ ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ก ปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) บรรจุกระป๋อง (พิกัดศุลกากร 16041419) มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 3,725,531 บาท

 

อย่างไรก็ดี สินค้าไทยที่ต้องการจะส่งออกมายังฮังการี จะต้องผ่านการตรวจสารเคมีตกค้าง และตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นหลักสากลต่างๆ เช่น GMP, HACCP และมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิต เนื่องจากประเทศในสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าควบคุมพิเศษที่มีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ฮังการียังมีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ และให้ความสำคัญกับการรับรองความปลอดภัยของอาหาร และดูแลสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้น สินค้าเกษตรกรรมของฮังการีจึงเป็นสินค้าปลอด GMO อันเป็นจุดขายที่สำคัญของฮังการี ดังนั้น สินค้าไทยที่ต้องการจะเข้ามาตีตลาดฮังการีได้ จะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าปลอด GMO และผ่านมาตรฐานต่างๆ จึงจะสามารถมีศักยภาพแข่งขันกับสินค้าท้องถิ่นได้

 

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้รวบรวมกฎระเบียบ และงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องสำหรับสินค้าอาหารกระป๋อง ดังนี้

 

  ตัวอย่างกฎระเบียบระดับสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเนื้อปลา งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในช่วงครึ่งปีหลังของ 2566 และในปี 2567 ตัวอย่างอัตราอากรขาเข้าของสหภาพยุโรป (Third Country Duty)

หมายเหตุ: VAT ประเทศฮังการีอยู่ที่ 27%

เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และเนื้อปลาบรรจุรกระป๋อง ระดับสหภาพยุโรป

–    กฎระเบียบทั่วไปว่าด้วยอาหาร (Regulation (EC) No. 178/2002 หรือ General Food Law)

–    กฎระเบียบว่าด้วยสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อาหาร (Regulation (EC) No. 852/2004)

–    กฎระเบียบควบคุมการผลิตและค้าขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Regulation (EU) 2018/848)

–    กฎระเบียบควบคุมการผลิตและค้าขายสินค้าอาหารดัดแปลงพันธุกรรม (Regulation (EC) No. 1829/2003 และ Regulation (EC) No. 1830/2003)

–    กฎระเบียบควบคุมการแสดงข้อมูลอาหารสำหรับผู้บริโภค (Regulation (EU) No. 1169/2011)

–    กฎระเบียบควบคุมมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ และการจัดการของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ (European Parliament and Council Directive 94/62/EC)

–    กฎระเบียบว่าด้วยการกําหนดปริมาณตกค้างสูงสุดของสารปนเปื้อนในอาหาร (Commission Regulation (EU) 2023/915)

–    กฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมและตรวจสอบสินค้าอาหาร อาหารสัตว์ สุขอนามัยและ สวัสดิภาพสัตว์ สุขอนามัยพืชและผลิตภัณฑ์อารักขาพืชของภาครัฐ (Regulation (EU) 2017/625)

–    กฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยของอาหารและการใช้สารปรุงแต่งอาหาร (Food Additives) ในผลิตภัณฑ์อาหาร (Regulation (EC) No. 1333/2008)

–    กฎระเบียบว่าด้วยสุขอนามัยอาหาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ (Commission Regulation (EU) 2021/382)

–    ข้อแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมเชื้อแบคทีเรียในสินค้าเนื้อสัตว์ปีก (Commission Regulation (EU) No 209/2013 of 11 March 2013 amending Regulation (EC) No 2073/2005)

–    ข้อแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับใบรับรองการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Commission Delegated Regulation (EU) 2021/2306 of 21 October 2021 supplementing Regulation (EU) 2018/848)

–    ข้อแก้ไขบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารตกค้ามายังสหภาพยุโรป (Commission Delegated Regulation (EU) 2022/2292 of 6 September 2022 supplementing Regulation (EU) 2017/625)

ระดับชาติ

–    กฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร และ สถานประกอบอาหาร โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในฮังการีคือ สำนักงานความปลอดภัยในห่วงโซ่อาหารแห่งชาติ (National Food Chain Safety Office หรือ Nemzeti Élelmiszerlánc-biztonsági Hivatal)

–    กฎระเบียบว่าด้วยการแสดงข้อมูลในฉลากสินค้าอาหารในฮังการี

–    กฤษฎีกากระทรวงเกษตร ประเทศฮังการี ฉบับที่ 61/2016 ประจำปี 2559 ว่าด้วยการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์สินค้าปลอด GMO หรือสารดัดแปลงทางพันธุกรรม (Decree No. 61/2016 of the Minister of Agriculture)

งานแสดงสินค้าและบริการสำหรับธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ค้าปลีก (Retail) และ HORECA (โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่-จัดเลี้ยง) ที่ใหญ่ที่สุดของฮังการีและภูมิภาคยุโรปกลาง ได้แก่ งาน SIRHA BUDAPEST ณ ศูนย์แสดงสินค้า HUNGEXPO Budapest Congress and Exhibition Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2567

เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://sirha-budapest.com/en/

 

0301.11 ปลาน้ำจืดที่มีชีวิต 0.00% ทว่าจะต้องได้รับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ป่าตามอนุสัญญาฯ (CITES) และใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Veterinary Health Certificate) ซึ่งออกให้โดยสัตวแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล และตรงตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป

หากเป็นสินค้าออร์แกนิก จะต้องมีใบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์

 

03.04.32 เนื้อปลาแคทฟิช (ชนิดแปงกาเซียส ชนิดซิลูรัส ชนิดคลาเรียส ชนิดอิคทาลูรัส) แบบฟิลเล (จะบดหรือไม่ก็ตาม) สด แช่เย็น หรือแช่เย็นจนแข็ง 9.00%

 

1604.20.50 ปลาซาร์ดีนแปรรูป 25.00%

อย่างไรก็ดี ภายใต้หมวดหมู่สินค้าโควตาภาษี (Tariff Quota) ของประเทศไทย ที่จัดทำกับสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566 สินค้าพิกัดศุลกากรนี้จะมีอัตราอากรอยู่ที่ 0.00%

โดยปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากสหภาพฯ ในปี 2566 สำหรับสินค้าพิกัดศุลกากรนี้อยู่ที่ 423 ตัน

 

ทั้งนี้ สินค้าอาหารที่นำเข้ามายังสหภาพยุโรปจะต้องผ่านด่านควบคุมที่พรมแดน (Border Control Posts: BCP) และอาจถูกสุ่มตรวจมาตรฐานสินค้าได้

 

ที่มาของข้อมูล

  • https://haszon.hu/megorizni/piacok/halaszat-halfogyasztas-karacsony
  • https://hirklikk.hu/kozelet/celba-ert-a-kampany-rakaptak-a-magyarok-a-halra/419149
  • https://magyarmezogazdasag.hu/2023/07/29/halfogyasztast-osztonzo-kampany-hatasara-husz-szazalekkal-nott-halak-iranti-kereslet
  • https://magyarnemzet.hu/gazdasag/2023/03/penzeso-hullhat-a-halgazdasagokra
  • https://sokszinuvidek.24.hu/mozaik/2022/07/13/kilenc-ev-utan-ujra-kaphato-balatoni-hal/
  • https://sokszinuvidek.24.hu/mozaik/2023/07/29/hal-halfogyasztas-kampany/
  • https://storeinsider.hu/cikk/agrarmarketing-centrum-halfogyasztas-europai-atlag-7-kg-halat-esznek-a-magyarok-evente
  • https://topagrarmagazin.hu/karacsonyra-is-kapj-ra-a-hazai-halra/
  • https://www.agrarszektor.hu/elelmiszer/20191213/csunya-lemaradasban-a-hazai-halfogyasztas-messze-az-unios-atlag-alatt-vagyunk-18323
  • https://www.agrarszektor.hu/elelmiszer/20201016/egyre-tobb-halat-esznek-a-magyarok-de-az-unios-atlaghoz-kepest-sehol-nem-vagyunk-25394
  • https://www.agrarszektor.hu/elelmiszer/20201025/megvan-miert-esznek-keves-halat-a-magyarok-meglepo-oka-van-a-huzodozasnak-25590
  • https://www.ksh.hu/stadat_files/ara/hu/ara0044.html
  • https://www.nak.hu/tajekoztatasi-szolgaltatas/mezogazdasagi-termeles/106056-tobb-mint-negymilliard-forintra-palyazhatnak-meg-a-halgazdalkodasi-agazat-szereploi
  • https://www.origo.hu/gazdasag/20230629-halgazdalkodas-miniszterium-tamogatas.html

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
7-11 สิงหาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login