การเปลี่ยนแปลงทั่วโลกสู่การบริโภคอาหาร Plant-based ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกอาหารรายใหญ่พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ในยุโรปยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากมาย ทำให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based อาทิ เนื้อสัตว์จากพืชที่เป็น Next-Generation Plant-based Meat อาหารทะเล ไข่ และผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ทั้งด้านรสชาติ ราคา และความสะดวกได้มากขึ้น
ในปี 2565 ตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ในยุโรปมีมูลค่าอยู่ที่ 5,800 ล้านยูโร ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6 ในเชิงมูลค่า และขยายตัวที่ร้อยละ 4 ในเชิงปริมาณ แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ความตึงเครียดของการค้าโลก และอัตราเงินเฟ้อจะทำให้การขยายตัวของตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ชะลอตัวลงบ้างในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านมูลค่าและปริมาณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความต้องการบริโภคอาหาร Plant-based แม้ในสถานการณ์ความท้าทายเหล่านี้
ตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ในเบลเยี่ยมค่อนข้างทรงตัว มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 163.3 ล้านยูโร ระหว่างปี 2563 – 2565 มีการขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1 โดยในปี 2564 และ 2565 มีอัตราการขยายตัวเท่ากันที่ร้อยละ 0.5
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์นม Plant-based เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่มีพัฒนาการและมีมูลค่าการจำหน่ายมากที่สุดในเบลเยี่ยม แม้ว่าในปี 2563 มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม Plant-based จะหดตัวลงที่ร้อยละ 1 แต่ก็สอดคล้องกับมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ที่หดตัวลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 6 ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์นม Plant-based มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 59.9 ล้านยูโร ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2563 – 2565 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 และในปี 2565 มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 54.3 ล้านยูโร ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารทะเล Plant-based เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีพัฒนาการน้อยที่สุด แต่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด มีมูลค่าการจำหน่ายในปี 2565 อยู่ที่ 670,000 ยูโร แต่มีอัตราการขยายตัวระหว่างปี 2563 – 2565 สูงถึงร้อยละ 37
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
เบลเยี่ยมจัดอยู่ในอันดับที่ 8 เมื่อเปรียบเทียบยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ของประเทศต่างๆ ในยุโรป แต่จัดอยู่ในอันดับที่ 6 หากเปรียบเทียบมูลค่าการใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ของผู้บริโภคเฉลี่ยต่อคน ซึ่งมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 14.4 ยูโร
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based กับผลิตภัณฑ์อาหาร Animal-based ในปี 2565 ชีส Plant-based มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30 แซงหน้าชีส Animal-based ที่มีปริมาณการจำหน่ายลดลงร้อยละ 4 อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โยเกิร์ต และเนื้อสัตว์ มีปริมาณลดลงทั้งหมดทั้งแบบ Plant-based และ Animal-based
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based
ระหว่างปี 2563 – 2565 มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based ขยายตัวร้อยละ 4 ในปี 2565 มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 54.3 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ร้อยละ 0.2 ราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based โดยเฉลี่ยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย ราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบ Pre-packaged Conventional Meat ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 19 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Pre-packaged Meat ทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based แบบแช่เย็นมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 89 ของมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based ทั้งหมด ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based แบบแช่แข็งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 11 ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ เบอร์เกอร์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ร้อยละ 19 รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based แบบหั่นชิ้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ร้อยละ 12 Schnitzel มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ร้อยละ 10 ส่วน Meatballs ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based แบบบดหรือสับ และไส้กรอก มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันที่ร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เบอร์เกอร์มียอดจำหน่ายลดลง เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นในตลาด เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล Plant-based
ระหว่างปี 2563 – 2565 มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเล Plant-based ขยายตัวร้อยละ 37 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ในปี 2565 มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 666,000 ยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ร้อยละ 66 ราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล Plant-based โดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 7
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์นม Plant-based
ระหว่างปี 2563 – 2565 มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม Plant-based หดตัวร้อยละ 5 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายหดตัวร้อยละ 7 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์นมธรรมดาทั่วไป (Conventional Milk) ปริมาณการจำหน่ายหดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 9 ในปี 2565 มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 59.9 ล้านยูโร หดตัวร้อยละ 1 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 60.8 ล้านยูโร ราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์นม Plant-based โดยเฉลี่ยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย ราคาผลิตภัณฑ์นม Plant-based ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์นมทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 18 ผลิตภัณฑ์นม Plant-based มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 13 ของตลาดผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด โดยนมถั่วเหลืองมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์นม Plant-based ที่ร้อยละ 49 รองลงมา คือ นมอัลมอนด์และนมข้าวโอ๊ต มีส่วนแบ่งการทางตลาดร้อยละ 21 และ 18 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์นม Plant-based ที่เป็นรสธรรมชาติมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 67 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์นม Plant-based ที่มีรสชาติต่างๆ และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของนม Plant-based อื่นๆ มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 33
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based
ในปี 2565 การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based มีมูลค่าอยู่ที่ 7.4 ล้านยูโร ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28 มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 0.96 ล้านยูโร ขยายตัวมากกว่า 3 เท่าของผลิตภัณฑ์ชีสทั่วไป (Conventional Cheese) ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ชีสทั่วไปที่ปริมาณการจำหน่ายขยายตัวเพียงร้อยละ 4 ราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based โดยเฉลี่ยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย ราคาผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based ปรับตัวลดลงร้อยละ 1 ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ชีสทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 12 แม้ว่าผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based จะมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงเล็กน้อยแค่ร้อยละ 0.1 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีสทั้งหมด
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Plant-based
ระหว่างปี 2563 – 2565 มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Plant-based ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6 ขยายตัวเกือบ 2 เท่าของผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตทั่วไป (Conventional Yogurt) ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Plant-based ขยายตัวร้อยละ 1 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีสทั่วไปลดลงร้อยละ 4 ในปี 2565 มีมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Plant-based อยู่ที่ 31.4 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 30.3 ล้านยูโร ราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Plant-based โดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ร้อยละ 9 ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Plant-based มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 7 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตนมถั่วเหลืองมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดที่ร้อยละ 90 ตามมาด้วยโยเกิร์ตมะพร้าวและโยเกิร์ตข้าวโอ๊ตที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 9 และร้อยละ 1 ตามลำดับ
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์ครีม Plant-based
ระหว่างปี 2563 – 2565 มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีม Plant-based ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีม Plant-based ลดลงร้อยละ 4 ในปี 2565 การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีม Plant-based มีมูลค่าอยู่ที่ 8.76 ล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 8.74 ล้านยูโร ราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ครีม Plant-based โดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
ผลิตภัณฑ์อาหารหวาน Plant-based
ระหว่างปี 2563 – 2565 มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหวาน Plant-based ลดลงร้อยละ 9 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหวาน Plant-based ลดลงถึงร้อยละ 25 ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์อาหารหวาน Plant-based มีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 7.3 ล้านยูโร หดตัวร้อยละ 1 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 7.4 ล้านยูโร ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารหวาน Plant-based ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21
ที่มา: GFI EUROPE / Belgium: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)
พฤติกรรมผู้บริโภค
ผู้บริโภคชาวเบลเยี่ยมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น และยอมรับเมนูอาหาร Plant-based มากขึ้น จากผลการสำรวจและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของหน่วยงาน iVOX พบว่า ในปี 2565 ผู้บริโภคชาวเบลเยี่ยมร้อยละ 32 ทานมังสวิรัติอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ที่ทานมังสวิรัติอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 58 ส่วนผู้บริโภคกลุ่มที่เป็น Flexitarian มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 24 สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติและวีแกนที่แท้จริงมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8 และมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเกือบครึ่งของกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวมีความเห็นว่าอาหารมังสวิรัติดีต่อสุขภาพ และตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ในการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพสัตว์ ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีความคิดเห็นเชิงลบต่อมังสวิรัติก็ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ผู้บริโภคชาวเบลเยี่ยมประมาณร้อยละ 65 เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์ Plant-based เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภท Charcuterie และผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง (Spreads) เป็นที่นิยมมากที่สุด นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เต้าหู้ เทมเป้ (Tempeh) เซตัน (Seitan) และผลิตภัณฑ์นม Plant-based ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคมาบริโภคอาหาร Plant-based คือเรื่องรสชาติ และราคาที่ยังคงสูงกว่าราคาเนื้อสัตว์แท้ๆ ทั่วไป แม้ว่าช่องว่างระหว่างราคาจะลดลงมาแล้วก็ตาม รวมถึงความรู้ในการประกอบอาหาร Plant-based
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
ตลาดอาหาร Plant-based ในยุโรปเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และแม้ว่าตลาดอาหาร Plant-based ในเบลเยี่ยมจะเติบโตเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต กระแสการรักษ์สุขภาพ รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม และการตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดอาหาร Plant-based เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมอาหารในการคิดค้น วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ และเนื้อสัมผัสที่เหมือนหรือใกล้เคียงเนื้อสัตว์แท้ๆ รวมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น ทำให้มีผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ออกมาวางจำหน่ายมากมายในตลาดให้ผู้บริโภคได้เลือกสรร แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหรือบริษัทต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมอาหารก็ยังลงทุนอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ทั้งในเรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส ราคา และความสะดวก
อุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยเป็นที่ยอมรับทั้งด้านคุณภาพและรสชาติ และไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นครัวของโลกหรือ Kitchen of the World จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถคิดค้นนวัตกรรมในการผลิตอาหาร Plant-based ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อสามารถคว้าโอกาสในการเจาะและขยายตลาดสินค้าอาหาร Plant-based มายังเบลเยี่ยมและตลาดอื่นๆ ในยุโรปได้ แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบของสหภาพยุโรป อาทิ กฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร กฎระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารและฉลากอาหาร และกฎระเบียบเรื่องอาหารใหม่ เป็นต้น เพื่อให้สินค้าของไทยเป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานของสหภาพยุโรป และพร้อมที่จะเจาะและขยายตลาด
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)