1.ความเป็นมาของอาหารไทยในจีน
ร้านอาหารไทยเริ่มเข้าสู่ตลาดจีนในช่วงยุค 90 และได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบธุรกิจของร้านอาหารไทยในช่วงแรกเริ่มส่วนใหญ่มักจะเป็นร้านอาหารไทยดั้งเดิม ซึ่งในภายหลังได้เกิดรูปแบบร้านอาหารไทยสไตล์โมเดิร์น ได้แก่ ร้านชาบูหม้อไฟแบบไทย ร้านปิ้งย่างสไตล์ไทย ร้าน Street Food และอื่นๆ เป็นต้น
2.สถานการณ์ตลาดร้านอาหารไทยในจีน
ตั้งแต่ที่จีนเปิดประเทศ ส่งผลให้วัฒนธรรมการรับประทานอาหารต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวิถีชีวิตของประชาชนชาวจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอาหารไทยในตลาดจีนที่มีการพัฒนาและเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลูกค้าของร้านอาหารไทยเฉลี่ย 120 ล้านคน/ปี และคาดว่าในปี 2566 นี้ มูลค่าตลาดร้านอาหารไทยในจีนจะมีมูลค่าประมาณ 700,000 ล้านหยวน
3.การบริโภค
– กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรับประทานเมนูอาหารไทยที่มีรสชาติเผ็ดเปรี้ยว กลมกล่อม จะได้รับความนิยมมากกว่าเมนูที่มีรสชาติหวานหรือเค็ม เช่น ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ปูผัดผงกะหรี่ เป็นต้น
– กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการบริโภค ณ ร้านอาหารไทยเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 90 – 120 หยวน
– จากระแสการท่องเที่ยว ซีรีส์ไทยและ Net Idol ทำให้เมนูขนมหวานในร้านอาหารไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนตามไปด้วย เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น
– ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของไทยในร้านอาหารไทยมีการลดความหวานลง
4.ขั้นตอนการเปิดร้านอาหารไทยในจีน
4.1 รายละเอียดช่วงการจัดตั้งธุรกิจ
1) ดำเนินการยื่นขอชื่อที่จะใช้จดทะเบียนธุรกิจ (Apply for A Company Name) ณ สำนักบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ในท้องที่ (Administration for Industry and Commerce, 工商行政管理局) โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
2) ดำเนินการยื่นขอการก่อตั้งกิจการโดยทุนต่างชาติ (Apply for Establishment of Foreign-funded Enterprise) ณ สำนักงานพาณิชย์ในท้องที่ (Commerce Bureau, 商务局) ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 90 วันทำการ
3) ดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Examination and Approval) ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (Environmental Protection Bureau, 环保局) ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
4) ดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการร้านอาหาร (Apply for Food Service Permit, 餐饮服务许可证) ณ สำนักงานกำกับอาหารและยาในท้องถิ่น (Local Food and Drug Administration, 食品药品监督管理局) ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
5) ดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตการป้องกันอัคคีภัย (Fire Protection Registration) ณ สำนักงานดับเพลิงท้องถิ่น (Fire Department, 消防局) ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
6) ดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ (Apply for Business License, 营业执照) ณ สำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ในท้องถิ่นของเขตที่ร้านจะตั้งอยู่ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
4.2 รายละเอียดช่วงภายหลังการจัดตั้งธุรกิจ
1) ดำเนินการยื่นขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (Tax Registration) ณ สำนักงานภาษีท้องถิ่น (Local Taxation Administration, 地方税务局)
2) ดำเนินการยื่นขอ ใบทะเบียนเลขประจำตัวนิติบุคคล (Code Allocation to Organization Certificate – 组织机构代码证) ณ สำนักงานควบคุมคุณภาพและเทคโนโลยีท้องถิ่น (Quality and Technology Supervision Bureau, 质量技术监督局)
3) ดำเนินการยื่นจดทะเบียนขออนุญาตเปิดบัญชีธนาคาร (Permit for Opening Bank Account) ณ ธนาคารประชาชนจีน (The People’s Bank of China -中国人民银行) ประจำท้องที่
4) ดำเนินการยื่นจดทะเบียนสถิติ (Statistics Registration) ณ สำนักงานสถิติท้องถิ่น
5) ดำเนินการยื่นขออนุญาตทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Registration) ณ สำนักงานปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศประจำท้องถิ่น (Foreign Exchange Supervision Bureau, 外汇管理局)
6) ดำเนินการยื่นจดทะเบียนประกันสังคมและแรงงาน (Labor and Social Security Registration, 劳动和社会保障登记证) ณ สำนักงานแรงงานและประกันสังคมประจำท้องถิ่น (Labor and Social Security Bureau, 劳动和社会保障局)
7) ลงทะเบียนตรวจสุขภาพและขอรับใบรับรองการอบรมของพนักงาน (Health and Hygiene Examination) ณ สำนักงานตรวจสอบและกักกันโรค (CIQ) ท้องถิ่น
8) ดำเนินการยื่นจดทะเบียนผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol Permit Registration) ณ สำนักงานพาณิชย์ท้องถิ่น หากจะขายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ภายในร้านด้วย
9) ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตขอจ้างแรงงานต่างด้าว (Employment of Foreigner Permit) ณ สำนักงานแรงงานในท้องถิ่น เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องขอเชิญพ่อครัวและแม่ครัวไทยเข้ามาทำงานในร้าน
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการขอจัดตั้งร้านอาหารกับหน่วยงานจีนมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และขึ้นอยู่กับกฎระเบียบปลีกย่อยของหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบกิจการที่จัดตั้งธุรกิจใหม่ส่วนใหญ่จะใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและสำนักงานกฎหมายท้องถิ่นในจีนเพื่อดำเนินการขั้นตอนในการจดทะเบียนบริษัทและขั้นตอนการขออนุญาตจัดตั้งร้านอาหารเพื่อลดความยุ่งยากในขั้นตอนต่างๆ
นอกจากนี้ ก่อนการยื่นขอเปิดร้านอาหาร ผู้ยื่นขอจะต้องจัดตั้งบริษัทในจีนก่อนเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อดำเนินการยื่นขอจัดตั้งร้านอาหารได้ รูปแบบประเภทบริษัทในจีนมีทั้งแบบ กิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด Wholly foreign-owned enterprise (WFOE) กิจการร่วมทุน Joint venture (JV) วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างประเทศ Foreign-invested commercial enterprise (FICE) ซึ่งมีความแตกต่างในข้อดีข้อเสียในการดำเนินธุรกิจด้านสถานะทางกฎหมาย
5.ร้านอาหารไทยในมณฑลยูนนานที่ได้รับตรา Thai Select
มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่มีศักยภาพและมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ทั้งยังมีความได้เปรียบทางด้านที่ตั้งและภูมิศาสตร์ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนถึง 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และเมียนมา ทำให้ชาวยูนนานมีพฤติกรรม รสนิยม วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ส่งผลให้คนจีนในมณฑลยูนนานมีความชื่นชอบอาหารไทยเป็นพิเศษ
ปัจจุบันร้านอาหารไทยในมณฑลยูนนานที่ได้รับตรา Thai Select มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9 ร้าน 17 สาขา แบ่งออกเป็น ร้านอาหารไทยในนครคุนหมิงจำนวน 6 ร้าน 12 สาขา และในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา 3 ร้าน 5 สาขา ดังนี้
6.แนวโน้มตลาด
6.1 ความหลากหลายของรูปแบบร้านอาหารไทยได้กลายเป็นเทรนด์อาหารไทย
ในปัจจุบัน นอกจากร้านอาหารไทยแล้ว ยังมีแผงขายอาหารไทย ร้านขายขนมไทย ร้านปิ้งย่างสไตล์ไทย และร้านขายเครื่องดื่มของไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสของวัฒนธรรมไทยในโลกโซ เชียลที่มีผู้บริโภคจีนสนใจมากขึ้น
6.2 ร้านอาหารไทยหลายแห่งในจีนเริ่มมีความหลากหลายในเมนูอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเมนูยอดนิยมอย่างต้มยำกุ้ง ผัดไทยและแกงเขียวหวานแล้ว ยังเริ่มมีการนำเมนูเฉพาะในแต่ละภาคของไทยเพิ่มเข้าไปด้วย เช่น ไส้อั่ว ขนมจีนน้ำเงี้ยว ลาบอีสาน เป็นต้น นอกจากนี้ เชฟของร้านอาหารไทยยังได้มีการปรับสูตรรสชาติของอาหารไทยให้เหมาะสมกับคนจีนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย โดยที่ยังไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของอาหารไทยนั้นๆ
6.3 โมเดลของร้านอาหารไทยหลายร้านได้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ขนาดร้านเล็กลง ราคาอาหารถูกลง เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายต้องการที่จะให้ชาวจีนได้ลิ้มลองอาหารไทยในราคาที่สามารถจับต้องได้ และเน้นความถี่ในการบริโภคด้วย
ความคิดเห็นของ สคต.
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนได้คลี่คลายลง ธุรกิจร้านอาหารไทยในตลาดจีนได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยคนจีนในปัจจุบันนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ทั้งหนุ่มสาววัยทำงานและคนที่อาศัยอยู่เป็นครอบครัว จึงเป็นโอกาสของธุรกิจร้านอาหารไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลยูนนาน ซึ่งถือว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจร้านอาหารไทยเรียกได้ว่าเป็น “ประตูมังกร” เนื่องจากอยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด ทำให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย รวมทั้งชาวยูนนานมีความนิยมไทยและความชื่นชอบในรสชาติอาหารไทยมาก ทำให้มีร้านอาหารไทยทยอยเปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยในตลาดจีนสามารถใช้ KOL และ KOC ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง เพื่อแนะนำเมนูอาหารไทยหรือบริการต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในจีน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยขยายตลาดร้านอาหารไทยในจีนให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับร้านอาหารไทยอีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ได้มีการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เครื่องหมาย Thai Select ให้ลูกค้าชาวจีนได้รับรู้และทำความเข้าใจผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น Weibo Douyin เป็นต้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ร้านอาหารไทยในตลาดจีน โดยร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select จัดเป็นร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรและผ่านการพิจารณาในหลายด้าน ทั้งความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย คุณสมบัติของเชฟ การเลือกใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์การปรุงอาหาร มาตรฐานการใช้บริการ ความสะอาด และบรรยากาศการตกแต่งภายในร้าน คาดว่าในอนาคตจะมีร้านอาหารไทยที่ได้รับเครื่องหมาย Thai Select ในตลาดจีนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
*****************************************
https://mp.weixin.qq.com/s/qzASfVxaEvZohw5HNQI6lg
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)