หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > ตลาดเครื่องปรับอากาศในเกาหลีใต้

ตลาดเครื่องปรับอากาศในเกาหลีใต้

ภาพรวมตลาด

ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศเกาหลีใต้อยู่ในภาวะอิ่มตัวเป็นเวลาหลายปี ซึ่งยอดขายจะอยู่ในช่วงฤดูร้อน (เดือนมิถุนายน-สิงหาคม) ของทุกปี โดยรูปแบบของเครื่องปรับอากาศที่ได้รับความนิยมในตลาดเกาหลี มีดังนี้

  • เครื่องปรับอากาศชนิดติดผนัง (Wall Type)
    • ในอดีต เครื่องปรับอากาศชนิดติดผนังครองตลาดเครื่องปรับอากาศภายในประเทศ โดยนิยมติดตั้งในห้องนอนใหญ่ของที่พักอาศัย
    • แต่ด้วยจำนวนคู่แต่งงานลดลงและครัวเรือนเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของครัวเรือนทั้งหมด ส่งผลให้ความต้องการต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กเพิ่มขึ้น การติดตั้งเครื่องปรับอากาศชนิดติดผนังจึงลดลงไป
  • เครื่องปรับอากาศแบบพกพา
    • ในปี 2561 มูลค่าการขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า หลังจากการปล่อยสินค้าออกมาเพียงหนึ่งปี
  • เครื่องปรับอากาศแนวตั้งแบบติดหน้าต่าง (Window type Air Conditioner)
    • ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2562 เริ่มเข้ามาแทนที่เครื่องปรับอากาศชนิดติดผนังและเครื่องปรับอากาศแบบพกพา และได้ครองตลาดเกาหลีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คาดว่าเครื่องปรับอากาศชนิดนี้จะเติบโตสูงขึ้นไปในอีก 5 ปีข้างหน้า
    • ด้วยความสะดวกสบายในการติดตั้งและขนาดที่เหมาะสำหรับที่พักอาศัยขนาดเล็ก รวมถึงมีการใช้พลังงานและระดับเสียงรบกวนน้อย ทำให้เป็นที่นิยมและตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน อัตราการบริโภคคิดเป็น 20-25% ของตลาดเครื่องปรับอากาศทั้งหมด
    • จากสถานการณ์ฤดูร้อนที่ร้อนมากและ Super El Nino ในปีนี้ ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ เช่น Samsung Electronics และ LG Electronics รวมถึงบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง เช่น Paseco Cuckoo Homesys Kiturami Boiler CLK และ Shinilต้องการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคผ่านสินค้าเครื่องปรับอากาศแนวตั้งแบบติดหน้าต่างที่ควบกับเทคโนโลยีขั้นสูง จึงคาดว่าจะเติบโตถึง 700,000 เครื่องภายในปีนี้

ส่วนแบ่งตลาดเครื่องปรับอากาศในเกาหลีใต้

ยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 ล้านเครื่องต่อปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของเกาหลี คาดว่ายอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่าเมื่อเทียบกับปี 2565

ตามรายงานของกลุ่มวิจัยตลาด GfK กล่าวว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดของเครื่องปรับอากาศภายในประเทศของ Samsung Electronics ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 48.6% เพิ่มขึ้น 7.6% จากปี2565 มาจากความนิยมของเครื่องปรับอากาศรุ่น WindFree ที่ลดการใช้พลังงาน โดยส่วนแบ่งของ Samsung Electronics คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศ ในขณะที่ LG Electronics มีส่วนแบ่งในไตรมาสแรกคิดเป็น 32.5%

สถานะการนำเข้ามายังเกาหลีใต้

  • เครื่องปรับอากาศที่ออกแบบมาเพื่อยึดติดกับหน้าต่าง ผนัง เพดาน พื้น หรือระบบแยกส่วน (split-system) (HSK 841510)

  • เครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้สำหรับบุคคลในรถยนต์ (HSK 841520)

  • เครื่องปรับอากาศอื่นๆ (HSK 841582)

  • อะไหล่ (HSK 841590)

กฎระเบียบการนำเข้ามายังเกาหลีใต้

  • ผู้นำเข้าต้องได้รับการประเมินความสอดคล้องของสินค้าจาก National Radio Research Agency ในการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ ตามพระราชบัญญัติคลื่นวิทยุ
  • ผู้นำเข้าจะนำเข้าได้ หลังได้รับการยืนยันจากหน่วยงานรับรองความปลอดภัยเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติควบคุมความปลอดภัยของเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค
  • หลังจากนำเข้าเครื่องปรับอากาศแล้ว จำเป็นต้องระบุวิธีการปฏิบัติต่อสารอันตราย และต้องส่งแผนการรีไซเคิล ตามพระราชบัญญัติการรีไซเคิลทรัพยากรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานพาหนะ (เดิม พระราชบัญญัติส่งเสริมการประหยัดและการรีไซเคิลทรัพยากร)
  • สำหรับการนำเข้าอะไหล่ของเครื่องปรับอากาศ จำเป็นต้องส่งผลการนำเข้าผลิตภัณฑ์และวัสดุบรรจุภัณฑ์ในปีก่อน ให้กับ Korea Environment Corporation

แนวโน้มของตลาดเครื่องปรับอากาศในเกาหลีใต้

  • แทรนด์ฟังชั่นใหม่ๆ ที่มาพร้อมเครื่องปรับอากาศ

ตั้งแต่ปี 2562 ความต้องการเครื่องปรับอากาศที่สามารถฟอกอากาศได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากภาวะฝุ่นที่เป็นปัญหาทางสังคม และความเป็นกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ซี่งยังคงมีความต้องการเครื่องปรับอากาศแบบนี้ต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปี 2565 ความต้องการเครื่องปรับอากาศที่สามารถลดความชื้นได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากความร้อนที่ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน และเป็นการลดการเกิดราในบ้าน โดย Lotte Hi-mart ซึ่งเป็นตัวแทนร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า กล่าวว่า ยอดขายเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 195% ในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 และยอดขายเครื่องลดความชื้นเพิ่มขึ้น 158% เช่นกัน

ในปีปัจจุบัน 2566 ที่เกาหลีใต้เผชิญสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศชนิดประหยัดพลังงานได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคต้องการประหยัดค่าไฟฟ้า

  • เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากการหลีกเลี่ยงอากาศร้อนและการใช้เวลาที่บ้านในช่วงเทศกาลวันหยุดที่ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตาม ทำให้แนวโน้มเด่นในปีนี้คือ การเน้นความสำคัญของเทคโนโลยี เช่น AI ที่สามารถปรับความเย็นได้โดยอัตโนมัติ

ประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศมักจะพิจารณาตามการใช้พลังงาน ความสามารถในการทำความเย็น ความสามารถในการลดความชื้น พัดลม และเสียง รวมถึง ฉลากระดับการใช้พลังงานบนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระดับ 1-5 ซึ่งระดับ 1 หมายถึง มีประสิทธิภาพสูงและเป็นประโยชน์ในการลดค่าไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจาก Samsung Electronics และ LG Electronics เองก็อยู่ในระดับ 1-2 อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบข้อแตกต่างหรือคุณสมบัติที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของสินค้าอาจเป็นไปได้ยาก หากเพียงพิจารณาตามฉลากดังกล่าวเพียงอย่างเดียว

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาเทคโนโลยี อย่างเช่น AI จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญใหม่ในการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านในปีนี้ ซึ่งแนวโน้ม “Smart Home Solution” เช่น เครื่องปรับอากาศที่สามารถกำหนดการทำงานและควบคุมพลังลมให้เหมาะสมในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก

การแข่งขันภายใต้ตลาดเครื่องปรับอากาศของเกาหลีใต้

  • LG Electronics ใช้วิธีการเสนอทางเลือกให้ตลาดได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าเกาหลีได้เปลี่ยนไปหลังจาก COVID-19 ที่มักจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กในห้องที่มีขนาดเล็ก เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศแบบหน้าต่างเพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 เนื่องจากราคาถูกและมีประสิทธิภาพ
  • Samsung ก็มีวิธีการแข่งขันในตลาดที่แตกต่างออกไป ผ่านการผลักดันเทคโนโลยี เช่น การรวม Artificial Intelligence (AI) เข้าไว้ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งกล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้เปรียบในประสิทธิภาพพลังงาน การทำงาน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศผ่าน Wi-Fi นอกจากนี้ ซัมซุงยังนำเสนอเทคโนโลยี Wind-free เป็นการทำความเย็นโดยไม่ปล่อยลมออกมาโดยตรง ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจจากการ Naengbangpyeong หรือ Air-conditioningitis ซึ่งหมายถึงอาการป่วยจากการได้รับลมเย็นของเครื่องปรับอากาศ

  • Dayou Winia ได้เปรียบจากการเป็นบริษัทผลิตเครื่องฟอกอากาศ ก็ได้รวม AI กับผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเสนอความสามารถของเทคโนโลยีฟอกอากาศของบริษัท ผ่านการรวมเทคโนโลยีฟอกอากาศในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากฝุ่นละออง โดยการเพิ่มการทำงานในเครื่องปรับอากาศรูปแบบนี้ยิ่งส่งผลดีต่ออัตราการขายและส่งผลให้ Dayou Winia ได้เปรียบกว่าบริษัทคู่แข่งรายอื่นๆ จากเป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอด

พฤติกรรมผู้บริโภคของตลาดเครื่องปรับอากาศในเกาหลีใต้

โดยทั่วไป การติดตั้งเครื่องปรับอากาศในครัวเรือนเกาหลีใต้นั้น มักติดตั้งเครื่องปรับอากาศหลายยูนิต (Multi-Split System) หรือการแยกติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 2 ชนิดในที่พักอาศัย ได้แก่ แอร์ตู้ตั้งพื้น (Floor Standing Type) และ และเครื่องปรับอากาศติดผนัง (Wall Type)

แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ครอบครัวเดี่ยว จึงทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้ความต้องการต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านว่า ความต้องการต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึง เครื่องปรับอากาศ จะลดลงหลังจากสถานการณ์COVID-19

  • จากการสำรวจ Opensvey หนึ่งในบริษัทวิจัยของเกาหลี รายงานว่า ปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาเมื่อซื้อเครื่องปรับอากาศ ได้แก่ ราคา (45.2%) ประสิทธิภาพของการทำงาน (35.5%) ระดับประสิทธิภาพพลังงาน (37.4%) และแบรนด์ (34.8%)
  • ช่องทางการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ จะเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ตามนี้

  • มีการบริโภคสินค้าจากกลุ่มบริษัทเกาหลี (57.4%) สินค้าพรีเมี่ยมจากกลุ่มบริษัทเกาหลี (29.7%) สินค้าจากบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของเกาหลี (10.3%) สินค้าพรีเมี่ยมจากต่างประเทศ (0.6%) สินค้าที่คุณภาพลดลงมาจากต่างประเทศ (0.6%) และอื่น ๆ (1.4%)

โอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย

 ตลาดเครื่องปรับอากาศของเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทเกาหลีอย่าง Samsung และ LG มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของตลาด อีกทั้งพบว่าผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าต่างประเทศมีน้อยกว่า 2% ในการสำรวจ

นอกจากนี้ พบว่าผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ของเกาหลี อย่าง Samsung (1988)LG (1997) และ Winia (2019) กำลังผลิตสินค้าในประเทศไทย และนอกเหนือจากการทำธุรกิจกับบริษัทเกาหลีที่มีฐานผลิตในไทยแล้ว ผู้ประกอบการไทยก็ควรที่จะขยายความร่วมมือทางการค้ากับผู้จัดหาอะไหล่เครื่องปรับอากาศในเกาหลีเช่นกัน จากที่ผู้บริโภคเกาหลีพิจารณาราคา ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และยี่ห้อเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้า ผู้ผลิตไทยจึงควรคำนึงในการผลิตหรือพัฒนาสินค้าตามปัจจัยต่างๆ นี้

ความเห็นสำนักงานฯ ตลาดเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของเกาหลีใต้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน รวมถึงสถานการณ์ของ COVID-19 ที่ได้กระตุ้นยอดขายของเครื่องปรับอากาศให้เพิ่มขึ้นไปอีกเช่นกัน ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตหลายรายได้พัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้และออกผลิตภัณฑ์ออกมาอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดให้อย่างเท่าทัน เช่น เทคโนโลยีเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค หรือ สินค้าที่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่เล็ก เพื่อตอบสนองต่ออัตราของครอบครัวเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น

สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดเครื่องปรับอากาศของเกาหลีใต้นั้น เนื่องจากการบริโภคสินค้าจากต่างประเทศในตลาดนี้อาจจะเติบโตได้ยากจากการครองตลาดของกลุ่มบริษัทเกาหลี อย่างไรก็ตาม จากสถิติการนำเข้าแล้ว ได้มีการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะอะไหล่และชิ้นส่วน ดังนั้น การเจรจาธุรกิจกับบริษัทจัดหาอะไหล่สำหรับเครื่องปรับอากาศหรือบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศของเกาหลี จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการค้าระหว่างกันรวมถึง การเจรจาการค้ากับบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศของเกาหลีที่มีฐานผลิตในไทยเช่นกัน ผู้ส่งออกไทยควรติดตามแนวโน้ม โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค เพื่อขยายโอกาสในตลาดเกาหลีต่อไป

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

30 สิงหาคม 2566

(1) Trend of Home Appliances, Opensurvey, 2022.05

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login