หน้าแรกTrade insight > ติดตามสถานการณ์ตลาดสัตว์เลี้ยงของจีน

ติดตามสถานการณ์ตลาดสัตว์เลี้ยงของจีน

Pets Economy หรือเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงถือเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ได้กำเนิดขึ้นจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตยุคใหม่ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงดังกล่าวได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากตลาดการค้าสัตว์เลี้ยงดั้งเดิมไปจนถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยง บริการเสริมความงามสัตว์เลี้ยง บริการทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง บริการฝึกอบรมสัตว์เลี้ยง บริการหาคู่สัตว์เลี้ยง บริการฝังศพสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ถือเป็นเศรษฐกิจที่ครบวงจรตั้งแต่เกิดถึงตายที่สามารถทำเงินได้จากสัตว์เลี้ยง ทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่อยู่เบื้องหลังสัตว์เลี้ยงได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้น และขยายไปทุกสาขาของอุตสาหกรรมการผลิตและการให้บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงจะกลายเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของจีนที่สามารถทำเงินได้ดีในอนาคต

 

การบริโภคสัตว์เลี้ยงทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตลาดเอเชียถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีนที่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดสัตว์เลี้ยงของเอเชียมากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่พบว่าจีนมีสัตว์เลี้ยงอย่างน้อยประมาณ 100 ล้านตัว และศักยภาพตลาดเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงของจีนก็สูงถึง 15,000 ล้านหยวน (75,000 ล้านบาท) ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงคาดการณ์ว่ายอดขายของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง และตลาดของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงของจีนจะมีมูลค่ารวมกันถึง 6,000 ล้านหยวน (30,000 ล้านบาท) ซึ่งของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงนั้นมีหลากหลายประเภท เช่น ของใช้สำหรับสุนัขและของใช้สำหรับแมว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแมวและสุนัข ของใช้สัตว์อื่นๆ ของใช้สำหรับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน กรงนก ของใช้สำหรับปลาสวยงาม ปลาน้ำจืด น้ำเค็ม ของขวัญของที่ระลึกทั้งของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ เป็นต้น (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

 

ข้อมูลล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 พบว่าจีนมีสัตว์เลี้ยงจำนวน 470 ล้านตัว ในที่นี้เป็นสุนัขและแมวจำนวน 190 ล้านตัว ซึ่งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนบ้านที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า ในขณะที่ตลาดของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงในปี ค.ศ. 2020 มีมูลค่าถึง 72,700 ล้านหยวน (363,500 ล้านบาท) มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในระยะเวลา 5 ปี ถึงร้อยละ 24 และขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนด้านการลงทุน ก็พบว่าตลาดสัตว์เลี้ยงก็ถูกจับตามองมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่สามารถทำกำไรได้ดีเช่นกัน โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลจากสมาคมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงของสหรัฐอเมริกา (American Pet Products Association: APPA) จะพบว่าสัดส่วนของครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกาสูงถึงร้อยละ 65 ขณะที่อังกฤษมีสัดส่วนร้อยละ 43  และญี่ปุ่นร้อยละ 28 ซึ่งโดยภาพรวมแล้วปริมาณการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในครัวเรือนของสหรัฐอเมริกาจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ความต้องการของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง และอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 

สำหรับประเทศในโซนยุโรป พบว่ามีบ้านที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงจำนวน 75 ล้านครัวเรือน และเจ้าของสัตว์เลี้ยงร้อยละ 91 จะมีของขวัญวันคริสต์มาสให้แก่สัตว์เลี้ยงของตน ขณะที่ครอบครัวชาวอเมริกันเกือบร้อยละ 70 อย่างน้อยมีสัตว์เลี้ยง 1 ตัว และคาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจำนวนสัตว์เลี้ยงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งอัตราการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการข้ามพรมแดนในตลาดสัตว์เลี้ยงของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นอย่างมาก

 

ส่วนสถานการณ์ในจีน พบว่าชาวจีนนิยมเลี้ยงสุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด โดยในปี ค.ศ. 2019 ยังพบว่าในบรรดาชาวจีนที่เลี้ยงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเมืองจำนวน 73.55 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 46.1 มีสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง และร้อยละ 30.7 มีแมวเป็นสัตว์เลี้ยง หรือคิดเป็นจำนวนสุนัขและแมวที่มากถึง 56.48 ล้านตัว แบ่งเป็น สุนัขจำนวน 33.90 ล้านตัว และแมวจำนวน 22.58 ล้านตัว ซึ่งโดยเฉลี่ยมีคนเลี้ยงสุนัข 1.5 ตัวต่อคน และเลี้ยงแมว 1.8 ตัวต่อคน

 

จำนวนสัตว์เลี้ยงในจีนยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง จึงสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีนเป็นอย่างมาก โดยมีกลุ่มนักวิจัยบางส่วนให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ที่มี GDP ต่อหัวสูงกว่า 3,000 เหรียญสหรัฐ (105,000 บาท) ตลาดสัตว์เลี้ยงจะเข้าสู่ช่วงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมืองหลายแห่งในจีนก็เติบโตไปถึงระดับดังกล่าวแล้ว และเมืองใหญ่บางแห่งก็เติบโตเกินระดับนี้ไปแล้วเช่นกัน อาทิ กรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองกวางโจว เมืองเซินเจิ้น ทำให้ในปัจจุบันการพาสุนัขออกไปเดินเล่นข้างนอกแบบซึ่งคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของชาวตะวันตก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในหลายๆ เมืองของจีนแล้ว  นอกจากนี้ก็ยังพบว่าผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง แชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง และของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ยังวางจำหน่ายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำมากมาย (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 35 บาท)

 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์การพัฒนาของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เปรียบเทียบกับในอดีตจะพบว่า ในปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์นิยมเลี้ยงเหมือนลูกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ตลาดอี้อู๋โซนที่จำหน่ายสินค้าระหว่างประเทศจะมีผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงที่หลากหลายจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าการบริโภคสัตว์เลี้ยงได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่ของการบริโภคของประชาชนในยุคปัจจุบันไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่ามีการออกแบบเครื่องนุ่งห่มให้แก่สัตว์เลี้ยงมากขี้น ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง มีทั้งเสื้อกันฝน เสื้อกันหนาว เสื้อผ้าฤดูร้อน ชุดกระโปรง และเสื้อผ้าอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีชุดแต่งงาน สูท กี่เพ้า เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ในอดีตที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ยิ่งทำให้คนได้ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจที่พบว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงร้อยละ 21 ใช้จ่ายให้กับสัตว์เลี้ยงของตนมากกว่าก่อนช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19

 

สำหรับผู้ประกอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงข้ามพรมแดน ก็มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากให้เลือก เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ ปลอกคอ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวโน้มที่ใหม่ที่น่าสนใจคือ เจ้าของสัตว์เลี้ยงมักจะใช้รูปแบบการดำเนินชีวิตของตนมาดูแลสัตว์เลี้ยง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่สนใจอาหารออร์แกนิกส์ หรือผลิตอาหารธรรมชาติ ก็จะมองหาผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันให้กับสัตว์เลี้ยงเช่นกัน

 

ในปี ค.ศ. 2015 ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของจีนมีมูลค่าเพียง 16,000 ล้านหยวน (80,000 ล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2020 มูลค่าของตลาดเพิ่มสูงขึ้นเป็นเป็น 54,000 ล้านหยวน (270,000 ล้านบาท) และในปี ค.ศ. 2020 เฉพาะตลาดสัตว์เลี้ยงในเขตเมืองของจีนมีมูลค่าถึงเกือบ 300,000 ล้านหยวน (1.5 ล้านล้านบาท)  และมีอัตราการเติบโตในช่วง 6 ปี ถึงร้อยละ 32.8 ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของจีนจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านหยวน (500,0000 ล้านบาท)

 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

การบริโภคผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของจีนมีความหลากหลายและเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีนจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ดังนั้น ตลาด Pets Economy ของจีนจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามองและมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะตลาดที่สำคัญอย่างของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ยังมีการแข่งขันไม่สูงเท่ากับอาหารสัตว์เลี้ยง โดยผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่มอย่างลึกซึ้ง รวมถึงพฤติกรรมความชอบ รสนิยมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมหลังจากผ่านช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่ทำให้เจ้าของกับสัตว์เลี้ยงรักกันมากขึ้น และมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงเพื่อชดเชยความต้องการด้านอื่นๆ รวมทั้งเปลี่ยนช่องทางการบริโภคโดยใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ ผลจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ยังทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับต้นๆ โดยนิยมซื้อผลิตภัณฑ์แบรนด์จีนมากขึ้น และหันมาชอปปิงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งรูปแบบและรสนิยมการบริโภคดังกล่าว โดยเฉพาะแบรนด์ขนาดเล็กและตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ต่างประเทศแล้ว พบว่าช่องทางอีคอมเมิร์ซคือโอกาสที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายดายและรวดเร็วที่สุด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะเรียนรู้และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้ช่องทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในการเจาะตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในจีนให้มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อเข้าไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในตลาดจีน และเพิ่มโอกาสที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในตลาดจีนในระยะยาวต่อไป

แหล่งที่มา: https://www.chinairn.com/news/20230907/140542841.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login