หน้าแรกTrade insightถั่วเหลือง > ห้างค้าปลีก Carrefour เดินหน้าพัฒนาตลาดสินค้าอาหารจากโปรตีนพืช

ห้างค้าปลีก Carrefour เดินหน้าพัฒนาตลาดสินค้าอาหารจากโปรตีนพืช

ถึงแม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ แต่แบรนด์ห้างค้าปลีก Carrefour ของฝรั่งเศสยังคงยืนยันเดินหน้า ตามแผนนโยบาย Food Transition (พัฒนาบรรจุภัณฑ์,คัดเลือกที่มาและคุณภาพของสินค้าเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ)  เพื่อสร้างตลาดอาหารเพื่อความยั่งยืน  ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นหลังจากที่นาย Alexandre Bompard  เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ของ Carrefour ในปี 2018

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานาย Alexandre Bompard จัดงานแถลงข่าวในบริเวณพื้นที่ของห้าง Carrefour เขต Auteuil กรุงปารีส เพื่อกล่าวสรุปนโยบายแนวทางการพัฒนา Food Transition โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารของบริษัท Danone, Bel และ Bonduelle ส่วนหนึ่งของบริษัทคู่ค้าที่ร่วมกันพัฒนาสินค้าเพื่อตอบรับนโยบายในครั้งนี้  รายชื่อบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมอาหารที่มีส่วนร่วมโครงการกับ Carrefour ได้แก่ บริษัท Savencia, Unilever, Andros และ Nutrition&Santé

นาย Alexandre Bompard กล่าวย้ำถึงความสำคัญในการสร้างตลาดอาหารเพื่อความยั่งยืน  เนื่องมาจากธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูงถึง 1 ใน 4   และการพัฒนาสินค้าอาหารที่ผลิตจากโปรตีนทางเลือกและพืชจะมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินนโยบายนี้    ซึ่งทาง Carrefour และบริษัทคู่ค้าทั้ง 7 รายตั้งเป้ามูลค่าผลประกอบการจากตลาดสินค้าอาหารโปรตีนทางเลือกและพืชไว้ที่ 3,000 ล้านยูโรภายในปี 2026   โดยในส่วนของห้าง Carrefour จะอยู่ที่ 500 ล้านยูโร ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดสินค้าอาหารจากโปรตีนทางเลือกของ Carrefour ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากมูลค่าในปัจจุบัน  นอกเหนือจากความร่วมมือกับคู่ค้าสำคัญที่กล่าวมาแล้ว ทาง Carrefour พร้อมเปิดโอกาสรับความร่วมมือกับผู้ประกอบการอาหารเจ้าใหม่เพื่อพัฒนาตลาดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

จากการสำรวจข้อมูลของบริษัทการตลาด Circana แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ส่งเสริมต่อนโยบายการพัฒนาสินค้าอาหารจากโปรตีนทางเลือกของห้าง Carrefour โดยสามารถสรุปตัวเลขการบริโภคได้ดังนี้

  • ช่วงระหว่างปี 2015-2023 ผู้บริโภคฝรั่งเศสในแต่ละครัวเรือนที่ประกอบด้วยผู้บริโภค Flexitarian1  อย่างน้อยหนึ่งราย  ในปี 2015 มีสัดส่วนร้อยละ 25 ของผู้บริโภคทั้งหมด มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อถึงปี 2023 คิดเป็นร้อยละ  45
  • ในช่วงระหว่างเวลาเดียวกัน ผู้บริโภคฝรั่งเศสในแต่ละครัวเรือนที่ประกอบด้วยผู้บริโภค Vegetarian อย่างน้อยหนึ่งราย ในปี 2015 มีสัดส่วนร้อยละ 5 ของผู้บริโภคทั้งหมด มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อถึงปี 2023 คิดเป็นร้อยละ  3
  • ในปี 2022 ตลาดสินค้าอาหารจากโปรตีนพืชโดยรวม (เครื่องดื่ม,อาหารผลิตจากโปรตีนถั่วเหลือง ฯลฯ) คิดเป็นมูลค่า 533 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้าและคงความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2023  ตลาดขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่า  327 ล้านยูโร

นาย Bertrand Swiderski ผู้อำนวยการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-Corporate social responsibility) ของห้าง Carrefour กล่าวถึงแผนการในเบื้องต้นของบริษัทจะเริ่มด้วยการปรับปรุงและจัดพื้นที่สำหรับสินค้าอาหารโปรตีนทางเลือกในรูปแบบใหม่ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งการใช้ป้ายกำกับหรืออาจจัดพื้นที่ใหม่สำหรับสินค้าประเภทนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น

ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารจากโปรตีนพืชของบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมอาหารของฝรั่งเศสพัฒนาขึ้นในรูปแบบที่ต่างกันออกไป  นาย Pablo Perversi ผู้อำนวยการตลาดดูแลภาคพื้นทวีปยุโรปของบริษัท Danone กล่าวว่าในปีที่ผ่านมาแบรนด์สินค้าจากโปรตีนพืช Alpro มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 2 จุด   ในขณะเดียวกัน นาง Anne-Sophie ผู้อำนวยการของบริษัท Bel (เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 30 แบรนด์เช่น Kiri, La Vache qui rit, Boursin ฯลฯ) กล่าวว่าทางบริษัทจำเป็นต้องปรับนโยบายเพื่อสร้างความสมดุลทางการตลาดระหว่างตลาดผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์และผลิตภัณฑ์จากโปรตีนพืช  ถึงแม้ว่าทาง Bel ได้สร้างแบรนด์ Nurishh ขึ้นมาสำหรับขายสินค้าจากโปรตีนพืชโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม Bel จำเป็นต้องใช้ความนิยมของแบรนด์สินค้าที่มีอยู่เดิม เช่น Boursin แบรนด์ผลิตภัณฑ์ชีสจากนมวัวที่เป็นที่รู้จักดีของผู้บริโภค  โดยเพิ่มสินค้าสูตรใหม่จากโปรตีนพืชและใช้ชื่อของแบรนด์ Boursin เพื่อช่วยส่งเสริมการตลาดและดึงดูดผู้บริโภค

ความท้าทายสำหรับการพัฒนาตลาดของแบรนด์สินค้าอาหารจากโปรตีนพืช ได้แก่ การสื่อให้ผู้บริโภคเห็นถึงประโยชน์ที่ได้จากการบริโภคอาหารจากโปรตีนทางเลือก และ การผลิตสินค้าให้มีรสชาติที่ถูกใจผู้บริโภค  

ในขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023  ตลาดอาหารออร์แกนิคฝรั่งเศสมีปริมาณการบริโภคลดลงถึงร้อยละ 13   ปริมาณการบริโภคอาหารจากโปรตีนพืชกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเติบโตของสินค้าอาหารจากโปรตีนพืชในตลาดฝรั่งเศส  อย่างไรก็ตามนาย Alexandre Bompard กล่าวว่านโยบายการพัฒนาสินค้าอาหารจากโปรตีนพืชของ Carrefour ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมและลดทอนการบริโภคโปรตีนจากสัตว์มาเป็นโปรตีนทางเลือกแต่อย่างใด

ความเห็น สคต.

ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคสินค้าอาหารแต่ละครัวเรือนในฝรั่งเศสลดลง (ร้อยละ 11.4 ในช่วงระหว่างไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 จนถึงไตรมาสที่สองของปี 2023)  ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (ไฟไหม้ป่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ) ที่มีความรุนแรงและเห็นได้ชัดมากขึ้นในทุกปี ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญในการเลือกแหล่งที่มาและแนวทางการผลิตสินค้าอาหารเพื่อการบริโภคมากยิ่งขึ้น

ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอาหารในฝรั่งเศสต่างมองว่าสินค้าอาหารจากโปรตีนทางเลือกสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้   ในปี 2022 แบรนด์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหารจากโปรตีนทางเลือกรายสำคัญของฝรั่งเศส เช่น Umiami, La Vie หรือ HappyVore ต่างได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มเงินสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ตลาดสินค้าอาหารประเภทนี้ในฝรั่งเศสมีความหลากหลายและเติบโต  โดยเริ่มพัฒนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเมนูร้านอาหาร ร้านอาหารจานด่วนและฟาสต์ฟู้ด  ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่เชี่ยวชาญด้านอาหารและเครื่องดื่มจากโปรตีนทางเลือก สามารถพิจารณาการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ SIAL 2024 ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2024 ที่ศูนย์การแสดงสินค้าเมือง Villepinte ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อสร้างโอกาสทางการค้ากับผู้เข้าชมจากทั่วโลก  โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลแนวโน้มความต้องการของสินค้า และพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานสำหรับการส่งออก

ที่มาของข่าวและข้อมูล

Philippe Bertrand

ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Les Echos

https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/alimentation-carrefour-sallie-a-sept-industriels-pour-pousser-les-produits-vegetaux-1975835

1 . การบริโภคอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งลดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์และเพิ่มการบริโภคโปรตีนจากพืชในรูปแบบอื่นๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login