หน้าแรกTrade insight > การประท้วงของ UAW อาจทำให้ Stellantis ปิดโรงงาน 18 แห่งในสหรัฐฯ – สคต. ชิคาโก

การประท้วงของ UAW อาจทำให้ Stellantis ปิดโรงงาน 18 แห่งในสหรัฐฯ – สคต. ชิคาโก

“การเจรจากับตัวแทนสหภาพแรงงานผลิตรถยนต์ (UAW) ที่ไม่เป็นผลอาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ปิดโรงงานและย้ายฐานการผลิตได้”

 

การประท้วงนัดหยุดงานของแรงงานโรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั้ง 3 แห่งในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ หรือ Big 3  ได้แก่ บริษัท General Motors (GM) บริษัท Ford Motor Co. และ บริษัท Stellantis เป็นจำนวนเกือบ 13,000 คนตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาด้านการไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสัญญาสวัสดิการแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่เพิ่งจะหมดอายุลงในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 15 กันยายน 2566 นับเป็นการประท้วงของแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์สหรัฐฯ ครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ซึ่งหากการประท้วงยังคงยืดเยื้อกินเวลานานจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายปัจจัย

 

โดยข้อเสนอที่กลุ่มสหภาพแรงงานฯ เรียกร้องที่สำคัญ ได้แก่

  1. ขอให้ปรับขึ้นค่าแรงงานร้อยละ 40 ภายในระยะเวลา 4 ปีให้สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
  2. ขอให้เพิ่มสวัสดิการสำหรับแรงงานเกษียณรวมถึงเงินบำนาญเทียบเท่ากับแรงงานที่เกษียณอายุก่อนหน้านี้ได้รับ
  3. ขอให้ลดเวลาการทำงานแรงงานลงจากเดิม 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยไม่ปรับลดค่าจ้าง
  4. ขอให้ยกเลิกระบบการจ่ายเงินค่าจ้างแบบขั้นบันได (Wage Tier) ในส่วนของแรงงานโรงงาน
  5. ขอให้นำระบบสวัสดิการบำนาญกลับมาใช้กับแรงงานที่เข้าทำงานใหม่ (ปัจจุบันแรงงานเข้าใหม่ได้รับสวัสดิการเฉพาะระบบ 401K)
  6. ขอให้เพิ่มเงินบำนาญสำหรับแรงงานที่เกษียณอายุ
  7. ขอให้นำระบบการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
  8. ขอเพิ่มวันหยุดแบบได้รับเงินค่าจ้าง
  9. ขอให้นำโครงการประกันแรงงานครอบครัว (Working Families Protection Program) มาใช้เช่นเดียวกับแรงงานในสถาบันการเงิน

จนขณะนี้การประท้วงดังกล่าวยังคงยืดเยื้อไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แม้ว่าทางกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วก็ตาม เช่น การปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นร้อยละ 20 ซึ่งปัญหาข้อขัดแย้งดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การพิจารณาปิดโรงงานและย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้

 

หากการเจรจากับกลุ่มสหภาพฯ ไม่เป็นผลบริษัท Stellantis ผู้ผลิตรถยนต์ อาทิ แบรนด์ “Jeep” “Ram” “Dodge” “Chrysler” และ “Fiat” เป็นต้น อาจจะพิจารณาปิดโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีแรงงานอยู่ภายใต้กลุ่มสหภาพฯ ทั้งหมด 18 แห่งและย้ายฐานการผลิตไปยังเขตโรงงานเดิมในรัฐอิลลินอยส์ทดแทน ซึ่งหากบริษัทฯ ตัดสินใจดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มสมาชิกสหภาพฯ ที่ขณะนี้เฉพาะของบริษัทฯ มีจำนวนหลายพันคน ทำให้ต้องถูกให้ออกจากงาน อีกทั้ง ยังจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอเมริกาเหนือทำให้ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวกลับน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในรัฐอิลลินอยส์จะก่อให้เกิดการลงทุนและจ้างงานเพิ่มในพื้นที่ อีกทั้ง ยังจะเป็นการช่วยฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมเดิมที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่ด้วย

 

ในชั้นนี้มีความเป็นไปได้ที่บริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับการปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ “Mopar” (Motor and Parts) และศูนย์กระจายสินค้า 10 แห่งที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วสหรัฐฯ แล้วหันไปรวมเป็นศูนย์กระจายสินค้าเพียงแห่งเดียวที่โรงงานเมือง Belvidere รัฐอิลลินอยส์ที่เพิ่งจะปิดตัวลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เป็น Mega Hub เช่นเดียวกันกับศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท Amazon

 

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่บริษัทฯ จะขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อลดปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอีก เช่น โรงงานเมือง Tipton รัฐอินดีแอนา โรงงานเมือง Mount Elliot รัฐมิชิแกน รวมถึงสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เป็นต้น

 

สำหรับโรงงานเมือง Belvidere รัฐอิลลินอยส์ เป็นหนึ่งข้อถกเถียงระหว่างตัวแทนบริษัทฯ และกลุ่มสหภาพฯ เนื่องจากมีข้อกังวลว่า หากบริษัทฯ ตัดสินใจย้ายโรงงานตามแผนอาจจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกจ้างทั้งด้านสวัสดิการ ผลตอบแทน และการย้ายที่อยู่ของแรงงาน รวมถึงข้อกังวลด้านสัดส่วนจำนวนแรงงานกลุ่มที่เป็นสมาชิกและกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพในโรงงานแห่งใหม่ด้วย

 

ในส่วนของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ หรือ “Mopar” สำหรับรถยนต์เอนกประสงค์ แบรนด์ Jeep Cherokee ซึ่งมีโรงงานผลิตและศูนย์กระจายสินค้าทั้งสิ้น 20 แห่งมีการจ้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่ง โดยในการประชุมระหว่างบริษัท Stellantis กับสื่อเมื่อไม่นานมานี้ Mr. Mark Stewart ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารกิจการ (Chief Operating Officer หรือ COO)  กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนจะเพิ่มการลงทุนกับกลุ่มกิจการ “Mopar” มากขึ้น โดยบริษัทเสนอสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมือง Fishkill รัฐนิวยอร์ก เมือง Macon รัฐจอร์เจีย และย้ายโรงงานจากรัฐมิชิแกนไปเมือง Trenton รัฐมิชิแกน นอกจากนี้ ยังวางแผนจะปิดโรงงานเมือง Atlanta รัฐจอร์เจีย เมือง Boston รัฐแมสซาชูเซ็ตต์ รวมถึงโกดังและศูนย์บรรจุภัณฑ์เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เมือง Maryville รัฐมิชิแกน เมือง Milwaukee รัฐวิสคอนซิน เมืองนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก เมือง Orlando รัฐฟลอริดา เมือง Sherwood รัฐวิสคอนซิน และเมือง Warren รัฐมิชิแกน

 

ล่าสุดบริษัท Stellantis ได้ยื่นข้อเสนอต่อกลุ่มสหภาพฯ โดยเสนอปรับขึ้นค่าแรงร้อยละ 21  รวมทั้งการเพิ่มค่าจ้างทันทีร้อยละ 10 รวมทั้งโบนัสและสวัสดิการอื่นๆ เช่นเดียวกันกับข้อเสนอบริษัท General Motors และ บริษัท Ford Motor Co. โดยในส่วนของพนักงานสายงานชิ้นส่วนรถยนต์ “Mopar” ได้สนอปรับเพิ่มค่าจ้างจากปัจจุบัน 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงเป็นกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มตัวแทนสหภาพฯ ยังไม่ได้พิจารณารับข้อเสนอดังกล่าวในขณะนี้

 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และประกอบรถยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูง โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งสิ้นกว่า 168 บริษัท คิดเป็นมูลค่าราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเกือบ 1 แสนราย ในส่วนของการดูแลแรงงานในอุตสาหกรรมนั้น ปัจจุบันมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ (United Auto Workers หรือ UAW) ในสหรัฐฯ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครอง ดูแล ปกป้องสวัสดิการแรงงานและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

 

โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพฯ เป็นไปด้วยความสมัครใจไม่มีการบังคับ แรงงานของโรงงานแต่ละแห่งสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งลงคะแนนเพื่อหาฉันทามติเข้าร่วมสหภาพฯ ได้ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ แล้วแรงงานจะต้องปฎิบัติตามมติของสหภาพฯ เช่นเดียวกันกับการประท้วงในครั้งนี้ที่สหภาพฯ มีมติให้แรงงานหยุดงานเพื่อประท้วงกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ในเขตเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกนเนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับสวัสดิการสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมที่สหภาพฯ พยายามผลักดันมาตลอดจนเลยกำหนดเส้นตายมาแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ การประท้วงในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ ทำให้การผลิตชิ้นส่วนและการประกอบรถยนต์หยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณชิ้นส่วนการผลิตรถยนต์และจำนวนรถยนต์สำหรับจำหน่ายในตลาด  อีกทั้ง ยังน่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปสู่การจำหน่ายรถยนต์ทำให้ยอดจำหน่ายหดตัวลงได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายและอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการค้าปลีกทำให้ชะลอตัวตามไปด้วย ยิ่งการประท้วงยืดเยื้อนานเท่าไหร่ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งหากปัจจัยการประท้วงลุกลามมากขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจจะลุกลามไปยังเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้

 

นอกจากนี้ การประท้วงดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการดำเนินนโนบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันที่ตั้งเป้าแข่งขันเป็นผู้นำตลาดของโลกแข่งกับจีน แม้ว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับแรงงานได้มีความเป็นไปได้ที่จะต้องเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการให้แก่แรงงานในอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และการประกอบรถยนต์ภายในประเทศ และจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับ อุตสาหรกรมรถยนต์จีนซึ่งปัจจุบันพัฒนารุดหน้าไปมาก อีกทั้ง ยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัดด้วย

 

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ จะหันไปเลือกนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนการผลิตจากผู้ผลิตในเอเชียรวมถึงไทยมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด จึงอาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตและส่งออกสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในการเพิ่มมูลค่าการส่งออก รวมถึงอาจจะเป็นโอกาสในการดึงดูดให้กลุ่มผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ให้ขยายฐานการผลิตไปตั้งในประเทศไทยในอนาคตด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมต้นทุนด้านค่าแรงงานในอุตสาหกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกันฝีมือแรงงานและระบบสาธารณูปโภค ทั้งนี้ อัตราค่าแรงงานในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตไทย ดังนั้น การพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยจึงควรพิจารณาถึงผลดีและผลเสียอย่างรอบด้าน

 

ที่มา: สำนักข่าว CNBC

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login