หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > อียิปต์เสี่ยงวิกฤตหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับ 2 รองจากยูเครน

อียิปต์เสี่ยงวิกฤตหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับ 2 รองจากยูเครน

วิกฤตหนี้สาธารณะครั้งใหญ่กำลังก่อตัวขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa: MENA) ซึ่งอาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้และการล่มสลายทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่เริ่มวิกฤตการเงินของเลบานอนในปี 2562 โดยนักเศรษฐศาสตร์จาก IMF และ Bloomberg ระบุว่าอียิปต์ ตูนิเซีย จอร์แดน และบาห์เรน เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงวิกฤตที่อาจผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและประชาชน

Bloomberg ได้ทำการจัดอันดับของตลาดเกิดใหม่ 60 แห่ง ตามความอ่อนไหวด้านหนี้สาธารณะ (Debt Vulnerablity) แสดงให้เห็นว่ามีประเทศใน MENA อยู่ในอันดับต้นๆ ได้แก่ อียิปต์ (อันดับ 2), ตูนิเซีย (อันดับ 4), บาห์เรน (อันดับที่ 11) และจอร์แดน (อันดับที่ 13) การประเมินความเปราะบางของอียิปต์พบว่าเป็นอันดับสองรองจากยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

เมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของวิกฤตหนี้สาธารณะในอียิปต์ ตูนิเซีย และจอร์แดน โดยยกตัวอย่างเลบานอน ที่ได้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักหลังจากผิดนัดชำระหนี้ในปี 2563 ซึ่ง IMF ได้กระตุ้นให้ดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยทั้ง 3 ประเทศนั้นมีหนี้ระดับที่สูงมากกว่าร้อยละ 80 ของ GDP ทำให้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เนื่องจากผู้ให้กู้ต่างชาติต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ดิ้นรนเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและลดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจนำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางการเมือง

ข้อสังเกต

ความอ่อนไหวด้านหนี้สาธารณะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้อาจผิดนัดชำระหนี้ต่อผู้ให้กู้ เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ระดับหนี้อยู่ที่ 93% ในอียิปต์ 80% ในตูนิเซีย 125% ในบาห์เรน และ 88% ในจอร์แดน ตามการศึกษาของ Bloomberg แม้ว่าอันดับจะเปลี่ยนไปตลอดการศึกษา แต่อียิปต์และตูนิเซียยังคงอยู่ใน 5 อันดับแรกนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งสองยอมรับข้อตกลงของ IMF และได้รับเงินช่วยเหลือหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ถูกมองว่า “ใหญ่เกินกว่าจะล้มเหลว” และตูนิเซียได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของอาหรับสปริง

ประเทศอาหรับที่สำคัญเหล่านี้ต้องต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และส่งผลให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของนักลงทุน อัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตะวันตก ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่ไม่เคยพบเห็นนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 เป็นผลให้เงินทุนต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่เริ่มไหลกลับไปทางตะวันตกเพื่อค้นหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยนักลงทุนถอนเงินประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์จากตลาดตราสารหนี้ของอียิปต์ในปี 2565

เมื่อปี 2565 การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิงและข้าวสาลี ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดสินเชื่อทั่วโลกที่ตึงตัวส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก อียิปต์เป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยูเครน และต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ในภูมิภาค MENA อัตราเงินเฟ้อของอียิปต์ ซึ่งสูงถึง 39.7% และทุนสำรองระหว่างประเทศของตูนิเซียที่ลดลง ได้เห็นทั้งสองประเทศพยายามดิ้นรนในการนำเข้าสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับบริการที่จำเป็น เช่น เชื้อเพลิง ไฟฟ้า อาหาร และยา

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลอียิปต์ได้ประกาศขายทรัพย์สินของรัฐมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ตามข้อตกลงของ IMF แม้ว่ารัฐในอ่าวเปอร์เซียจะช่วยเหลือเศรษฐกิจของอียิปต์เมื่อปีที่แล้ว แต่โอกาสในการช่วยเหลือครั้งต่อไปแบบไม่มีเงื่อนไขอีกครั้งนั้นยังมีโอกาสที่น้อย

ประชากรอียิปต์ประมาณ 60% คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ในตูนิเซีย แม้ว่าสหภาพยุโรปจะให้เงินทุนเพื่อควบคุมการไหลออกของการย้ายถิ่นฐาน แต่ประเทศในแอฟริกาเหนือที่มีแหล่งรายได้จากเงินตราต่างประเทศที่น้อย การขาดแคลนเงินสกุลต่างชาติ รวมถึงการขาดแคลนขนมปัง ข้าว น้ำตาล และอาหารพื้นฐานอื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ด้วยกำหนดชำระหนี้จำนวนมากในปีหน้า วิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงอาจทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความไม่สงบไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือก่อให้เกิดการอพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกครั้งหนึ่ง

——————————————–

https://www.newarab.com/news/debt-storm-mena-are-egypt-and-tunisia-next-lebanon

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login