หน้าแรกTrade insight > กระท่อมและองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ

กระท่อมและองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) มีประกาศเตือนผู้บริโภคไม่ให้ใช้พืชสมุนไพร Mitragyna Speciosa หรือที่รูจักกันในนาม “กระท่อม” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและปาปัวนิวกวินี โดย FDA กังวลว่าใบกระท่อม ซึ่งมีฤทธิ์ต่อตัวรับในสมองที่จับตัวกับสาร Opioid แบบเดียวกับสาร Morphine นั้น ปรากฏว่ามีคุณสมบัติที่ทำให้ผู้ใช้ต้องเสี่ยงต่ออันตรายและการเสพติด

ซึ่ง FDA เองนั้นไม่เคยอนุมัติการนำกระท่อมมาใช้ และยังได้รับรายงานข้อกังวลด้านความปลอดภัยของกระท่อมมากมาย โดย FDA นั้นกำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีทั้งหมดในเรื่องนี้และยังได้ออกคำเตือนผู้บริโภคไม่ให้ใช้สินค้าใดๆ ที่แจ้งบนสลากว่ามีการนำสารที่นำมาจากใบกระท่อม หรือ มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทจากใบกระท่อม Mitragynine และ 7-Hydroxymitragynine นอกจากนี้แล้ว FDA ยังได้สนับสนุนให้ทำการวิจัยมากขึ้นเพื่อจะได้เข้าใจคุณสมบัติด้านความปลอดภัยของใบกระท่อมให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการนำเอาสารเหล่านี้ไปใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ ด้วย

นับตั้งแต่ครั้งที่เจาะจงถึงกระท่อมในคำเตือนสำหรับสินค้านำเข้าในปี 2012 ว่าเป็นยาที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และในคำเตือนสำหรับสินค้านำเข้าครั้งที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 เรื่องอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกระท่อมและเครื่องปรุงอาหารที่ขนส่งเข้ามาในปริมาณมาก FDA ก็ได้ดำเนินการไปแล้วหลายอย่าง ซึ่งได้แก่

ในขณะที่ FDA พิจารณาข้อมูลด้านความปลอดภัยในเรื่องฤทธิ์ของใบกระท่อมเท่าที่มีอยู่นี้ FDA ขอให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพและผู้บริโภครายงานปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์มายังโครงการ MedWatch ของ FDA ด้วย

บทวิเคราะห์: สารจากใบกระท่อมนั้น มีฤทธิ์ที่เป็นทั้งสารกระตุ้นประสาทและมีฤทธิ์ในลักษณะเดียวกับฝิ่น ซึ่งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ไม่ได้อนุมัติให้ใช้ได้ในสหรัฐฯ แม้การครอบครองและใช้สารดังกล่าวจะไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายในหลายๆ รัฐก็ตาม ทั้งนี้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้มีกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายสำหรับสารดังกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ FDA ก็ยังคงศึกษาและรวบรวมข้อมูลเท่าที่สามารถหาได้เอาไว้อย่างต่อเนื่อง โดยได้เน้นเก็บข้อมูลด้านฤทธิ์หรือผลอันไม่พึงประสงค์อันเกิดจากการใช้สารดังกล่าวเอาไว้อยู่อย่างต่อเนื่อง และยังได้ออกคำแนะนำในเชิงว่าไม่ควรจะใช้ เพราะอาจทำให้เสพติด และมีอันตรายต่อผู้ใช้ รวมถึงยังได้เคยแจ้งให้ศาลดำเนินการอายัดสินค้าด้วย

และแม้ FDA จะไม่เคยอนุมัติให้ใช้ในการบำบัดโรค แต่ในสหรัฐฯ ก็มีรายงานการใช้สารเหล่านี้อยู่เพื่อบรรเทาอาการลงแดงในผู้ป่วยที่เสพติดยาประเภทที่ผลิตจากฝิ่นได้ บรรเทาอาการปวด ใช้แก้อาการป่วยทางจิตและใช้แก้อาการเหนื่อยล้า FDA ยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่พบในผู้ใช้กระท่อมทั้งที่ต้มใบแห้งๆ และใบสดๆ เป็นน้ำชา หรือเคี้ยวใบสดๆ หากใช้สารดังกล่าวในปริมาณต่ำอาจช่วยแก้ง่วงและทำให้ร่าเริง คุยเก่งพูดมาก หากรับเข้าไปมากก็อาจมีอาการเมายาในลักษณะเดียวกันกับผู้ที่เสพสารที่มาจากฝิ่น มีอาการเคลิบเคลิ้มได้ และทำให้เสพติดและอาจถึงขั้นมีอาการลงแดงได้เมื่อขาดยา

ในสหรัฐฯ มีน้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้ที่อายุมากกว่า 12 ปีใช้สารจากกระท่อมหรือมีประมาณ 2.1 ล้านคนในปี 2020 โดยผู้ใหญ่อายุ 26 ปีขึ้นไป มีผู้ที่ใช้สารจากกระท่อมในทางที่ผิดมากที่สุดถึงราว 1.8 ล้านคน มีเด็กหนุ่มสาวอายุ 18 – 25 ใช้ประมาณ 286,000 คน และเด็กวัยรุ่นอายุ 12-17 ปีใช้อยู่ประมาณ 48,000 คน

ข้อมูลจาก National Institute on Drug Abuse (NIDA) ในสังกัดของ National Institutes of Health ได้รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับกระท่อมในแง่มุมต่างๆ ไว้พอสังเขป โดยได้บรรยายถึงการทำงานของสารในกรท่อมที่มีผลต่อสมองอย่างไร ฯลฯ ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://nida.nih.gov/research-topics/kratom ซึ่งในบทความนี้จะเอ่ยถึงเฉพาะในเรื่องอันตรายของกระท่อมบางประเด็นเท่านั้น ซึ่งได้แก่ อันตรายจากสารปนเปื้อน อาทิ โลหะหนักและเชื้อโรค เช่นเดียวกับที่มักพบในยาสมุนไพรอื่นๆ อาการอันไม่พึงประสงค์นานาประการตั้งแต่แค่เบาๆ (คลื่นไส้ วิงเวียน) ไปจนถึงหนักมาก (อาการทางจิต ความดันโลหิตสูง อาเจียน ปัญหาต่อตับ) อีกอย่างที่ควรระวังนั่นคือการใช้สารจากใบกระท่อมร่วมกับยาชนิดอื่น อาจมีปฏิกิริยาต่อกันแล้วส่งผลร้ายแรงได้ และเนื่องจากการใช้สารดังกล่าวอาจทำให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดลงได้ จึงควรระวังหากใช้สารดังกล่าวในขณะขับรถและใช้งานเครื่องจักรที่มีอันตราย

รายงานผลถึงขั้นเสียชีวิตจากการใช้กระท่อมนั้นมีน้อย และการเสียชีวิตจากการเสพเกินขนาดยิ่งหายากมาก (มีรายงานในปี 2019 รวบรวมจำนวนผู้เสียชีวิตที่พบสารจากใบกระท่อมด้วย 11 รายในระหว่างปี 2011-2017 แต่มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่พบสารจากใบกระท่อมเพียงชนิดเดียว) ส่วนใหญ่มักมีการใช้สารเสพติดอย่างอื่นๆ ร่วมด้วย แต่โดยรวมแล้วในหน้าที่ตอบหัวข้อคำถามว่า “การใช้กระท่อมปลอดภัยหรือไม่” คำบรรยายในรายงานดังกล่าวมักจะกล่าวว่า ยังมีการศึกษาเรื่องนี้น้อย ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน ยังไม่ทราบ ยังไม่เข้าใจอยู่หลายๆ อย่าง อาทิ ปฏิกิริยาจากการใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ ผลต่อสตรีมีครรภ์ ผลระยะยาวต่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ให้การสนับสนุนให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: เหตุที่ FDA ออกมาเตือนจนถึงขั้นร้องศาลให้จับกุมและอายัดสินค้าบางรายนั้น พอจะสรุปได้ว่ามาจากข้อสันนิษฐานถึงผลร้ายของสารจากใบกระท่อมจากอาการหลอนประสาทเช่นเดียวกับอาการของสารจากฝิ่น แต่แม้จะไม่ได้อนุมัติ FDA ก็ไม่ได้ห้ามใช้อย่างชัดเจน เป็นเพียงแต่คำเตือนให้ระมัดระวังในการใช้ และก็ยอมรับชัดๆ ว่าหน่วยงานของตนยังไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับสารจากใบกระท่อมอย่างจริงจังมากพอที่จะสรุปว่าเป็นอันตราย จึงยังไม่มีกฎระเบียบใดๆ มาห้ามการใช้และครอบครองในระดับ       รัฐบาลกลาง แต่ก็มีบางรัฐในสหรัฐฯที่บัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายว่ากระท่อมเป็นสิ่งต้องห้ามด้วย ผู้ที่สนใจจะส่งออกสินค้าที่มีสารจากใบกระท่อมหรือแม้แต่ใบสด จึงควรต้องระมัดระวังและหาข้อมูลอย่างชัดเจนเสียก่อนว่ารัฐเป้าหมายของตนถือว่าใบกระท่อมถูกกฎหมายหรือไม่ และแนะนำให้เสนอขายแบบ FOB โดยทำความเข้าใจกับ    ผู้ซื้อให้ชัดเจนก่อนขายว่าผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบกฎระเบียบในการนำเข้า เพื่อเลี่ยงโอกาสที่จะถูกอายัดได้ สำหรับผู้ซื้อที่เคยนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ มาก่อนแล้วอาจจำเป็นต้องใช้ที่ปรึกษาทางกฎหมายให้คำแนะนำก่อนจะนำเข้าสินค้ามายังสหรัฐฯ ทั้งนี้ น่าสังเกตุว่า FDA ไม่ได้หยิบยกกรณีการบังคับใช้คดีกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเลย จากรายงานล่าสุดโดย พ.ญ. Elena Hill, MD, MPH ที่ได้รวบรวมเอาสถานะล่าสุด (21 กุมภาพันธ์ 2023) ด้านกฎหมายของสารจากใบกระท่อมในรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ เอาไว้ดังนี้

0=ผิดกฎหมาย 1=ผิดกฎหมาย+ อาจเปลี่ยนแปลง 2=ถูกกฎหมาย+เงื่อนไขซับซ้อน 3=ถูกกฎหมาย+ยกเว้นหลายจุด 4=ถูกกฎหมาย+ยกเว้นบางแห่ง 5=ถูกกฎหมาย

*********************************************************

US FDA เรื่อง: “FDA and Kratom” โดย: US FDA Press Release สคต. ไมอามี /วันที่ 5 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login