หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > พลังงานทดแทนในชิลี กับโอกาสของอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ไทย

พลังงานทดแทนในชิลี กับโอกาสของอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ไทย

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญทางด้านพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ที่เกิดจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ก่อให้เกิดพลังงานแสงและพลังงานความร้อนอันเป็นพลังงานหมุนเวียนสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยังเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง ไม่มีวันหมดอายุ

พลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะมีการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนโดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) บนหลังคาที่พักอาศัยที่หลายคนคุ้นตาแล้ว  ปัจจุบันยังมีการใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น ใช้ในระบบสาธารณูปโภคโดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อแจกจ่ายน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค  ใช้ในการพัฒนาการเกษตรโดยการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่ทางการเกษตร หรือใช้เพื่อเพิ่มสุขอนามัยโดยฆ่าเชื้อโรคที่มากับน้ำในพื้นที่กันดารหรือพื้นที่ห่างไกลโดยการให้น้ำสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรง เป็นต้น[1]

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Ornate Solar ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย ระบุว่า ประเทศที่สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากที่สุด 5 อันดับแรกของโลกประจำปี 2565 ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี อินเดีย และหากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่าในส่วนของภูมิภาคลาตินอเมริกา บราซิล เม็กซิโกและชิลี เป็นประเทศที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากที่สุด เรียงตามลำดับ[2]

อย่างไรก็ดี แม้ว่าชิลีจะเป็นประเทศในอันดับที่ 3 ในภูมิภาคลาตินอเมริกาก็ตาม แต่ “ชิลี” ถือเป็นประเทศที่น่าจับตามองและได้รับความสนใจจากทั่วโลกเนื่องจากเป็นประเทศที่มีการพัฒนาและหันมาใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การใช้พลังงานทดแทนในชิลีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด กล่าวคือในปี 2554 ชิลีมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ขนาด 1 เมกะวัตต์ (MW) และมีการพัฒนาและเพิ่มขนาดเรื่อยมา และตัวเลขล่าสุดในปี 2565 พบว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในชิลีอยู่ที่ 4,400 เมกะวัตต์ (หรือที่ 1 กิกะวัตต์) ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 440,000% ภายในช่วงระยะเวลา 11 ปี และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 กิกะวัตต์ต่อ 1 ชั่วโมง[3]  โดยปัจจุบัน พลังงานไฟฟ้า 18% มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรัฐบาลชิลีได้กำหนดเป้าหมายว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 ปีข้างหน้านับจากนี้ ไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศจะได้มาจากพลังงานทดแทนที่ 80% โดยผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลมและน้ำ ที่สัดส่วนร้อยละ 25  26 และ 29 ตามลำดับ[4]

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

ชิลีถือเป็นประเทศอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเป็นประเทศแรกในกลุ่มลาตินอเมริกาที่มีการเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราประมาณ 5 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเป็นประเทศแรกทีสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 30% ในปี 2550 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยในปัจจุบัน

จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์ของชิลี โดยมีความความยาวที่สุดในโลกที่ 4,320 กิโลเมตร ทอดตัวครอบคลุมพื้นที่ในแนวยาวจากเหนือลงใต้ ทำให้ภูมิอากาศทางตอนเหนือและตอนไต้ของประเทศมีความแตกต่างดันอย่างชัดเจน ซึ่งทางตอนเหนือมีลักษณะอากาศแบบทะเลทราย ในขณะที่ทางตอนใต้มีลักษณะอากาศแบบเทือกเขาน้ำแข็ง ทั้งนี้ ทางตอนเหนือของประเทศเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในโลก ทำให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่สำคัญ โดยปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในพลังงานทดแทนในประเทศชิลีเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก พบว่าชิลีมีการนำเข้าสินค้าโฟโตวอลตาอิกเซลล์ที่ประกอบขึ้นเป็นแผงหรือโมดูล หรือรู้จักกันในนาม “โซลาร์เซลล์” (HS Code 854143) จากประเทศจีนเป็นหลัก โดยชิลีมีการนำเข้าโซลาร์เซลล์จากจีนในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 197 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วนที่ร้อยละ 98 ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด รองลงมาคือ การนำเข้าจากสเปนและ “ไทย” ซึ่งการนำเข้าจากไทยมีมูลค่าประมาณ 294,000 เหรียญสหรัฐ[1]

นอกจากนี้ ในปี 2550 ไทยมีผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์จำนวน 36 ราย[2] (แม้ว่าจะไม่มีรายงานที่ชัดเจนสำหรับตัวเลขผู้ประกอบการของไทยในปัจจุบัน) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • กิจการการผลิตโซลาร์เซลล์ จำนวน 22 ราย ซึ่งเป็นการลงทุนจาก 1) ผู้ประกอบการชาวต่างชาติ จำนวน 10 ราย (ร้อยละ 45) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสัญชาติจีนที่ลงทุนในกิจการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ 2) ผู้ประกอบการสัญชาติไทย จำนวน 8 ราย (ร้อยละ 37) และ 3) ผู้ประกอบการที่มีการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการสัญชาติไทยและผู้ประกอบการชาวต่างชาติ จำนวน 4 ราย (ร้อยละ 18)
  • กิจการการประกอบโซลาร์เซลล์ จำนวน 14 ราย ซึ่งเป็นการลงทุนจาก 1) ผู้ประกอบการสัญชาติไทย จำนวน 10 ราย (ร้อยละ 72) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนในกิจการขนาดเล็ก 2) ผู้ประกอบการชาวต่างชาติ จำนวน 3 ราย (ร้อยละ 21) และ 3) ผู้ประกอบการที่มีการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการสัญชาติไทยและผู้ประกอบการชาวต่างชาติ จำนวน 1 ราย (ร้อยละ 7)

สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าความต้องการนำเข้าของชิลีในสินค้าโซล่าร์เซลล์จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลชิลีตั้งเป้าหมายให้ร้อยละ 80 ของพลังงานไฟฟ้าผลิตจากพลังงานทดแทน และร้อยละ 25 ของพลังงานไฟฟ้าผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์

ในส่วนของการส่งออกสินค้าโซลาร์เซลล์ของไทย  สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสินค้าโซล่าเซลล์อันดับที่ 1 ของไทย ส่วนการส่งออกไปยังตลาดโลกในปี 2566 แม้จะยังได้รับแรงหนุนจากที่ภาคธุรกิจในหลายประเทศหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนค่าไฟที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็ได้รับแรงกดดันจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าโซลาร์เซลล์ไทยไปตลาดโลก (ยกเว้นสหรัฐ) อาจมีแนวโน้มชะลอตัวในปีหน้า โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกโซลาร์เซลล์ไทยไปยังตลาดโลกในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,503 เหรียญสหรีฐ หรือประมาณ 8.76 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขยายตัวร้อยละ 37 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (อัตราการขยายตัวร้อยละ 49)

การกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาดของหลายประเทศ รวมถึงชิลี  ส่งผลให้ความต้องการสินค้าโซลาร์เซลล์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย สคต. ณ กรุงซันติอาโก มีแผนในการพบหารือผู้นำเข้าโซลาร์เซลล์รายสำคัญในชิลี เพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้และความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยต่อไป

—————————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤษภาคม 2566

[1] ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

[2] ข้อมูลจาก https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/347-Solar-cell-Thailand-Overview

[3] https://borgenproject.org/solar-power-in-chile/

[4] https://investchile.gob.cl/es/chiles-energy-transformation-is-powered-by-wind-sun-and-volcanoes/

[1] https://www.uac.co.th/th/knowledge-sharing/341/solar-energy

[2] https://ornatesolar.com/blog/the-top-5-solar-countries-in-the-world

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login