หน้าแรกTrade insightเคมีภัณฑ์และพลาสติก > โคลอมเบียออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติก

โคลอมเบียออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติก

โคลอมเบียมีการปรับปรุงกฎระเบียบและโครงสร้างทางภาษีในประเทศ โดยสภาสูงของโคลอมเบียได้ผ่านกฎหมายปฏิรูปการเก็บภาษี (กฎหมาย 2277) และออกประกาศเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 การปรับปรุงโครงสร้างด้านการเก็บภาษีครั้งนี้ ครอบคลุมถึงการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  การเก็บภาษีจากเงินปันผล  การเก็บภาษีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (หรือภาษีสีเขียว)

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use) เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐจะเก็บภาษีดังกล่าวกับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตามปริมาณหรือน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ฯ น้ำหนัก 1 กรัม จะถูกจัดเก็บภาษีที่อัตรา 0.00005 UVT (หน่วยมูลค่าภาษี)[1] หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.9 เปโซโคลอมเบียต่อบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนัก 1 กรัม อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าดังกล่าวจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีหากมีใบรับรองสินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Certification: CEC) ที่กำกับดูแลโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโคลอมเบีย นอกจากนี้ รัฐบาลได้กำหนดบทลงโทษหากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าฯ ไม่สำแดงรายการหรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี โดยจะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มในอัตราส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายจริง[2]

มาตรการหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์พลาสติก

ถุงพลาสติก

รัฐบาลโคลอมเบียจัดเก็บภาษีถุงพลาสติกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ภายใต้กฎหมาย 1819 โดยจัดเก็บภาษีคิดเป็นมูลค่า 20 เปโซโคลอมเบียต่อถุงพลาสติก 1 ใบที่มีขนาดใหญ่ หรือจัดเก็บภาษีในอัตราดังกล่าวกับห้างร้านที่มีรายได้เกินกว่า 104 ล้านเปโซโคลอมเบีย รัฐบาลเพิ่มอัตราการจัดเก็บที่มูลค่า 10 เปโซโคลอมเบียทุกปีต่อเนื่องจนถึงปี 2563 ซึ่งรัฐบาลมีการปรับเพิ่มในปีนั้น โดยจัดเก็บตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ปี 2564 และปี 2565 มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 51 เปโซโคลอมเบีย และ 53 เปโซโคลอมเบีย ตามลำดับ โดยในปี 2566 นี้ มีการจัดเป็บภาษีที่ 60 เปโซโคลอมเบีย ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกที่ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีดังกล่าว อาทิ ถุงพลาสติกที่ใช้ในการบรรจุผักและผลไม้ก่อนวางจำหน่าย  ถุงพลาสติกที่ไม่มีการจัดจำหน่าย  (เช่น ถุงขยะ ถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด)[1]

ผลิตภัณฑ์พลาสติก

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 สภาสูงของโคลอมเบียได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้รวมเนื้อหาของกฎหมายที่เคยใช้กำกับดูแลผลิตภัณฑ์พลาสติกที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 และปี 2563  กฎหมายฉบับปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและลดการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยห้ามการผลิต นำเข้า ส่งออก การตลาด และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในประเทศ นอกจากนี้มีการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการลดและการทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ฯ ทั้งนี้ ประเภทของผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกภายใต้กฎหมายดังกล่าว ได้แก่

1) ถุงสำหรับบรรรจุ หีบห่อ หรือใช้ขนย้าย ยกเว้นที่สามารถใช้ซ้ำหรือใช้ทางอุตสาหกรรม

2) ถุงที่ใช้บรรจุหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โฆษณา และใบแจ้งหนี้ รวมถึงถุงที่ใช้บรรจุเสื้อผ้าที่จะซัก

3) ฟิล์มยืดสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและฟอยล์หรือฟิล์มที่ใช้ห่อป้องกัน

4) บรรจุภัณฑ์หรือภาชะบรรจุของเหลวที่ต้องมีการบริโภคทันทีสำหรับการนำกลับหรือการจัดส่ง

5) จาน ถาด มีด ส้อม แก้ว และถุงมือสำหรับรับประทานอาหาร

6) อุปกรณ์ผสม และหลอดดูด

7) ที่ยึดหรือที่จับพลาสติกสำหรับปั๊ม

8) ผ้าปูโต๊ะ สายรุ้งประดับงาน เศษพลาสติกสำหรับตกแต่ง

9) บรรจุภัณฑ์ และภาชนะบรรจุอาหารที่ต้องมีการบริโภคทันทีสำหรับนำกลับหรือการจัดส่ง

10) แผ่นสำหรับเสิร์ฟ บรรจุ ห่อ หรือแยกอาหารเพื่อการบริโภคทันที สำหรับนำกลับหรือการจัดส่ง

11) ก้านไม้แคะหูหรือก้านไม้กวาดที่เป็นพลาสติก

12) ที่จับด้ายขัดฟัน หรือส่วนยึดด้ายขัดฟัน

13) สติ๊กเกอร์ ป้าย หรือสัญญลักษณ์ที่ติดกับพืชผัก

14) บรรจุภัณฑ์ ภาชนะ หรือภาชนะใด ๆ ที่ใช้ด้านการตลาดหรือการจัดส่งสินค้า ผัก ผลไม้ อาหารต่างๆ ให้ถึงผู้บริโภค

กฎหมายที่กำกับดูแลการลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ได้กำหนดระยะเวลาการลดการใช้พลาสติกตามประเภทของผลิตภัณฑ์ข้างต้น ดังนี้

·    สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกในข้อ 1), 2), 3), 6), 7) และ 11)  มีระยะในการปรับตัวและใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนภายใน 2 ปี ตั้งแต่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

·    สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกในข้อ 4), 5), 8), 9) 10), 12), 13) และ 14) มีระยะในการปรับตัวและผลิตภัณฑ์ทดแทนภายใน 8 ปี ตั้งแต่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดข้างต้น ได้แก่ (1) พลาสติกที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ (2) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุสารเคมีที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม (3) ผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรจุและถนอมอาหารหรือของเหลวที่มาจากสัตว์ (4) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสุขอนามัยหรือเพื่อสุขภาพที่จำเป็นต้องใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทั้งนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของโคลอมเบียจะมีการออกระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในช่วง 12 เดือนนับจากนี้

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

ปริมาณการใช้พลาสติกภายในประเทศโคลอมเบียในแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล และคาดการณ์ว่าปริมาณพลาสติกดังกล่าวมีปริมาณมากกว่า 116 เท่าของสนามกีฬา Azteca ของประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโคลอมเบีย (Acoplasticos) โคลอมเบียมีการผลิตพลาสติก รวมถึง โพลีโพรพิลีน พีวีซี โพลีสไตลีน โพลีเอทิลีน รวมประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการผลิตทั้งหมดในประเทศ มีการใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ อุปกรณ์อาบน้ำ/ห้องน้ำ เคมี เครื่องสำอาง ปุ๋ย (29%) อุตสาหกรรมอาหาร (22%)  เครื่องดื่ม (18%)  การค้าของร้านอาหารและโรงแรม (22%) และอื่น ๆ (9%)[1] ทั้งนี้ รัฐบาลโคลอมเบีย มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะและมลพิษจากพลาสติก ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวดังที่กล่าวมา เป็นหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์พลาสติก  อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าขั้นสุดท้ายที่ถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 7[2] เช่น บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น

ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าพลาสติกจำเป็นต้องคาดการณ์แนวโน้มความต้องการการใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน รัฐบาลโคลอมเบียมีแผนในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการผลิต และใช้สินค้าเกษตรกรรมในประเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์และภาชนะต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง มันฝรั่ง กาแฟ อะโวคาโด ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคชาวโคลอมเบีย เกี่ยวกับความยั่งยืนของสิงแวดล้อม โดย Boston Consulting Group (BCG) พบว่า ร้อละ 76 ของผู้ตอบแบบสำรวจยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก ส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics) เช่น ถุงพลาสติก จานและแก้วพลาสติก ช้อน/ส้อมพลาสติก และหลอดเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่วนใหญ่ผลิตจากปิโตรเลียม และเมื่อเป็นขยะในทะเล บางส่วนจะกลายเป็นเศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ (เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) หรือไมโครพลาสติก (Microplastics) ซึ่งจะปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอากาศ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้าบรรจุภัณฑ์ ที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมการผลิตสินค้าที่มีการใช้วัตถุดิบทางเลือกมากขึ้น เช่น พลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกรีไซเคิล สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถุง และขวด  นอกจากนี้ หลายประเทศมีแนวโน้มในการจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น ก้นกรองบุหรี่ ขวดและฝาขวดน้ำดื่ม ก้านไม้พันสำลี ผ้าอนามัย ถุง/กระเป๋า บรรจุภัณฑ์ห่อขนมขบเคี้ยว หลอดและที่คนกาแฟ บอลลูนและก้านพลาสติกบอลลูน ผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร ถ้วยพลาสติกและฝาถ้วย รวมถึงช้อนและส้อมพลาสติก รวมถึงสินค้าที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องสามารถรีไซเคิลได้ หรือสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

การลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นการดำเนินการของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตสินค้าของไทยจึงควรพิจารณาการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบธรรมชาติเพื่อทดแทนการใช้พลาสติก และยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ วัตถุดิบจากกธรรมชาติของไทยที่สามารถใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะ เช่น มันสำปะหลังที่ไทยมีผลผลิตประมาณ 30 ล้านตันต่อปี และอ้อยที่ไทยมีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี[1] ซึ่งคาดการณ์ว่าการใช้วัตถุดิบธรรมชาติในการผลิตสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตของไทยจึงควรมีการวางแผนการเพาะปลูกสินค้าเกษตรร่วมกับเกษตรกรด้วย เพื่อให้ได้ผลผลิตตามปริมาณและมีคุณภาพสำหรับการผลิตสินค้า ในการนี้ ผู้ผลิตไทยสามารถทยอยปรับสัดส่วนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถกำจัดโดยง่าย และไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างนวัตกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) ในกลุ่มไบโอพลาสติก ได้แก่ 1) Bio Base คือ วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง 2) Fiber Base คือ วัตถุดิบที่ทำมาจากไฟเบอร์หรือเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้เส้นใยมากที่สุด รวมไปถึงกากใยจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ชานอ้อย ฟางข้าวสาลี ลินิน ไม้ไผ่ และ 3) Biomass คือ วัตถุดิบที่ได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ เปลือกชานอ้อย กากปาล์ม ซังข้าวโพด โดยนำวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้ผลิตเป็นไบโอพลาสติก เพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป[2]

____________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤษภาคม 2566

[1] Asian business, politics, economy and tech news – https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/Thailand-s-plastic-ban-prompts-producers-to-be-eco-friendly

[1] Local newspaper https://www.portafolio.co/economia/colombia-produce-1-4-millones-de-toneladas-de-plastico-al-ano-566367

[2] Local newspaper –  https://www.larepublica.co/especiales/reforma-tributaria-2022/impuesto-a-plasticos-subiria-hasta-7-el-precio-de-productos-en-empaques-pequenos-3435223

[1] Argentine online news –  https://www.infobae.com/america/colombia/2021/01/07/asi-quedo-el-precio-de-la-bolsa-plastica-en-los-supermercados-de-colombia-para-2021/

National Institute of Public Accountants of Colombia – https://incp.org.co/lo-saber-del-impuesto-las-bolsas-plasticas/

[1] The Tax Value Unit is a tool that was created in 2006 through Law 1111 of 2006 that modified the Colombian Tax Statute. For 2023, 1 UVT = $42,412 Colombian pesos

[2] Consulting company – https://www.pwc.com/us/en/services/tax/library/colombia-passes-major-tax-reform-effective-january-1.html

Local newspaper – https://www.portafolio.co/economia/reforma-tributaria/impuesto-a-plasticos-subiria-precios-de-la-canasta-familiar-reforma-tributaria-569849

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login