หน้าแรกTrade insight > ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจกลุ่ม GCC ปี 2566

ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจกลุ่ม GCC ปี 2566

กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งตั้งอยู่ติดกันในอ่าวอาหรับ เศรษฐกิจ GCC เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากมีการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประมาณ 30% ของโลก รวมแล้ว GCC มีประชากรมากกว่า 65 ล้านคน และพื้นที่รวมประมาณ 2.6 ล้านกิโลเมตร GDP ทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 3,600 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจ World Bank Gulf Economic Update (GEU) รายงานเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ GCC ว่าปีนี้มีโอกาสสูงมากที่เศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศ GCC ในปี 2566 จะเติบโตได้น้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

คาดเศรษฐกิจ GCC ปี 2566 จะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 และปี 2567 ที่ร้อยละ 3.2  เมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP ที่โดดเด่นของภูมิภาคที่ร้อยละ 7.3% ในปี 2565 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเกือบตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ประเทศ GCC ได้ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจความสามารถในการแข่งขัน และการปรับปรุงในการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในประเทศ

การคาดการณ์ของธนาคารโลกสําหรับยูเออี ซาอุดิอาระเบีย และประเทศกลุ่ม GCC อื่นๆ

    ความเสี่ยงของเศรษฐกิจ GCC ในปี 2566 จะเติบโตได้ลดลง มาจากสาเหตุหลักที่ GDP สินค้าไฮโดรคาร์บอนลดลง คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.3 ในปีนี้ หลังนโยบายลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2566 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil ) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.6 ในปีนี้  โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนคงที่ และนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย  ซึ่งรายงานฉบับล่าสุดของ World Bank’s GEU ระบุว่าการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้นั้น เพราะได้รับแรงหนุนจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอื่นๆ ที่เริ่มดําเนินการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประเทศ GCC ได้การปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากขึ้นในหลายๆ ด้าน เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว ปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการปรับปรุงในการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในประเทศ

            แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่ลดลง การผลิตน้ำมันหดตัว และภาวะการเงินที่ตึงตัว คาดว่า Real GDP จะเติบโตร้อยละ 2.8 ที่สะท้อนถึงการเติบโตของกิจกรรมน้ำมันลดลงร้อยละ 2.5 ในขณะที่การเติบโตของภาคที่ไม่ใช่น้ำมันแข็งแกร่งที่ร้อยละ 4.8  โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง การขนส่ง และการผลิต

          แนวโน้มเศรษฐกิจซาอุดิอาระเบีย

หลังจากการขยายตัวของ GDP ที่ร้อยละ  8.7 ในปี 2565 การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2.2 ในปี 2566 การลดลงของการผลิตน้ำมันเนื่องจากซาอุดิอาระเบียปฏิบัติตามข้อตกลงของ OPEC+ ในการปรับลดการผลิต จะทําให้ GDP ภาคน้ำมันหดตัวร้อยละ 2

อย่างไรก็ดี เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงคาดว่านโยบายการคลังที่ผ่อนคลายและการเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนที่แข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาการหดตัวของภาคน้ำมัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.7 ในปีนี้

          แนวโน้มเศรษฐกิจบาห์เรน

แนวโน้มเศรษฐกิจของบาห์เรนขึ้นอยู่กับแนวโน้มของตลาดน้ำมัน และผลของการเร่งดําเนินการตามวาระการปฏิรูปโครงสร้างภายใต้โครงการดุลการคลังฉบับแก้ไข คาดว่าการเติบโตจะอยู่ในระดับปานกลางถึงร้อยละ 2.7 ในปี  2566 ก่อนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2567-2568 เนื่องจากการปรับฐานะการคลังยังคงดําเนินต่อไป การเติบโตของภาคไฮโดรคาร์บอนคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.5 ในปีนี้ ในขณะที่ภาคที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอนจะยังคงขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ ความต่อเนื่องของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

          แนวโน้มเศรษฐกิจคูเวต

การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 1.3 ในปีนี้ ที่ตอบสนองต่อแนวทางการผลิตของ OPEC+ ที่ระมัดระวังมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ภาคน้ำมันคาดว่าปีนี้จะหดตัวร้อยละ 2.2 แม้จะมีโรงกลั่นน้ำมัน Al Zour ที่สร้างใหม่เสร็จสิ้น ภาคที่ไม่ใช่น้ำมันของคูเวตคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.4 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกิดจากการชะงักงันทางการเมือง คาดว่าจะบ่อนทําลายการดําเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่

          แนวโน้มเศรษฐกิจโอมาน

เศรษฐกิจของโอมานคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ช้าลงโดยได้รับแรงหนุนหลักจากการเร่งดําเนินการปฏิรูปโครงสร้างภายใต้ วิสัยทัศน์ 2583 (Vision 2040) การเติบโตโดยรวมคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 1.5 ในปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัวลง

ดังนั้นภาคไฮโดรคาร์บอนคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการลดการผลิตล่าสุดของ OPEC+ ในขณะที่เศรษฐกิจที่ไม่ใช่น้ำามันคาดว่าจะยังคงฟื้นตัวต่อไปโดยเติบโตร้อยละ 3.1 ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น กําลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากพลังงานหมุนเวียน และภาคการท่องเที่ยว

          แนวโน้มเศรษฐกิจกาตาร์

คาดว่า Real GDP จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 3.3 ในปีนี้ หลังจากผลการดําเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2565 โดยภาคไฮโดรคาร์บอนขยายตัวร้อยละ 0.8 โครงการขยายพื้นที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันภาคเหนือ คาดว่าจะช่วยเพิ่มภาคไฮโดรคาร์บอนในระยะกลาง เมื่อสามารถดําเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ในขณะเดียวกันคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในภาคที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอนในปีนี้สูงถึงร้อยละ 4.3% โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับล่าสุดหน่วยงานระดับพหุภาคีอื่น ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงร้อยละ 0.2 เป็นร้อยละ 2.5 สําหรับปี 2567

การค้าระหว่างไทยกับ GCC

กลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดหนึ่งที่หลายประเทศให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกําลังซื้อสูง และในขณะเดียวกัน GCC ก็สนใจที่จะขยายการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียที่มีเศรษฐกิจเติบโตแซงหน้าสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ปีล่าสุด (ม.ค.-เม.ย. 2566) ประเทศไทยกับกลุ่ม GCC มีการค้าขายระหว่างกันมูลค่ารวม  405.1 พันล้านบาท (+6.3%) แบ่งออกเป็น

– ภาคการส่งออกสินค้า เช่น รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ไฟเบอร์บอร์ดและผลิตภัณฑ์ไม้ ปลากระป๋อง มูลค่ารวม 76.7 พันล้านบาท (+2.5%) โดยประเทศที่ไทยส่งออกมามากที่สุดเรียงลำดับ ได้แก่ ยูเออี (สัดส่วน 46%) ซาอุดิอาระเบีย (สัดส่วน 35%) โอมาน (สัดส่วน 6%) กาตาร์ (สัดส่วน 6%) คูเวต (สัดส่วน 5%) และบาห์เรน (สัดส่วน 2%)

– ภาคการนำเข้าสินค้า เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์หล็ก มูลค่า 328.3 พันล้านบาท (+10%)  โดยประเทศที่ไทยนำเข้ามากที่สุดเรียงลำดับ ได้แก่ ยูเออี (สัดส่วน 46%) ซาอุดิอาระเบีย (สัดส่วน 35%) กาตาร์ (สัดส่วน 6%) โอมาน (สัดส่วน 6%) คูเวต (สัดส่วน 3%) และบาห์เรน (สัดส่วน 1%)

 Arabian Business

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login