หน้าแรกTrade insight > เอาใจผู้บริโภคจีนยุค 2023 อย่างไรให้ปัง

เอาใจผู้บริโภคจีนยุค 2023 อย่างไรให้ปัง

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของวิธีการค้าปลีกในปัจจุบัน โดยเฉพาะการค้าปลีกแบบร่วมกับเดลิเวอรี่ที่สามารถส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ทันที เป็นรูปแบบการค้าปลีกใหม่ที่นิยมมากในปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใช้วิธีการบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพียงแค่เปิดโทรศัพท์ก็สามารถเพลิดเพลินกับการช็อปปิ้งโดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน การเปลี่ยนแปลงของยุคการค้าปลีกใหม่ ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคกลายเป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ การค้นพบวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินและความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค เป็นสิ่งที่แบรนด์และธุรกิจต้องสำรวจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

            ในขณะที่ผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคกลับมาเป็นเหตุเป็นผล และยังให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเอง แบรนด์ที่สามารถสร้างความรู้สึกทางใจ สร้างประสบการณ์การบริโภคและบริการ จะสามารถดึงดูดและสร้างภาพจำของแบรนด์ให้กับผู้บริโภคได้มากกว่า เว็บไซต์ Food daily พบว่า ปัจุบัน หลายแบรนด์เริ่มหาวิธีเพิ่มความหลากหลายของการค้าปลีกให้สนุกและแปลกใหม่มากขึ้น จึงมีการสำรวจ แนวคิดวิธี “เอาใจ” ผู้บริโภคของแบรนด์ต่างๆ ดังนี้

  1. ความต้องการอยู่ “ใกล้แค่เอื้อม”

            ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์ขนม Mars ได้ร่วมมือกับแบรนด์ Conjure บริษัทผู้ให้บริการเรียกรถชั้นนำระดับโลก ได้เปิดตัวบริการร้านไอศกรีมถึงมือ ในชื่อ “’store-hailing” ในลอสแองเจลิส โดยร้านค้านำร่องนี้ ออกมาในรูปแบบรถไอศกรีมที่รวมไอศกรีมขายดีของแบรนด์ไว้ อาทิ M&M’S, Skeletonn และ TWIX เป็นต้น ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน และสามารถส่งไปยังตำแหน่งของลูกค้าได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที นอกจากนี้ ยังมีระบบการชำระเงินออนไลน์ที่สะดวกและปลอดภัย โดยผู้บริโภคสามารถสัมผัสถึงบริการที่สะดวกรวดเร็วและใช้เวลาสั้น ซึ่งช่วยลดปัญหาการเสียเวลาหรือขั้นตอนการบริโภคได้มากเมื่อเทียบกับการค้าปลีกแบบเดิม

                       มันฝรั่งทอด Simply Roasted      ไอศกรีมแบรนด์ Mars       ร้านค้าแบรนด์ Zippin
  1. การวางตำแหน่งและเวลาที่แม่นยำ “เดินเพิ่ม 1 ก้าว” เพื่อครองใจลูกค้า

            เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์ Starbucks China ได้ร่วมมือกับ Gaode Map สร้างช่องทางการค้าปลีกใหม่ ที่ออกแบบให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์การในการบริการ โดยให้บริการ “สั่งซื้อระหว่างทาง” โดยลูกค้าในเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สามารถเข้าถึงบริการสั่งซื้อ Starbucks ใกล้เคียง จากการค้นหาตำแหน่งร้านบน APP Gaode Map นอกจากนี้ ด้วยความสามารถของ APP ยังสามารถระบุระยะทางและเวลาที่ลูกค้าจะมาถึงร้านหลังได้รับการสั่งซื้อ โดยลูกค้าสามารถไปรับสินค้าที่ร้าน ณ จุดเส้นทางผ่านที่เลือกไว้ เพียงแค่ลดกระจกรถก็สามารถรับสินค้าได้เลย

  1. ลดเวลาและสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้ง

            Zippin เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้าปลีกด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะ AI ในระบบการชำระเงิน ในชื่อ “Zippin Walk-Up” โดยรูปแบบบริการของร้านจะเป็นในรูปแบบร้านค้าอัจฉริยะไร้พนักงาน ลูกค้าสามารถรูดบัตรหรือแสกน QR ที่อยู่ในแอป Zippin เพื่อเข้าไปเลือกซื้อสินค้าผ่านในร้าน ลูกค้าสามารถหยิบของในร้านออกไปโดยไม่ต้องชำระเงิน ระบบ AI ภายในร้านจะทำการตรวจจับสินค้าที่ลูกค้าหยิบ และทำการหักเงินจากบัตรเครดิตที่ลูกค้าผูกไว้โดยอัตโนมัติ

  1. ฉลาดใช้อารมณ์ เพิ่มช่องว่างให้ผู้บริโภคได้ใช้อารมณ์และความรู้สึกในการบริโภค

            Simply Roasted แบรนด์มันฝรั่งทอดพรีเมี่ยมสัญชาติอังกฤษ เปิดตัวมันฝรั่งทอดกรอบ “Simply better crisps” ที่ออกแบบมาเพื่อมอบทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่มีเวลาจำกัด ชื่นชอบมันฝรั่งทอด และต้องการควบคุมการบริโภคมันฝรั่งทอดอย่างสม่ำเสมอ โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมี รสชาติ ขนาด ปริมาณโซเดียม ปริมาณแคลอรี่ เป็นต้น ระบุไว้ที่บนผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอย่างชัดเจน ผู้บริโภคสามารถเลือกรสชาติขนาดตามต้องการโดยปราศจากความรู้สึกผิดในการบริโภค ในหนึ่งกล่องลูกค้าสามารถเลือกขนาดแพ็คเกจได้ทั้งแบบซองเล็ก (21.5 กรัม) แบบซองใหญ่ (93 กรัม) และรสชาติต่างๆ ได้ถึง 24 ถุงในราคาเริ่มต้นที่ 20.4 ปอนด์ นอกจากนี้ ยังมีบริการจัดส่งฟรีถึงบ้าน และลูกค้ายังสามารถเปลี่ยนรสชาติ หรือยกเลิกสินค้าได้ตลอดเวลาตามความต้องการ

            ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภค อุตสาหกรรมค้าปลีกได้ค่อย ๆ ก้าวข้ามยุค 1.0 ที่เน้นสินค้าเป็นหลัก ต่อมา ยุค 2.0 ที่เน้นช่องทางการค้าเป็นหลัก และปัจจุบันเข้าสู่ยุคค้าปลีกใหม่ 3.0 ที่เน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางการค้า ผู้ค้าปลีกเริ่มหันหน้าเข้าหาผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รูปแบบการค้าปลีกแบบ Group buying, Fresh food E-commerce หรือการค้าปลีกเฉพาะในเมือง ล้วนแต่เป็นการค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีบวกกับช่องทางการค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้การรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภคและวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเม่นยำขึ้น ผู้บริโภคกลายเป็นเป้าหมายของการบริการที่แท้จริงทางการค้า แบรนด์ที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี ใกล้ชิดกับผู้บริโภค และรู้จักผู้บริโภคเป็นอย่างดี จะทำให้แบรนด์ชนะใจผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงของผู้คน ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการค้าปลีกแบบดั่งเดิมในหลายด้าน รูปแบบการค้าปลีกแบบใหม่มีการเน้นตอบสนองต่อความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดี และการบริการที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความภักดีและความผูกพันที่แข็งแกร่งกับลูกค้า นอกจากนี้ รูปแบบการค้าปลีกแบบใหม่ยังใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการพัฒนาการขายสินค้าและบริการให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและผู้ประกอบการเช่นกัน ผู้ประกอบการสามรถศึกษาการวางกลยุทธ์ทางการค้าข้างต้น และศึกษาข้อมูลแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบตลาดในปัจจุบัน เพื่อเตรียมรับมือกับเปลี่ยนแปลงและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในการครองใจผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

https://www.cbndata.com/information/275260

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

2 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login