หน้าแรกTrade insight > อิตาลี ประเทศที่เปราะบางที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักของยุโรปที่ได้รับผลกระทบจาก Climate change

อิตาลี ประเทศที่เปราะบางที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักของยุโรปที่ได้รับผลกระทบจาก Climate change

จากการศึกษาของ Scope Ratings ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลักของยุโรป ได้เผยแพร่ผลการทดสอบและคาดการณ์ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ (MCST: MACROECONOMIC CLIMATE STRESS TEST) ที่ดำเนินการใน 5 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ได้แก่ อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสเปน เกี่ยวกับการความเสียหายจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ด้านข้อมูลแก่นักลงทุนในทศวรรษหน้า

ในช่วง 30 ปี (ระหว่างปี 2563 – ปี 2593) หากเกิดกรณีความล่าช้าในช่วงการเปลี่ยนผ่านของ 5 ประเทศดังกล่าว จะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมรวมกันเท่ากับ 41 ล้านล้านยูโร (เฉลี่ย 6.3% ของ GDP สะสม) แต่ความสูญเสียไม่ได้กระจายอย่างสม่ำเสมอตลอด 30 ปี และอาจสูงขึ้นในบางปี โดยจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป อิตาลีมีความเสี่ยงสูงที่สุด และอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 17.5 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็น 14.5% ของ GDP สะสม เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสภาพอากาศน้อยที่สุด อาจมีค่าใช้จ่ายที่ 7.1 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็น 3.2% ของ GDP สะสม สเปน (ประมาณ 10.5% ของ GDP สะสม) เนเธอร์แลนด์ (เกือบ 6% ของ GDP สะสม) และฝรั่งเศส (สูงกว่า 4.5% ของ GDP สะสม) ประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน 2 ประเทศ (อิตาลีและสเปน) ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางกายภาพเรื้อรังจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ และอาจก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อปีที่ 8.7% และ 6.5% ของ GDP ตามลำดับ อันมีสาเหตุหลักมาจากภัยแล้ง ส่วนฝรั่งเศสและเยอรมนีมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมของแม่น้ำ และอาจสูญเสีย 3.7% และ 3.2% ของ GDP ตามลำดับ อันมีสาเหตุมาจากภาวะเรือนกระจก

การทดสอบและสำรวจความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่จะก่อความยากลำบากที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่
1. ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical risk) แบ่งเป็นความเสี่ยงเฉียบพลัน (Acute risk) คือ การเกิดเหตุการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆแต่มีความรุนแรงมาก เช่น น้ำท่วม พายุทอร์นาโด ไฟไหม้ ฯลฯ และความเสี่ยงเรื้อรัง (Chronic risk) ที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิ มีความรุนแรงน้อยแต่มีระยะเวลายาวนาน เช่น คลื่นความร้อน คลื่นความเย็น ภัยแล้ง การแปรผันของอุณหภูมิเฉลี่ย การเสื่อมโทรมของดิน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การขาดแคลนน้ำ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ ความถี่และความรุนแรงของปรากฏการณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
2. ความเสี่ยงในการเปลี่ยนผ่าน (Transition risk) ความเสี่ยงในช่วงเปลี่ยนผ่านตลอดห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้บริษัทต่างๆอาจได้รับความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน คนงาน เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การกระจายสินค้า ฯลฯ เพราะการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดก็มีค่าใช้จ่ายสูง และยังมีบริษัทอีกมากที่ยังไม่พร้อมในการลงทุนเต็มรูปแบบ จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดผลกระทบต่อการทำงาน

ปัจจุบันผลกระทบของภาวะโลกร้อนมีความชัดเจนเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคพัฒนาอุตสาหกรรม อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น +0.98°C และหากไม่มีมาตรการป้องกันและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม อุณหภูมิอาจสูงขึ้นอีก +1.5°C ระหว่างปี 2563 – ปี 2593 น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกลดลงโดยเฉลี่ย 12.85% ต่อทศวรรษ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.3 มิลลิเมตรต่อปีตั้งแต่ปี 2413 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ช่วงปี 2552-2562 เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมีอุณหภูมิสูงสุดในปี 2563 ทำให้เกิดฤดูไฟป่ายาวนานและรุนแรงขึ้น ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสน้ำและลม กลายเป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ยากขึ้น และทำให้เกิดภัยแล้งที่แผ่กว้างในพื้นที่ซึ่งถูกคุกคามจากความแห้งแล้งเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น แอฟริกาตะวันออก พันธุ์พืชและสัตว์เคลื่อนย้ายจากระบบนิเวศหนึ่งไปยังอีกระบบนิเวศหนึ่งอย่างคาดเดาไม่ได้ สร้างความเสียหายที่ทวีความรุนแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก

กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและอุณหภูมิของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการตัดไม้ในป่าฝน เป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลให้กับชั้นบรรยากาศ เพิ่มภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน สิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุดคือการใช้ถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2565 เชื้อเพลิงเหล่านี้มีส่วนต่อการปล่อย CO2 สูงถึง 83% และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพียงอย่างเดียวคิดเป็น 36% มีการประเมินว่าปัจจุบันการปล่อย CO2 จากการเผาไหม้ถ่านหินมีส่วนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนยุคพัฒนาอุตสาหกรรม น้ำมันเป็นแหล่งที่สองของการปล่อย CO2 (ประมาณ 12.54 พันล้านตันในปี 2562)
ในท้ายสุด การขยายตัวของการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างหนาแน่น และการใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมีส่วนทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

นโยบายลดคาร์บอนคือการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยการใช้พลังงานที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์ โดยพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้ทดแทนในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย การเดินทาง การขนส่ง อุตสาหกรรมหนัก ฯลฯ หากบรรลุเป้าหมาย Net Zero (ควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงกว่า +2°C หรือ +1.5°C) ภายในปี 2593 เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะไม่ประสบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นและแก้ไขยากจากภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องการแก้ไขสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น และเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติในเวลาเดียวกัน แต่ก็เป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษ

ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) ที่นับวันการผลิตที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงจะถูกกีดกันทางการค้า และที่ไม่เพียงแค่เป็นกระแส แต่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์
2. การผลิตสินค้าตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ เพราะสินค้ากรีนได้รับการยอมรับและเลือกซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ
3. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุด แต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นต่ำ
4. ผู้ประกอบการต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีการโน้มเอียงในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไทยเป็นผู้ได้เปรียบ เพราะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนมากมาย โดยเฉพาะ แสงแดด ลม น้ำ ที่ทำให้ได้เปรียบด้านต้นทุนพลังงาน และมีวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์จำนวนมากที่สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นสินค้ารีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่มได้
————————————————————————————–
https://www.ilsole24ore.com/art/climate-change-italia-paese-piu-vulnerabile-le-maggiori-economie-europee-AEds7rlD
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
29 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login