หน้าแรกTrade insight > TikTok บุกตลาด social commerce สหรัฐฯ

TikTok บุกตลาด social commerce สหรัฐฯ

Semafor สื่อออนไลน์ระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์คสหรัฐฯ รายงานว่า TikTok วางแผนจะเปิดธุรกิจค้าปลีกในระบบออนไลน์อย่างจริงจังในสหรัฐฯในเร็ววันนี้ คาดว่าจะเป็นเดือนกรกฎาคม 2023 โดยตั้งเป้าจะแข่งขันกับ e-commerce 3 รายที่ครองตลาดสหรัฐฯ คือ Amazon.com e-commerce ของสหรัฐฯ และ Shein.com และ Temu.com ของจีน

 

TikTok เข้าสู่การค้าปลีกทางออนไลน์ครั้งแรกในปี 2022 ภายใต้ชื่อ TikTok Shop ทำธุรกิจในลักษณะ สร้าง platform ให้ธุรกิจค้าปลีกรายอื่นๆใช้ขายสินค้าบน TikTok โดยต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้ TikTok แต่ธุรกิจใหม่ที่ TikTok วางแผนจะเปิดตัวในเร็ววันนี้ จะมีลักษณะการทำธุรกิจที่แตกต่างออกไปจากเดิม คือ จะสร้าง inventory ของตนเองด้วยการซื้อสินค้ามาจำหน่ายเอง โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ของจีนที่ซื้อตรงจากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกจีนและ ผ่านทาง ByteDance Ltd., สำนักงานใหญ่ของ TikTok ในสิงคโปร์ TikTok ได้ติดต่อโรงงานผลิตและผู้ส่งออกจีนเพื่อแสวงหาสินค้าแล้ว ด้วยข้อเสนอว่า TikTok จะทำหน้าที่เป็น marketplace ให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจีนใช้เป็นจุดเริ่มต้น (jumpstart) ทำธุรกิจของตนในสหรัฐฯได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆและไม่คิดค่าคอมมิชชั่นจากการขาย บริษัทฯจะนำเสนอรายการสินค้าของผู้ผลิต/ผู้ส่งออกบน platform ของ TikTok ในรูป shoppable content เช่น in-feed video, real-time video และ product showcases รูปแบบต่างๆ โดยเชื่อมโยงไปยัง influencers และผู้สร้าง content หรือ video นอกจากนี้ TikTok ยังสร้างระบบโลจิสติกส์ของตนเอง โดยวางแผนว่าจะเปิด fulfillment center ที่ Seattle, Washington state ให้บริการโกดัง (warehouse) และการจัดส่งสินค้า และบริษัทฯยังจัดทำการให้บริการผู้บริโภค (customer service) เองอีกด้วย ผู้บริโภคสามารถค้นหาสินค้าบน TikTok Shop และร้านค้าใหม่ของ TikTok ผ่านทาง TikTok Shop Shopping Center ที่ทำหน้าที่เป็น central hub

 

กลยุทธ์นี้คาดว่านอกจากจะช่วยขยายโอกาสให้แก่สินค้าจีนราคาถูกในตลาดสหรัฐฯ สร้างรายได้ให้แก่ TikTok ที่คาดว่าในปี 2023 จะมีมูลค่าสูงถึง 20 พันล้านเหรียญฯแล้ว ยังเป็นการสร้างอำนาจแข่งขันกับ Amazon.com, Shein.com
และ Temu.com ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้าปลีกในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สหรัฐฯ

 

ที่มา: Digital Commerce 360: “TikTok marketplace in US would be cost-free for merchants”, Bloomberg News, June 30, 2023

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น สคต ลอสแอนเจลิส
1. ธุรกิจค้าปลีกในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ TikTok กำลังดำเนินการอยู่นี้จัดอยู่ในประเภท social commerce มีประมาณการณ์ว่าคนอเมริกันประมาณสามร้อยกว่าล้านคนใช้ Social Media และไม่น้อยกว่า 96.9 ล้านคนซื้อสินค้าทาง social media ทำให้ช่องทางค้าปลีกนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือสามารถกระตุ้นการซื้อได้ดีกว่าขายในระบบ e-commerce แบบดั้งเดิม เนื่องจาก

 

(1) มีตัวแปรสำคัญ คือ celebrities, influencers, content creators หรือแม้กระทั่งเพื่อนฝูงญาติมิตร ปรากฏอยู่บน platform เดียวกัน ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นการขาย

 

(2) ผู้บริโภคสหรัฐฯจำนวนมากใช้ Mobile device ในการเข้าถึง social media เนื่องจากผู้บริโภคมี mobile device ติดตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง smart phone และสามารถนำขึ้นมาใช้ในกระบวนการหาและซื้อสินค้าได้โดยทันทีในทุกเวลาและสถานที่ มีประมาณการณ์ว่าในปี 2022 ร้อยละ 65.2 ของคนอเมริกันใช้ mobile ในซื้อสินค้า การใช้ mobile ซื้อสินค้าทางออนไลน์แสดงแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2024 ร้อยละ 40 ของการซื้อทางออนไลน์จะผ่านทาง mobile

 

2. Statista รายงานว่า ในปี 2022 social commerce platforms ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐฯเรียงตามลำดับเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งตลาด คือ Facebook (19%), Instragram (12%), YouTube (9%), TikTok (8%), Snapchat (6%), Pinterest (6%),Twitter (5%) (แต่ละหน่วยงานวิจัยจะมีการเรียงลำดับที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็น social media กลุ่มเดียวกันนี้) มีประมาณการณ์ว่าคนอเมริกัน 150 ล้านคนใช้ TikTok

 

3. การค้าในระบบออนไลน์ได้กลายเป็นรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกที่จะดำรงอยู่ถาวรในอุตสาหกรรมค้าปลีกสหรัฐฯและกำลังมีการเติบโตต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจาก เป็นลักษณะการทำธุรกิจที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ค้าจำนวนมากทั้งรายใหญ่และรายเล็กสามารถตรงเข้าถึงผู้ซื้อจำนวนมากได้หลายช่องทางโดยง่าย รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจต่ำ ประกอบกับการปรับระดับมูลค่าสินค้าที่ไม่เกิน 800 เหรียญฯให้สามารถส่งเข้าไปยังสหรัฐฯได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและมีกระบวนการนำเข้าที่ไม่ยุ่งยาก การค้าทางระบบออนไลน์เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยทุกระดับอาจนำไปพิจารณา

 

4. เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะต้องการใช้ platform ที่มีอยู่แล้วในสหรัฐฯหรือจะสร้าง platform หรือ social commerce –ของตนเอง ต้องพิจารณาคือ การศึกษาวิจัยตลาดเพื่อเลือกช่องทางออนไลน์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสินค้าและกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย และมีการวางแผนการทำธุรกิจที่ดี เนื่องจาก

(1) ตลาดค้าปลีกในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากจีน และมีการแข่งขันในตลาดสูงมาก

(2) สหรัฐฯมีประชากรมากกว่าสามร้อยล้านคน มีความแตกต่างของพฤติกรรมการดำรงชีวิตและการบริโภคสูงมาก มีสินค้าที่ต้องการซื้อทางออนไลน์และช่องการซื้อหาสินค้าทางออนไลน์ที่แตกต่างกันออกไป

(3) สหรัฐฯมีการกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด การปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าและกฎระเบียบที่ควบคุมสินค้าสำหรับผู้บริโภคของสหรัฐฯอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งจำเป็นที่จะประกันความราบรื่นและโอกาสประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในสหรัฐฯ

 

5. การเข้าสู่ระบบค้าปลีกทางออนไลน์ในสหรัฐฯ อาจนำไปสู่โอกาสของสินค้าใหม่ๆของผู้ค้ารายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างถาวรของผู้ค้ารายใหม่หรือการขยายตลาดสำหรับผู้ค้าที่มีสินค้าในตลาดสหรัฐฯอยู่แล้ว ได้โดยง่าย

 

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login