หน้าแรกTrade insightวัสดุก่อสร้าง > จีน เวียดนาม ไทย ครองตลาดการนำเข้าของกัมพูชา มากกว่าร้อยละ 70

จีน เวียดนาม ไทย ครองตลาดการนำเข้าของกัมพูชา มากกว่าร้อยละ 70

  • จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา ระบุว่า จีน เวียดนาม ไทย ส่งออกมายังกัมพูชา มูลค่าเกือบ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าของกัมพูชาจาก จีน เวียดนาม ไทย คิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2566
  • ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ปี 2566 กัมพูชานำเข้าสินค้าจากตลาดต่างประเทศรวม มีมูลค่า 10,109.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงอยู่ที่ร้อยละ 22.6 จาก 13,057.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยการนำเข้าของกัมพูชาจาก จีน เวียดนาม ไทย มีมูลค่าถึง 7,259.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 71.8 ของการนำเข้าทั้งหมด
  • ทั้งนี้ ประเทศอันดับหนึ่ง คือ 1) จีน มีมูลค่า 4,487.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 44.4 ของการนำเข้าทั้งหมด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว) รองลงมา 2) เวียดนาม มีมูลค่า 1,546.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 15.3 (ลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565) และ 3) ไทย มีมูลค่า 1,224.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับร้อยละ 12.1 (ลดลงร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว)
  • นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า สินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมที่ใช้ในการแปรรูปสินค้าในท้องถิ่นเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน กัมพูชายังได้นำเข้าวัสดุก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์บางส่วน เพื่อรองรับการพัฒนาการก่อสร้างภายในประเทศ ซึ่งประเทศจีน เวียดนาม ไทย นี้ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา และเมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น การส่งออกจากประเทศดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก    การส่งออกของกัมพูชาปัจจุบันมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากจีน เวียดนาม ไทย ส่วนใหญ่เป็น สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักร เป็นต้น
  • ด้าน นาย Hong Vanak นักวิจัยเศรษฐกิจแห่งราชบัณฑิตยสถานประจำกัมพูชา เปิดเผยว่า เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้วที่กัมพูชานำเข้าสินค้าจำนวนมากจากจีน เวียดนาม ไทย ได้แก่ ผัก ผลไม้ วัตถุดิบ พลังงาน เชื้อเพลิง เทคโนโลยี วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นต้น เนื่องมาจากกัมพูชามีความสัมพันธ์ทางด้านการทูต และการค้าที่ดีกับจีน เวียดนาม ไทย รวมทั้ง ปริมาณ คุณภาพ และราคาของสินค้าของจีน เวียดนาม ไทย ยังสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โรงงาน และสถานประกอบการในกัมพูชาอีกด้วย

โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย   

  1. การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกำลังการผลิตภายในประเทศทำให้กัมพูชาต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนเพื่อรองรับการแปรรูปของสินค้าและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีกับหลายประเทศ เช่น FTA กับเกาหลีใต้ และจีน รวมทั้งปลายปี 2566 กัมพูชาจะมีข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมทั้งยังมีกรอบ RCEP ดังนั้น ในอนาคตกัมพูชายังต้องการนำเข้าวัตถุดิบ และสินค้าต่างๆ จากจีน เวียดนาม ไทย เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยไทยเป็นประเทศอันดับที่ 3 รองจากเวียดนาม และจีนที่ส่งออกสินค้ามายังกัมพูชามากที่สุด บ่งบอกถึงศักยภาพทางด้านการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยที่มีนัยสำคัญ
  2.  เนื่องจากเวียดนามและไทยมีพรมแดนติดกับกัมพูชา และจีนเป็นประเทศแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งทำให้ได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ และการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง รวมทั้งปัจจุบันกัมพูชามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้ากับประเทศที่ติดชายแดน เช่น ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ พนมเปญ-บาเวต การก่อสร้างและขยายท่าเรือต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจ สามารถพิจารณาศึกษาตลาดกัมพูชาได้ เนื่องจากสินค้าไทยยังเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชา เนื่องจากมีคุณภาพและราคาที่สามารถจับต้องได้ เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ญีปุ่น และสภาพยุโรป ที่มีราคาค่อนข้างสูง

    —————————

    Phnom Penh Post

    กรกฎาคม 2566

    สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login