ศูนย์การพัฒนาอุตสาหกรรมและสารสนเทศจีน (China Center for Information Industry Development: CCID) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (Ministry of Industry and Information Technology: MIIT) ได้เปิดเผยข้อมูล Top 100 County Economy of China ประจำปี ค.ศ. 2023 หรือเศรษฐกิจระดับอำเภอ 100 อันดับแรกของจีน พบว่าจีนมีอำเภอ (County) ที่มีมูลค่า GDP สูงถึง 100,000 ล้านหยวน (500,000 ล้านบาท) ซึ่งอยู่ใน Top 100 อำเภอแรกของจีน มากถึง 54 แห่ง (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน Top 100 อำเภอแรกของจีนซึ่งจัดทำโดยศูนย์การพัฒนาอุตสาหกรรมและสารสนเทศจีน ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1) เป็นเมืองที่มีมูลค่า GDP มากกว่าหรือเท่ากับ 60,000 ล้านหยวน (300,000 ล้านบาท)
2) เป็นเมืองที่มีรายได้จากงบประมาณสาธารณะทั่วไป มากกว่าหรือเท่ากับ 2,000 ล้านหยวน (10,000 ล้านบาท)
3) ใช้ตัวชี้วัด 3 ระดับ ได้แก่ ตัวชี้วัดระดับ 1 ประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัด คือ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ศักยภาพการเติบโต ความมั่งคั่ง และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตัวชี้วัดระดับ 2 ประกอบด้วย 8 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดระดับ 3 ประกอบด้วย 27 ตัวชี้วัด
โดยเมื่อปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา พบว่าอำเภอที่ GDP มีมูลค่า 100,000 ล้านหยวน (500,000 ล้านบาท) จำนวน 54 แห่งนั้น มี GDP รวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 8.6 ล้านล้านหยวน (43 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1 ของเศรษฐกิจโดยรวมของจีน ซึ่งอำเภอที่ GDP มีมูลค่า 100,000 ล้านหยวน (500,000 ล้านบาท) เหล่านี้ มีรายได้จากงบประมาณสาธารณะทั่วไปเฉลี่ยสูงถึง 10,800 ล้านหยวน (54,000 ล้านบาท)
สำหรับปี ค.ศ. 2023 เมื่อพิจารณาจากมูลค่าของ GDP ในบรรดาอำเภอที่มี GDP มูลค่า 100,000 ล้านหยวน ทั้งหมด 54 แห่ง ใน Top 100 อำเภอแรกของจีนดังกล่าว พบว่าเป็นอำเภอที่อยู่ในมณฑลเจียงซู และเจ้อเจียงมากเป็นสองอันดับแรก ขณะที่อำเภอในมณฑลฝูเจี้ยน หูหนาน อันฮุย และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มีขนาดเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ส่วนอำเภอในมณฑลซานตง หูเป่ย และเสฉวน มีศักยภาพในการพัฒนาสูง และเมื่อพิจารณาจากระดับการพัฒนาของแต่ละอำเภอ พบว่าอำเภอที่อยู่ใน Top 100 อำเภอแรกของจีนมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ มียอดการค้าระหว่างประเทศ และยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับมณฑลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างกวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง และซานตง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากการขับเคลื่อนในการพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และความสามารถในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอำเภอ Top 100 พบว่าส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขั้นที่สองหรืออุตสาหกรรมทุติยภูมิ (อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การผลิต การก่อสร้าง ฯลฯ) นำหน้าเศรษฐกิจระดับมณฑลอย่างมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง และซานตง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากระดับความมั่งคั่ง และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของอำเภอ Top 100 พบว่า ความมั่งคั่งของอำเภอเหล่านี้มีสัดส่วนต่ำกว่ามณฑลที่พัฒนาแล้ว แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนในเขตเมือง และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนในชนบทมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง
เศรษฐกิจระดับอำเภอ หรือ County Economy เป็นพื้นที่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดชุมชนที่ต่ำกว่าระดับมณฑลและเมือง โดยมีการปกครองของรัฐบาลระดับอำเภอเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม มีการแบ่งเขตพื้นที่ตามลักษณะเด่นเฉพาะ และมีบริการขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันรูปแบบการพัฒนาของ Top 100 อำเภอแรกของจีน มี 3 รูปแบบ โดยอ้างอิงจากเศรษฐกิจระดับมณฑลเป็นต้นแบบในการพัฒนา ได้แก่
1) รูปแบบ Wolf Pack โดยมีมณฑลเจียงซู และเจ้อเจียง เป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจอำเภอ เนื่องจากทั้ง 2 มณฑลมีการพัฒนาที่ค่อนข้างสมดุล และมีการแข่งขันที่ค่อนข้างชัดเจน
2) รูปแบบ Flying Geese Pattern โดยมีมณฑลฝูเจี้ยน ซานตง หูเป่ย เสฉวน และหูหนาน เป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจอำเภอ เนื่องจากเป็นมณฑลที่มีศักยภาพในการเติบโต และมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3) รูปแบบ Lion King Mode โดยมีมณฑลกุ้ยโจว ซานซี เจียงซี เหอเป่ย และยูนนานเป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจอำเภอ เนื่องจากเป็นมณฑลระดับกลางที่มุ่งเน้นการฝึกอบรม และการสร้างแบบอย่าง เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจอำเภอที่มีคุณภาพสูงขึ้น
ปัจจุบัน อัตราความเป็นเมืองและอุตสาหกรรมบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของ GDP จีน โดยในปี ค.ศ. 2021 จีนมีประชากรที่อาศัยอยู่ถาวรในเขตเมืองจำนวน 910 ล้านคน ในที่นี้ มีประชากรที่อาศัยอยู่ถาวรในระดับอำเภอเมือง (County Town) จำนวน 1,472 แห่ง ถึง 160 ล้านคน และมีประชากรที่อาศัยอยู่ถาวรในระดับเมืองเทียบเท่าอำเภอ (County-level city) จำนวน 394 แห่ง ถึง 90 ล้านคน ซึ่งประชากรระดับอำเภอเมืองและเมืองเทียบเท่าอำเภอ มีจำนวนรวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของประชากรที่อาศัยอยู่ถาวรในเขตเมืองของจีน ซึ่งจำนวนอำเภอเมืองและเมืองเทียบเท่าอำเภอทั้งหมด 1,866 แห่งนี้ คิดเป็นจำนวนที่มากกว่าเมืองระดับมณฑล (Prefecture-level Municipality) (คือการปกครองระดับเมืองที่เล็กกว่ามณฑล แต่ใหญ่กว่าอำเภอ) และเทศบาลตำบล (Municipal district) ที่มีรวมกัน 967 แห่ง ถึง 2 เท่า โดยเศรษฐกิจอำเภอ หรือ County Economy ของจีนมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมสูงถึง 39.1 ล้านล้านหยวน (195.50 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ
ในปี ค.ศ. 2022 รัฐบาลจีนได้สร้างและปรับปรุงศูนย์บริการการค้าครบวงจรจำนวน 983 แห่ง และศูนย์การค้าตำบลจำนวน 3,941 แห่ง ซึ่งทำให้ตลาดนัด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อในตำบลจำนวนมากได้รับการปรับปรุงใหม่ให้สมบูรณ์มากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพให้สูงขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการ ส่งเสริมให้เกิดการย่านธุรกิจ คอมเพล็กซ์ โรงแรม ศูนย์ประชุมแสดงสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้นตามไปด้วย และคาดการณ์ว่าในอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจระดับอำเภอของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างความเป็นเมือง และมีอำเภอเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทั้งในด้านของการกำจัดจุดอ่อน และเพิ่มจุดแข็ง ทำให้เกิดเป็นเมืองที่มีจุดเด่นมากขึ้นทั้งในด้านของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น
จากการที่ปัจจุบันจีนมีเมืองระดับอำเภอเมือง (County Town) และเมืองเทียบเท่าอำเภอ (County-level city) รวมทั้งสิ้น 1,866 แห่ง และมูลค่าเศรษฐกิจของเมืองเหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ จึงถือได้ว่าเศรษฐกิจระดับอำเภอเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนและฐานอุตสาหกรรม เป็นฐานการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่สำคัญ ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับอำเภอหรือ County Economy ไม่เพียงแต่จะช่วยขยายจุดยุทธศาสตร์ของอุปสงค์ภายในประเทศและการไหลเวียนของเศรษฐกิจของจีนให้ราบรื่น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการฟื้นฟูชนบท และการพัฒนาไปสู่การรวมตัวของเมืองและชนบทที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย
สำนักงานกลางสภาแห่งรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Office of the State Council of the People’s Republic of China) ได้ประกาศแนวคิดเกี่ยวกับการนำเอาเมืองระดับอำเภอมาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความเป็นเมือง โดยเสนอให้กำหนดตำแหน่งหน้าที่ทางวิทยาศาสตร์และทิศทางการพัฒนาของอำเภอตามหมวดหมู่ เร่งพัฒนาอำเภอรอบๆ เมืองขนาดใหญ่ พัฒนาเมืองระดับอำเภอที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญอย่างเหมาะสม พัฒนาพื้นที่ทางนิเวศวิทยาที่สำคัญ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมืองที่มีประชากรน้อย เพื่อให้แต่ละอำเภอแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ของตนเองในอนาคต
เศรษฐกิจระดับอำเภอ หรือ County Economy กลายเป็นพื้นที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของจีน โดยการหยิบยกพื้นที่อำเภอมาเป็นตัวขับเคลื่อนความเป็นเมืองที่จะช่วยสร้างโอกาสที่สำคัญทั้งด้านการลงทุนและการบริโภค นอกจากนี้ย ความแตกต่างของแต่ละประเภทของเมืองยังจะช่วยสร้างความเป็นเมืองใหม่ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาของแต่ละภูมิภาคของจีนต่อไปด้วย
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ในบรรดา Top 100 County Economy of China ประจำปี ค.ศ. 2023 หรือเศรษฐกิจระดับอำเภอ 100 อันดับแรกของจีน พบว่ามณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และซานตง เป็นมณฑลที่มีเมืองระดับอำเภอติดอันดับ Top 100 มากที่สุด 3 อันดับแรก โดยเจียงซูมีมากที่สุด 23 เมือง เจ้อเจียงมี 16 เมือง และซานตงมี 13 เมือง ตามลำดับ จึงเป็นข้อสังเกตว่าเมืองระดับอำเภอที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีความมั่งคั่งจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก นอกจากนี้ เมืองระดับอำเภอของจีนยังเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบทที่สำคัญ ไม่เพียงแต่สร้างและสนับสนุนให้ประชากรจีนมีความปลอดภัย มีความสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังสร้างงานให้กับเกษตรกรกว่า 500 ล้านคน อีกด้วย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐของไทยสามารถนำเอาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจระดับอำเภอของจีนมาประยุกต์ใช้การพัฒนาเศราฐกิจในระดับอำเภอของไทยโดยดึงจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ออกมา และปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประประชาชนท้องถิ่น ส่วนในด้านการค้าการลงทุน ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาเมืองระดับอำเภอของจีน เพื่อการเจาะตลาด เจาะกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของแต่ละอำเภอ ทั้งนี้ เพื่อจะได้พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และขยายการส่งออกสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่เมืองระดับอำเภอซึ่งบางเมืองสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเมืองรองที่มีศักยภาพทางเรศรษฐกิจของจีน และมีความเจริญไม่แพ้เมืองขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคเริ่มอิ่มตัวแล้วได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตลาดส่งออกสินค้าและบริการไทยในตลาดจีนมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสเติบโตได้มากยิ่งขึ้น
https://www.chinairn.com/news/20230725/175650601.shtml
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)