หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ผู้ผลิตเคนยาเรียกร้องรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการค้าด่วน!! หลัง พรบ.การเงินใหม่ อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง และกลายเป็นชุปเปอร์มาร์เกตของแอฟริกาตะวันออก

ผู้ผลิตเคนยาเรียกร้องรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการค้าด่วน!! หลัง พรบ.การเงินใหม่ อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง และกลายเป็นชุปเปอร์มาร์เกตของแอฟริกาตะวันออก

พระราชบัญญัติการเงินปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งเกี่ยวกับค่าครองชีพในเคนยา ได้ผ่านรัฐสภาและมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตที่จะมีค่าครองชีพสูงขึ้น และต้นทุนทางการผลิตที่มากขึ้น ตลอดจนนำมาซึ่งผลกระทบทางการค้ากับประเทศสมาชิกของประชาคมแอฟริกาตะวันออก หรือ EAC ทำให้ทาง สมาคมผู้ผลิตของเคนยา (Kenya Association of Manufacturers) ต้องการคำชี้แจงหรือการทบทวนบางนโยบายจากรัฐบาลเคนยา ถึงการตัดสินใจในการกำหนดภาษีนำเข้าและส่งเสริมการส่งออกสินค้าอัตราใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เคนยาสูญเสียมูลค่าทางการค้ากับคู่ค้าในกลุ่มประเทศ EAC เช่น แทนซาเนีย ยูกานดา รวันดา เป็นต้น

ตามกฎหมายใหม่ ภาษีนำเข้าและส่งเสริมการส่งออกสินค้า (Export Development and Promotion Levy หรือ EIPL) นั้น กำหนดว่า สินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามายังเคนยาในกลุ่มสินค้าเพื่อการใช้ในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากเดิมร้อยละ ๑๐ เป็นร้อยละ ๑๗.๕ ของอัตราภาษีศุลกากร แต่ขณะที่สินค้าในกลุ่มเดียวกันที่เคนยาจะนำเข้ามาจากประเทศสมาชิก EAC ที่มีการผลิตที่เป็นไปตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ที่ตกลงกันจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าดังกล่าว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทันที คือการจัดเก็บภาษีนี้จะก่อให้เกิดความลังเลและอาจทำให้นักลงทุนหรือนักธูรกิจหันมาทำการค้ากับประเทศรอบข้างของเคนยามากขึ้น เนื่องจากจะมีต้นทุนการนำเข้าถูกกว่าที่จะผลิตสินค้าในเคนยา นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มประเทศ COMESA (Common Market for Eastern and Southern Africa คือ ตลาดร่วมแห่งแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ เป็นการรวมกลุ่มของ ๑๙ ประเทศที่มีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกัน) ในลักษณะเดียวกันด้วย

ในการปราศรัยต่อคณะกรรมการแผนการเงินและการวางแผนแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตของเคนยากล่าวว่า ยูกันดา และแทนซาเนียคือแหล่งนำเข้าสินค้าของเคนยาเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกันทางแทนซาเนียกำลังวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ในช่วงที่ผ่านมาการนำเข้าสินค้าจากแทนซาเนียของเคนยาเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก ๑๘ พันล้านเคนยาชิลลิ่ง เมื่อปี ๒๕๖๑ เพิ่มเป็น ๕๔ พันล้านเคนยาชิลลิ่งเมื่อปี ๒๕๖๕ ทั้งนี้ ข้อกำหนดบางส่วนในกฎหมาย EIPL นี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคการผลิตในบางภาคส่วนแต่กลับสร้างความกังวลต่อผู้ผลิตสินค้าบางประเภท อย่างเช่น ผู้ผลิตโลหะ เหล็ก กระดาษและกระดาษแข็ง และซีเมนต์ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดไว้ว่า การนำเข้าเหล็กและลวดเหล็กชุบสังกะสีจะถูกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ ๑๐ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่เรียกเก็บภาษีนี้ จึงมองว่าการเก็บภาษีนี้ควรนำมาใช้กับสินค้าสำเร็จรูป ไม่ใช่วัตถุดิบตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับใหม่นี้

พระราชบัญญัติการเงินปี ๒๕๖๖ ได้ทบทวนค่าธรรมเนียมการประกาศการนำเข้า (IDF) ร้อยละ ๑.๕ สำหรับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ขั้นกลางที่นำเข้า และเพิ่มเป็นร้อยละ ๒.๕ สำหรับผู้ผลิตทุกราย การทบทวนนี้จะเพิ่มต้นทุนการนำเข้าและราคาสินค้าที่จำเป็นในการผลิตต่อไป ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคที่กำลังประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว อย่างค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในเคนยามีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก ค่าไฟฟ้าเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการของเคนยายังคงสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค สิ่งนี้มีแนวน้าที่จะจูงใจให้มีการนำเข้าสินค้ามากกว่าการผลิตในประเทศ และอาจสูญเสียความน่าสนใจในฐานะแหล่งลงทุน จะทำให้การไหลเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศลดลง หรือ ค่าน้ำมันที่รัฐบาลมีนโยบายให้ปล่อยลอยตัวตามราคาในตลาดโลก ซ้ำยังเรียกเก็ฐภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 16 เพิ่มไปอีก ซึ่งหากมองแค่ปัจจัยของสินค้าแล้ว มีผลให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10-15% ทันที

 

ความเห็นของ สคต.

จากสถานะการเงินของรัฐบาลเคนยาที่กำลังมีปัญหาในการขาดดุลงบประมาณต้องเร่งหารายได้เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับรายจ่ายของรัฐบาลที่มีหนี้ต้องชำระกับผู้ให้กู้จำนวนมาก ทำให้รัฐบาลเคนยาต้องปรับปรุงภาษีต่างๆ ให้มีความสามารถเก็บได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนระบบภาษีและระเบียบด้านการเงินในครั้งนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้ค่าครองชีพที่ได้รับผลกระทบมากอยู่แล้ว กลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้ผลิตสินค้าต่างๆในเคนยา ต่างรอการชี้แจงจากรัฐบาลว่าจะออกมาให้คำอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร หรือจะมีมาตรการที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร หากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ความสามารถในการแข่งขันของเคนยาที่จะส่งสินค้าไปประเทศอื่นโดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ในอนาคต จะพบกับการแข่งขันที่มากขึ้นจากผู้ประกอบการจากประเทศอื่นที่มีต้นทุนในด้านวัตถุดิบและการเงินต่ำกว่าจนอาจกลายเป็นชุปเปอร์มาร์เกตของคนจากประเทศอื่น ซึงจะแย้งการพยายามให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นด้วย

สำหรับประเทศไทย การปรับเปลี่ยนเรื่องภาษีในด้านนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่า การต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดของการส่งออกจากไทยมาแอฟริกานั้น จะยิ่งยากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งจากนโยบายของภาครัฐที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสินค้านำเข้า และอัตราภาษีที่สูง และการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บในอัตราที่ต่างกันของประเทศในกลุ่มแอฟริกาและประเทศนอกกลุ่ม ทำให้เชื่อว่าในระยะยาวการทำตลาดส่งออกมาจะยิ่งมีความลำบากมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยควรหาแนวทางลดต้นทุนโดยอาจร่วมลงทุนในเคนยาหรือแอฟริกา เพื่อจะได้ไม่เสียภาษีในอัตราสูงในอนาคตต่อไป ซึ่ง สคต.จะได้ติดตามผลกระทบหรือท่าทีของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และรายงานให้ผู้สนใจทราบต่อไป

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

The EastAfrican

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login