หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเคนยามียอดส่งออกไปยังแอฟริกาตะวันออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39

ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเคนยามียอดส่งออกไปยังแอฟริกาตะวันออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39

ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของเคนยามียอดการส่งออกยานยนต์ใหม่ทั้งคัน ไปยังตลาดแอฟริกาตะวันออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4 ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยยอดสูงสุดอยู่ที่เดือนมิถุนายน 2566 แสดงถึงความต้องการรถบรรทุกและรถโดยสารเพิ่มขึ้นในตลาดข้างต้น อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เคนยา (Kenya Motor Vehicle Industry Association – KMIA) แสดงให้เห็นว่าบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ต่างๆ รวมถึง Scania East Africa และ Isuzu East Africa มียอดจำหน่ายทั้งหมด 191 คัน ออกสู่ตลาดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจาก 138 คัน ตามรายงานปี 2565  โดยแบ่งเป็นการส่งออกไปยังประเทศแทนซาเนียจำนวน 132 คัน และประเทศยูกันดาจำนวน 59 คัน

ยานยนต์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกเพื่อการขนส่งและรถโดยสาร สัดส่วนของยานยนต์ที่ประกอบในประเทศคิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณการส่งออกของรถยนต์ที่มีการส่งออกไปในตลาดข้างต้นในช่วงครึ่งปี 2566 ทั้งนี้รถบรรทุกภายใต้แบรนด์ Scania รุ่น P360 เป็นรุ่นที่มียอดขายส่งออกสูงสุดถึง 67 คัน ตามมาด้วยรถบัสโดยสารของ Isuzu รุ่น FVRS จำนวน 28 คัน โดยมีการคาดการณ์ว่า ยานพาหนะที่ประกอบในประเทศเคนยาจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาขายเมื่อเทียบกับการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอีกเหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้ยานยนต์ที่ประกอบในประเทศมีจำนวนการส่งออกเพิ่มมากขึ้น คือการที่รัฐบาลเคนยาประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ายานพาหนะทั้งคัน เป็นร้อยละ 35 จากเดิมร้อยละ 25 ซึ่งแน่นอนว่า การเพิ่มอัตราภาษีดดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราภาษีของสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ส่งผลให้รถยนต์นำเข้ามีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย โดยยานพาหนะที่ประกอบแล้วทั้งคันจากตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ หรือแม้กระทั่ง ไทยนอกจากจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต โดยมีอัตราเรียกเก็บระหว่างร้อยละ 25 ถึง ร้อยละ 35 ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์ และยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกร้อยละ 16 อีกด้วย

ขณะที่รถยนต์ที่ได้ประกอบชิ้นส่วนยานพาหนะที่ประกอบในประเทศนั้น จะส่งตรงไปยังโรงงานประกอบโดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ทำให้ได้เปรียบด้านราคาตามนโยบายที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ในเคนยานั่นเอง ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการกล่าวว่า แม้ปัจจุบันโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ในเคนยายังมีกำลังการผลิตต่ำ แต่จะสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต

ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกมีความต้องการสินค้าประเภทยานยนต์ ยานพาหนะต่างๆ เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามการนำเข้ารถยนต์มือสองนั้น ยังมีความต้องมากกว่ารถยนต์ใหม่ และการกำหนดอายุยาพาหนะมือสองที่สามารถนำเข้าได้ให้มีจำนวนปีที่ใช้แล้วมากขึ้น อายุการใช้งานไม่เกิน 2-8 ปีของเคนยานั้น เป็นการจำกัดโอกาสสำหรับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นำเข้าให้มีโอกาสน้อยลงในอนาคต ตามเหตุที่กล่าวมาข้างต้นได้ในอนาคต

ความเห็นของ สคต.

การที่อุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์มีแนวโน้มส่งออกรถยนต์ในกลุ่มประเทศแอฟริกามากขึ้นนั้น ส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจที่เข้ามาลงทุนด้านการประกอบรถยนต์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี เคนยามีกำลังการผลิตรถยนต์ต่อปี น้อยมากคือ มีจำนวนประมาณ 20,000 คันต่อปีเท่านั้น และยังต้องพัฒนาด้านการผลิตและการตลาดอีกมาก ประกอบกับชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ในส่วนของไทยนั้น แนวโน้มดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อการขยายตัวของการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยมายังเคนยาให้ขยายตัวตามไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบรถยนต์ เช่น ISUZU ต่างมีความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันหากรถยนต์ที่มีการประกอบในประเทศเคนยาได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต อาจส่งผลต่อตลาดรถมือสองที่มีแนวโน้มอาจจะลดลงในระยะยาว ซึ่งก็จะทำให้การส่งออกอะไหล่รถยนต์ของไทยได้รับผลกระทบมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจาก รถยนต์ที่ประกอบในประเทศมีต้นทุนที่ลดลงดังกล่าวข้างต้น ทั้งจากการสนับสนุนด้านภาษีของรัฐบาลเคนยา และการเพิ่มภาษีนำเข้าของรถยนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้ง รถยนต์ใหม่ และรถยนต์มือสอง ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป อย่างไรนั้น แนวโน้มโดยรวมก็ยังน่าจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกของไทยมาเคนยาเพราะจะสามารถส่งออกสินค้ามาได้มากขึ้นไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ตาม

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

ที่มา : The EastAfrican

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login