หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > โรมาเนียเปิดสนามบินเมือง Brasov ในแคว้น Transylvania ไฟล์ทบินพาณิชย์วันแรกคึกคัก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นจุดดึงดูดใหม่การท่องเที่ยว

โรมาเนียเปิดสนามบินเมือง Brasov ในแคว้น Transylvania ไฟล์ทบินพาณิชย์วันแรกคึกคัก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นจุดดึงดูดใหม่การท่องเที่ยว

 ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 12-16 มิถุนายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Ana-Maria Antonenco @ Pexels

 

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศโรมาเนีย (Romanian Civil Aeronautical Authority) เปิดใช้งานสนามบินเมืองบราชอฟ (Brașov) ในภูมิภาคทรานซิลเวเนีย (Transylvania) ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศอย่างเป็นทางการ โดยมีเที่ยวบินปฐมฤกษ์เป็นเที่ยวบินจากกรุงบูคาเรสต์สู่เมืองบราชอฟของสายการบิน TAROM ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติโรมาเนีย ได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายรายเป็นผู้โดยสารกิตติมศักดิ์ในเที่ยวบินนี้ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี นาย Nicolae Ciuca ประธานสภามณฑลบราชอฟ นาย Adrian Vestea ประธานสภาแคว้น Covasna นาย Sándor Tamás และนายกเทศมนตรีเมือง Sfântu Gheorghe ในแคว้นทรานซิลเวเนีย นาย Árpád Antal เป็นต้น

 

สนามบินเมืองบราชอฟเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ล่าสุดของประเทศ ตั้งอยู่ ณ เมืองกิมบัฟ (Ghimbav) ห่างจากเมืองบราชอฟ 9 กิโลเมตร เพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากเริ่มวางแผนก่อสร้างเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว นับเป็นสนามบินลำดับที่ 17 ของโรมาเนีย มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 รองจากสนามบินกรุงบูคาเรสต์ และสนามบินเมืองคลูจ-นาโปซ่า (Cluj-Napoca) ซึ่งเป็นเมืองหลักของภูมิภาคทรานซิลเวเนีย ใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้าง 140 ล้านยูโร (ประมาณ 5,292 ล้านบาท)

 

ความโดดเด่นของสนามบินเมืองบราชอฟ คืออาคารผู้โดยสารมีขนาดพื้นที่ 11,780 ตารางเมตร มีรันเวย์ความยาว 2.8 กิโลเมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อีกทั้ง คณะผู้บริหารตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาสนามบินเมืองบราชอฟให้เป็นสนามบิน Smart & Green Airport อย่างแท้จริง ผ่านการใช้เทคโนโลยีการเดินอากาศใหม่ล่าสุด เช่น ระบบควบคุมจราจรทางอากาศในเขตสนามบินระยะไกลโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Remote Virtual Tower Control System) ที่เชื่อมกับศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศ ณ สนามบินเมืองอาราด (Arad) นับเป็นสนามบินแห่งแรกๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันกลางและตะวันออกที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ คณะผู้บริหารยังให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficient) เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าในระบบกริดเพื่อใช้เองในสนามบินอีกด้วย

 

Brasov Airport
Brasov Airport

รูปภาพที่ 1: สนามบินเมืองบราชอฟ
ที่มาของรูปภาพ: Popp & Asociatii

 

สายการบินที่ประกาศเส้นทางบินไป-กลับ จากสนามบินเมืองบราชอฟในปีนี้ ได้แก่

  1. สายการบิน Aegean Airlines สัญชาติกรีซ ให้บริการเที่ยวบินตรงจากเมืองบราชอฟสู่เมืองเฮราคลีออน ประเทศกรีซ ในช่วงตารางบินฤดูร้อนปีนี้
  2. สายการบิน Animawings สัญชาติโรมาเนีย และสายการบิน HiSky สัญชาติโรมาเนีย-มอลโดวา ให้บริการเที่ยวบินตรงจากเมืองบราชอฟสู่เมืองอันตัลยา ประเทศตุรกี ในช่วงตารางบินฤดูร้อนปีนี้
  3. สายการบิน Wizz Air สัญชาติฮังการี เริ่มชิมลางเปิดเที่ยวบินตรงจากเมืองบราชอฟไปยังกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ความถี่เที่ยวบิน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และเมืองดอร์ทมุนด์ ประเทศเยอรมนี ความถี่เที่ยวบิน 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป
    ทั้งนี้ แม้จะไม่ได้อยู่ในแผนเริ่มต้น ทว่าผู้บริหารสนามบินเมืองบราชอฟกำลังเจรจาหารือกับผู้บริหารสนามบินกรุงบูดาเปสต์ถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินบูดาเปสต์-บราชอฟ เนื่องจากในภูมิภาคทรานซิลเวเนียมีผู้ที่ใช้ภาษาฮังกาเรียนเป็นภาษาแม่หลักล้านคน จึงมีความต้องการเดินทางและค้าขายระหว่างโรมาเนียและฮังการีตลอดเวลา
  4. สายการบิน Dan Air สัญชาติโรมาเนีย เตรียมเปิดเที่ยวบินตรงจากเมืองบราชอฟสู่หลายจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั่วยุโรป เช่น กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นครมิลาน ประเทศอิตาลี นครบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน รวมถึงกรุงเบอร์ลิน นครมิวนิก เมืองนูเรมเบิร์ก และเมืองชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี ภายในเดือนมิถุนายนนี้

 

Romania geographical map
Romania geographical map

รูปภาพที่ 2: แผนที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของโรมาเนีย และประเทศเพื่อนบ้านของโรมาเนีย
ที่มาของรูปภาพ: World Trade Atlas

 

ด้านการเชื่อมต่อกับระบบคมนาคม สนามบินเมืองบราชอฟตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงโรมาเนียหมายเลข A3 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ เมื่อแล้วเสร็จ จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางตรงจากกรุงบูคาเรสต์ทางภาคใต้ ผ่านภูมิภาคทรานซิลเวเนีย ไปยังชายแดนโรมาเนีย-ฮังการีและเข้าเส้นทางทางหลวงฮังการีหมายเลข M4 ได้

 

นอกจากรถยนต์ส่วนบุคคลแล้ว ผู้โดยสารสามารถเดินทางจากใจกลางเมืองบราชอฟไปยังสนามบินโดยใช้รถโดยสาร Airport Shuttle Bus สาย A1 ซึ่งในปัจจุบันให้บริการวันละ 13 เที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15-20 นาที ตามกำหนดเวลาเดินทางของเที่ยวบินในปัจจุบัน โดยรองนายกเทศมนตรีเมืองบราชอฟเปิดเผยว่า จะพิจารณาขยายความถี่การเดินรถเมื่อมีเที่ยวบินมาลงที่สนามบินเมืองบราชอฟมากขึ้น นอกจากนี้ การรถไฟโรมาเนียกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรางรถไฟจากสถานีรถไฟกลางเมืองบราชอฟสู่สนามบิน ความยาว 8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรางรถไฟ และปรับปรุงระบบการเดินรถไฟอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านยูโร (ประมาณ 11,343 ล้านบาท) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 150 ล้านยูโร (ประมาณ 5,670 ล้านบาท) จากรัฐบาลโรมาเนีย

 

ด้านแผนการพัฒนาสนามบินในอนาคต ผู้บริหารสนามบิน เปิดเผยว่า คาดว่าในปีแรก จะมีจำนวนผู้โดยสารราว 3 แสนคน และตั้งเป้าหมายว่าจำนวนผู้โดยสารที่ใช้งานสนามบินจะถึง 1 ล้านคนภายใน 3 ปีข้างหน้า และวางแผนการก่อสร้างเฟสที่สองครอบคลุมการสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่สองในช่วงปี 2570-2576

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

เมืองบราชอฟเป็นเมืองที่มีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจและการค้าขายสูง มีจำนวนประชากรประมาณ 380,000 คน และมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งอุทยานแห่งชาติและสถาปัตยกรรมในเมืองที่สวยงาม ทำให้เมืองบราชอฟเป็นที่สนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญส่งผลให้เมืองฯ มีแนวโน้มการเติบโต อาทิ

  1. ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการผลิต: เมืองบราชอฟเป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง อันเป็นการสร้างโอกาสในการจ้างงานสำหรับประชาชนในท้องถิ่น ตัวอย่างบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีฐานการผลิตและสำนักงานที่เมืองบราชอฟและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ Miele จากเยอรมนี, ศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัทเทคโนโลยี Siemens และสำนักงานและโกดังของบริษัท Lödige Industries ผู้ให้บริการโซลูชันทางโลจิสติกส์สำหรับคลังสินค้า เป็นต้น
  2. ภาคบริการ: เมืองบราชอฟมีศักยภาพในด้านการเงิน การประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ และการค้าปลีก นอกจากนี้ เมืองบราชอฟยังมีห้างสรรพสินค้า และ Business Park หลายแห่ง ส่งผลดีต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ กระตุ้นกิจกรรมของนักลงทุนและผู้ประกอบการ รวมทั้ง ช่วยให้ประชาชนในเมืองมีรายได้
  3. การศึกษาและการวิจัย: เมืองบราชอฟเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการวิจัยที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของประเทศ เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาระดับนานาชาติ เช่น มหาวิทยาลัย Transilvania University of Brașov ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของเมืองบราชอฟ นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัย “George Baritiu” University of Brașov โรงเรียน Ioan Meșotă National College โรงเรียน Grigore Moisil National College of Computer Science เป็นต้น สถาบันเหล่านี้ช่วยสร้างทุนทางปัญญา ส่งเสริมโอกาสในการจ้างงาน สนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น อีกทั้ง ช่วยพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering & Mathematics – STEM) ที่เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการผลิต
  4. การขนส่งและโลจิสติกส์: เมืองบราชอฟเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคทรานซิลเวเนีย เป็นทางผ่านของระเบียงคมนาคมยุโรปเส้นทางแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ (Rhine-Danube Corridor หรือ TEN-T Corridor VII) ประกอบด้วย ประเทศเยอรมนี ออสเตรีย สโลวาเกีย ฮังการี และโรมาเนีย อีกทั้ง มีเครือข่ายถนนและรถไฟที่พัฒนาอย่างดี ปัจจัยเหล่านี้เอื้อต่อการค้า และการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในสหภาพยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน
  5. ศักยภาพด้านการท่องเที่ยว: นอกจากสถาปัตยกรรมยุคกลางในเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางจากเมืองบราชอฟไปเมืองข้างเคียง เช่น เมืองซิเนีย (Sinaia) อันเป็นที่ตั้งของปราสาทเปเลช (Peleș Castle) ที่มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนซองซ์ และเมืองบราน (Bran) อันเป็นที่ตั้งของปราสาทบราน (Bran Castle) ก่อสร้างด้วยศิลปะยุคกลาง เคยเป็นของเจ้าผู้ครองภูมิภาควัลลาเคีย (Wallachia) ในอดีต หรือที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักกันในนาม “ปราสาทแดรกคูล่า” จากนิยายและภาพยนตร์ชื่อดัง

 

Peles Castle, Romania
Peles Castle, Romania

รูปภาพที่ 3 : ปราสาท Peleș
ที่มาของรูปภาพ: Mika @ Pexels

 

Bran Castle, Romania

รูปภาพที่ 4: ปราสาท Bran
ที่มาของข้อมูล: Iulian Patrascu @ Pexels

 

Rhine-Danube Corridor / TEN-T Corridor VII
Rhine-Danube Corridor / TEN-T Corridor VII

รูปภาพที่ 5: ระเบียงคมนาคมยุโรปเส้นทางแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ (Rhine-Danube Corridor หรือ TEN-T Corridor VII)
ที่มาของรูปภาพ: European Commission – Directorate General for Mobility and Transport

 

 

โรมาเนียตั้งเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์นานาชาติแห่งใหม่ในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกส่วนที่ติดกับทะเลดำ มีศักยภาพในการอำนวยความสะดวกด้านการค้ากับภูมิภาคยุโรปตะวันออกและคอเคซัสใต้ (ตุรกี จอร์เจีย อาร์มีเนีย อาเซอร์ไบจาน) อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนอื่นๆ เช่น ระบบโครงข่ายถนนและเส้นทางรถไฟ ยังต้องพัฒนาอยู่อีกมาก  โรมาเนียจึงกำลังเร่งก่อสร้างทางด่วนเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวเหนือ-ใต้หรือตะวันออก-ตะวันตก โดยเฉพาะโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่จะตัดผ่านเทือกเขาที่ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทางเหนือของประเทศลงมาทางตอนกลางและตะวันตก กั้นภูมิภาคทรานซิลเวเนียออกจากภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ ปัจจัยนี้จึงทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้า/บริการต่างๆ ข้ามเมืองยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะจากกรุงบูคาเรสต์ ไปยังภูมิภาคทรานซิลเวเนีย นอกจากนี้ เนื่องจากภูมิประเทศภายในประเทศโรมาเนียเป็นเทือกเขาสลับหุบเขา เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมทางบกมายาวนาน จึงทำให้การพัฒนาด้านการบินมีความสำคัญมากขึ้น

 

ส่วนประโยชน์ด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยว เมื่อเปิดใช้สนามบินเมืองบราชอฟเต็มรูปแบบแล้ว จะทำให้เมืองบราชอฟและภูมิภาคทรานซิลเวเนียเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะการเดินทางสะดวกมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการสัญจรของพลเมือง EU และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ากรุงบูคาเรสต์ หรือบินไปลงสนามบินอื่นๆ แล้วเดินทางทางบกต่อเข้ามาเมืองบราชอฟ อีกทั้ง จะช่วยลดช่องว่างของโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภูมิภาคยุโรปกลาง-ตะวันออกกับยุโรปตะวันตก

 

ปัจจุบัน โรมาเนียกับไทยยังคงไม่มีเที่ยวบินตรงสู่กันและกัน นับเป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เนื่องจากผู้ที่ประสงค์จะเดินทางจากไทยไปโรมาเนีย และจากโรมาเนียไปไทย หรือแม้แต่ส่งออก/นำเข้าสินค้าจากแต่ละฝ่าย ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากกว่าการเดินทาง/ขนส่งสินค้าไปยังประเทศที่มีระบบการคมนาคมที่พัฒนาพร้อมแล้ว สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงเห็นว่าการที่รัฐบาลโรมาเนียลงทุนเพิ่มฐานการบินใหม่ในประเทศนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับนักธุรกิจไทย เพราะการพัฒนาการศักยภาพการขนส่งของโรมาเนียที่จะช่วยร่นระยะเวลาขนส่งสินค้าทางอากาศจากทวีปเอเชียได้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการสำรวจตลาดในโรมาเนีย มีช่องทางการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้า/บริการที่สำคัญในภูมิภาค และพบปะผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการขนส่งสินค้าในท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอาหารทะเล อัญมณี และผักผลไม้ที่มีอายุบนชั้นวาง (Shelf Life) จำกัด ที่เป็นที่ต้องการของตลาดโรมาเนีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องการเดินทางจากเมืองหลักในภูมิภาคยุโรปตะวันตกไปเที่ยวภูมิภาคทรานซิลเวเนียก็จะสามารถเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางผ่านสนามบินกรุงบูคาเรสต์

 

ปัจจุบัน โรมาเนียเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จึงได้สิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรและตลาดร่วมของสหภาพฯ ฉะนั้น การส่งออกสินค้าไปโรมาเนียและเข้าตลาดโรมาเนียจะช่วยปูทางให้การเข้าตลาดประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปสะดวกยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม โรมาเนียยังไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น (Schengen Area) ทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินทางข้ามชายแดน เพื่อขนย้ายสินค้า การพัฒนาภาคบริการ การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต รัฐบาลโรมาเนียจึงผลักดันให้วาระการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสหภาพยุโรป[1] อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยฉันทามติจากประเทศสมาชิกทุกประเทศ ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์จะติดตามการพิจารณารับสมาชิกเขตเชงเก้น (โรมาเนียและบัลแกเรีย) อย่างใกล้ชิด และรายงานความเคลื่อนไหวให้ทราบต่อไป

 

ที่มาของข้อมูล:

  1. “Wizz Air to begin operation at brand new airport this year” – Daily News Hungary (Website), Retrieved from: Link
  2. “Central Romania Brasov introduces first bus service to the new airport” – MSN (Website), Retrieved from: Link
  3. “Romania to inaugurate EUR 140mn airport” – Central European Times (Website), Retrieved from: Link
  4. “Brasov, Romania, launches first bus service to new airport” – Romania Insider (Website), Retrieved from: Link
  5. “Romania’s Brasov completes construction of new airport” – Seenews (Website), Retrieved from: Link
  6. “Wizz Air to launch flights to London, Dortmund from Romania’s Brasov” – Seenews (Website), Retrieved from: Link
  7. “Dan Air, the Romanian airline, launches regular flights departing from Bucharest and Brasov” – Romanian Business Journal (Website), Retrieved from: Link
  8. “Romanian airline Dan Air to launch flights to Brussels from Bucharest and from the new airport in Brasov” – Aviation Business (Website), Retrieved from: Link
  9. Aeronews Global (Twitter), Retrieved from: Link
  10. “Brasov Airport gets Romania’s first virtual air traffic tower” – Romania Insider (Website), Retrieved from: Link
  11. “Gov’t okays connection of Brasov airport to railway” – Romania Insider (Website), Retrieved from: Link
  12. “The second edition of the Smart Airport Cities conference took place in Ghimbav on Europe Day” – SmartCity Brasov (Website), Retrieved from: Link
  13. “The first airport built in Romania in the last five decades was inaugurated in Brasov” – Moldova1 (Website), Retrieved from: Link

 

 

[1] ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาตรการยุติธรรมและกิจการภายใน (Justice and Home Affairs Council) จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ พร้อมทั้งกรรมาธิการยุโรป (European Commissioner) ด้านกิจการภายใน งานยุติธรรม และการส่งเสริมความเท่าเทียม จำนวน 3 คน

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login